April 20 2024 13:14:15
เมนู
หน้าแรก
ใบคำร้องฯ
ผลสอบ ๒๕๔๓-๖๖
ขอบข่ายธรรมศึกษา ๒๕๖๔
ขอบข่ายธรรมศึกษา ๒๕๖๑
หนังสือหลักสูตรชั้นตรี ประถม
หนังสือหลักสูตรชั้นตรี มัธยม
หนังสือหลักสูตรชั้นตรี อุดม
ทดสอบสอบความรู้จากข้อสอบธรรมศึกษา 2543-2562
eLearning ธรรมศึกษา
วีดิโอสอนธรรมศึกษา
ระเบียบการจัดสอบ ๒๕๖๐
กระดาษเขียนกระทู้ธรรม ธศ.
สมุดลงนามฯ (สมุดเยี่ยม)
คำปราศรัยฯ ธรรมศึกษา
ใบปิดหน้าซองบรรจุคำตอบ
บัญชีบรรจุใบตอบปรนัย
ทะเบียนพัสดุหลังสอบ น.ธ.
ทะเบียนพัสดุหลังสอบ ธ.ศ.
ใบตอบธรรมศึกษาแบบฝน (แบบใหม่ ๒๕๖๑)
วิธีระบายเลขที่สอบ (ธรรมศึกษา)
นักธรรม (ฟอร์มแจ้งสถิติ)
นักธรรม (ฟอร์มขอแก้ไข)
ธรรมศึกษา (ฟอร์มแจ้งสถิติ)
ธรรมศึกษา (ฟอร์มขอแก้ไข)
ดาวน์โหลด
ปัญหา-เฉลย นักธรรม ๖๔
ปัญหา-เฉลย น.ธ.-ธ.ศ. ๖๕
สถิติสอบธรรม ๒๕๖๒
อันดับสำนักเรียนสอบได้มาก

ประวัตินักธรรม
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
ทำเนียบแม่กองธรรม
ทำเนียบผู้บริหารปัจจุบัน
แม่กองธรรมสนามหลวง
เจ้าหน้าที่สำนักงาน
หนังสือประกอบหลักสูตร
ปรับปรุงหลักสูตรธรรมศึกษา
ระเบียบปฏิบัติทั่วไป
กฏกระทรวง พ.ศ.๒๕๔๘

การขอใบรับรอง

ห้องแสดงภาพ
ห้องสนทนา
บทความ
เว็บลิงค์
คำถามยอดนิยม
ค้นหา

ส่งบทความ
ปฏิทินกิจกรรม

วิดีโอแกลอรี่
เพิ่มวิดีโอ
วีดีทัศน์เกี่ยวกับสอบธรรม 2553
ผู้มีสิทธิสอบ
ฝ่ายธุรการ
รายชื่อรัฐของสหรัฐอเมริกา
ติดต่อสำนักเรียน
จศป.ครูธรรม
ติดต่อสำนักเรียน
ทั่วประเทศ
ส่วนกลาง
ส่วนภูมิภาค (ม)
ส่วนภูมิภาค (ธ)

เจ้าคณะตำบล-อำเภอ-จังหวัด
วัดทั่วประเทศ
สถานศึกษาทั่วประเทศ

สนามสอบทั่วประเทศ
สนามสอบนักธรรม ส่วนกลาง
ระเบียบปฏิบัติ
MOU ธรรมศึกษา
คำปราศรัยฯ น.ธ.ตรี
คำปราศรัยฯ น.ธ.โท-เอก
คำปราศรัยฯ ธรรมศึกษา
ใบปิดหน้าซองบรรจุคำตอบ

ใบตอบธรรมศึกษาแบบฝน
คำอธิบายการฝนใบคำตอบ

ระเบียบการจัดสอบ
กำหนดวันสอบ ๒๕๖๖
ระเบียบฯ ส่วนภูมิภาค ๒๕๖๖
ระเบียบฯ ส่วนกลาง ๒๕๖๖
ระเบียบฯ ส่วนกลาง ภาคผนวก ๒๕๖๖
เล่มสนามสอบ สมัยที่ ๒

วิธีการตรวจข้อสอบนักธรรม
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
สนามหลวง แผนกบาลี
ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย
ม.มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
กระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงวัฒนธรรม
กรมการศาสนา
หัวข้อแนะนำ
พระมหาสมณเจ้าฯ

งานฉลอง ๙๗ พระชันษา

ดูสถิติการเข้าชมเว็บของคุณ
Youtube Gallery
   วิดีโอทั้งหมด (11)
   พระประวัติ และ ประวัติ (3)
   การศึกษาของสงฆ์ไทย (1)
   พิธีเปิดสอบธรรม พ.ศ. 2553 (0)
   คู่มือ-เทคนิค-วิธีการ (7)
วิดีโอล่าสุด
video

video

สนง.พระพุทธศาสนาฯ



ชวนเพื่อนมาชมเว็บนี้

อีเมล์คุณ:
ส่งถึงเพื่อน:
คัดลอกสำเนา?
ตำนานการสอบพระปริยัติธรรม
ตำนานการสอบพระปริยัติธรรม


อธิบายเรื่องการสอบพระปริยัติธรรม

การศึกษาของพระภิกษุสามเณรกำหนดเห็น ๒ อย่างมาแต่ครั้งพุทธกาล เรียกว่า คันธุระ คือ ศึกษาพระธรรมวินับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ขึ้นปากเจนใจอย่าง ๑ เรียกว่า วิปัสสนาธุระ คือ เรียนวิธีฝึกหัดของตนเองให้ปราศจากกิเลสอย่าง ๑ ครั้นพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสงฆ์พุทธสาวกจึงประชุมกันทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสสั่งสอน กำหนดว่ามีจำนวน ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จัดไว้เป็น ๓ หมวด คือพระสูตรหมวด ๑ พระวินัยหมวด ๑ พระปรมัตถ์หมวด ๑ เรียกรวมกันว่า พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นตำราของพระพุทธศาสนาสืบมา

พระไตรปิฎกนั้นเป็นภาษาบาลีมาแต่เดิม เพราะเหตุที่ภาษาบาลีเป็นภาษาของชาวมัชฌิมประเทศที่พระสงฆ์พุทธสาวกทำสังคายนา ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปถึงนานประเทศที่ใช้ภาษาอื่น ชาวประเทศนั้นๆ ไม่รู้ภาษาบาลีเรียนพระไตรปิฎกลำบาก จึงเกิดความคิดขึ้นต่างกันประเทศทางข้างเหนือมีธิเบตและจีนเป็นต้น แปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีไปเป็นภาษาของตนโดยประสงค์จะให้เล่าเรียนรู้ได้ง่าย จะได้มีคนเลื่อมใสศรัทธามาก ครั้นพระไตรปิฎกเดิมไม่มีใครเล่าเรียนก็เลยสูญ สิ้นหลักที่จะสอบสวนพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้ ลัทธิพระศาสนาในประเทศฝ่ายเหนือเหล่านั้นก็ผันแปรวิปลาสไป

แต่ส่วนประเทศข้างใต้ มีลังกาทวีปเป็นต้น ตลอดจนประเทศพม่า มอญ ไทย ลาว และเขมร เหล่านี้ คิดเห็นมาแต่เดิมว่า ถ้าแปลพระไตรปิฎกไปเป็นภาษาอื่นทิ้งของเดิมเสียแล้ว พระธรรมวินัยก็คงคลาดเคลื่อน จึงรักษาพระไตรปิฎกไว้ในภาษาบาลี การเล่าเรียนคันธุระ อุสาหะเรียนภาษาบาลีให้เข้าใจเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงเรียนพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกต่อไป อาศัยวิธีนี้ ประเทศที่ถือพระพุทธศาสนาข้างฝ่ายใต้จึงสามารถรักษาลัทธิของพระพุทธสาวกยั่งยืนสืบมาได้ นำเรื่องเบื้องต้นมากล่าวพอให้แลเห็น ว่าเหตุใดพระภิกษุสามเณรเล่าเรียนพระปริยัติจึงต้องเรียนภาษาบาลี

แท้จริงการเรียนภาษาบาลีเป็นข้อสำคัญสำหรับสืบอายุพระพุทธศาสนา เพราะถ้าไม่มีผู้รู้บาลี ก็จะไม่มีผู้ใดสามารถล่วงรู้พระพุทธวัจนะในพระไตรปิฎก ถ้าสิ้นความรู้พระไตรปิฎกเสียแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะต้องเสื่อมทรามสูญไป เพราะเหตุนี้ พระรามาธิบดีผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภกตั้งแต่โบราณมา จึงทรงทำนุบำรุงการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรที่เรียนรู้ให้มีฐานันดร พระราชทานราชูปการต่างๆ มีนิตยภัตรเป็นต้น จึงเกิดมีวิธีสอบพระปริยัติธรรม เพื่อจะให้ปรากฏว่าพระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้เพียงใด เมื่อปรากฏว่ารูปใดรอบรู้ถึงที่กำหนด สมเด็จพระรามาธิบดีทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรรูปนั้นให้เป็นมหาบาเรียน ครั้นพรรษาอายุถึงเถรภูมิ ก็ทรงตั้งให้มีสมณศักดิ์ในสังฆมณฑลตามสมควรแก่คุณธรรมและความรอบรู้ เป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนพระปริยัติธรรมสืบๆ กันมาจนกาลบัดนี้

เพราะการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเป็นการเรียนทั้งภาษาบาลี และคัมภีร์พระไตรปิฎกด้วยเหตุดังแสดงมา การสอบความรู้พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม จึงสอบทั้งความรู้ภาษาบาลี และความรู้คัมภีร์พระไตรปิฎกด้วยกัน คือให้นักเรียนที่เข้าสอบความรู้ อ่านคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลีแปลเป็นภาษาไทยให้ถูกอภิธานและทางไวยากรณ์ภาษาบาลี และรู้ความในคัมภีร์พระไตรปิฎกนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกกันเป็นสามัญว่า “แปลหนังสือ” หรือ “แปลพระปริยัติธรรม” มีหลักสูตรตั้งไว้ แต่โบราณกำหนดเป็น ๙ ประโยค คือ

ประโยคที่ ๑ ประโยคที่ ๒ ประโยคที่ ๓ สอบคัมภีร์พระธรรมบท ต้องสอบได้ในคราวเดียวทั้ง ๓ ประโยค จึงนับว่าเป็นเปรียญชั้นจัตวา หรือเปรียญสามัญ

ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนีบั้นต้น สอบได้นับเป็นเปรียญตรี เปรียญชั้นสูงนับแต่ประโยค ๔ นี้เป็นต้นไป

ประโยคที่ ๕ ได้ยินว่า เดิมสอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยวินิจฉัยสังคหะ เรียกกันโดยย่อว่า บาลีมุต ต่อมาเปลี่ยนเป็นสอบคัมถีร์สารัตถสังคหะ ครั้นภายหลังกลับสอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยฯ อีก สอบได้นับเป็นเปรียญโท

ประโยคที่ ๖ สอบมังคลัตทีปนีบั้นปลาย สอบได้คงนับเปรียญโทอยู่เหมือนเปรียญ ๕ ประโยค เพราะฉะนั้นพวกนักเรียนจึงกล่าวว่าเป็นประโยคแปลบูชาพระ

ประโยคที่ ๗ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสาทิกา ที่เรียกกันโดยย่อว่า สามน สอบได้เป็น เปรียญเอก ส หมายความว่าชั้นเอกสามัญ
ประโยคที่ ๘ สอบคัมภีร์วิสุทธิมรรค สอบได้นับเป็น เปรียญเอก ม หมายความว่าชั้นเอกมัชฌิมา

ประโยคที่ ๙ เดิมสอบคัมภีร์สารัตถทีปนี ภายหลังเปลี่ยนเป็นคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ สอบได้นับเป็น เปรียญเอก อุ หมายความว่าชั้นเอกอุดม

ยังมีหลักสูตรสำหรับสอบเปรียญมอญอีกอย่างหนึ่ง จะอนุโลมตามหลักสูตรซึ่งมีในรามัญประเทศแต่โบราณ หรือมากำหนดขึ้นใหม่ในประเทศนี้ ข้อนี้หาทราบไม่ กำหนดโดยนิยมว่าพระมอญนั้นศึกษาพระวินัยเป็นสำคัญ จึงสอบแต่คัมภีร์พระวินัยปิฎก เดิมกำหนดเป็น ๓ ประโยค ภายหลังเพิ่มประโยค ๔ ขึ้นอีกประโยค ๑ จึงรวมเป็น ๔ ประโยค

ประโยคที่ ๑ สอบคัมภีร์อาทิกรรม หรือปาจิตตีย์ แล้วแต่นักเรียนจะเลือก เข้าใจว่าแต่เดิมถ้าแปลได้ประโยค ๑ ก็ได้เป็นเปรียญ ครั้นตั้งประโยค ๔ ขึ้น จึงกำหนดว่าต้องสอบประโยคที่ ๒ ได้ด้วย จึงนับเป็นเปรียญ

ประโยคที่ ๒ สอบคัมภีร์มหาวรรค หรือจุลวรรค แล้วแต่นักเรียนจะเลือก สอบได้นับเป็นเปรียญจัตวา เหมือนเปรียญไทย ๓ ประโยค

ประโยคที่ ๓ สอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยวินิจฉัยสังคหะ เรียกกันโดยย่อว่า บาลีมุต สอบได้นับเป็นเปรียญตรี เสมอเปรียญไทย ๔ ประโยค

ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสาทิกา สอบได้เป็นเปรียญโท เสมอเปรียญไทย ๕ ประโยค

การสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณรนับเป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง ด้วยอยู่ในพระราชกิจของสมเด็จพระรามาธิบดีผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก เพราะฉะนั้นต่อมีรับสั่ง สังฆนายกทั้งปวงจึงประชุมกันสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร และมีเจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรช่วยปฏิบัติดูแลตามตำแหน่งจนสำเร็จการ

เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ การสอบพระปริยัติธรรมยังหามีกำหนดปีเป็นยุติไม่ เพราะในสมัยนั้นเป็นเวลาแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่มเริ่มบำรุงการเล่าเรียน บ้านเมืองก็ยังมีศึกสงครามเนืองๆ เมื่อใดเป็นเวลาว่าง ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนถุงภูมิรู้จะเป็นเปรียญได้มีมาก จึงโปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม เพราะฉะนั้นนานๆ จึงได้มีการสอบพระปริยัติธรรมครั้งหนึ่ง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชดำริเห็นว่าการเล่าเรียนเจริญขึ้น จึงโปรดให้กำหนดการสอบพระปริยัติธรรม ๓ ปีครั้งหนึ่งเป็นยุติ ใช้เป็นแบบต่อมาในรัชกาลที่ ๔ จนถึงในรัชกาลที่ ๕

ที่สอบพระปริยัติธรรมแต่เดิม โดยปรกติสอบที่วัดอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ต่อทรงพระราชศรัทธาจะทรงฟัง จึงโปรดให้เข้ามาประชุมสอบที่ในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษเป็นครั้งเป็นคราว เพราะฉะนั้นชั้นเดิมจึงประชุมสอบพระปริยัติธรรมที่วัดระฆัง แล้วย้ายมาที่วัดมหาธาตุ สอบที่วัดมหาธาตุตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มา จนตอนปลายรัชกาลที่ ๓ เมื่อรื้อโบสถ์วิหารและสถานที่ต่างๆ ในวัดนั้นลงทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ จึงโปรดให้ย้ายมาสอบพระปริยัติธรรมที่วัดพระเชตุพน

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงชำนาญพระไตรปิฎก ได้เป็นประธานในการสอบพระปริยัติธรรมเมื่อครั้งยังทรงผนวช มีพระราชประสงค์จะทรงฟังแปลพระไตรปิฎก จึงโปรดให้ประชุมสอบพระปริยัติธรรมที่ในพระบรมมหาราชวังทุกคราวเป็นนิตย์ ประชุมสอบที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์บ้าง ที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามบ้าง เสด็จออกทรงฟังจนตลอดรัชกาล ถึงรัชกาลที่ ๕ ประเพณีสอบพระปริยัติธรรมคงทำตามแบบแผนครั้งรัชกาลที่ ๔ สืบมาช้านาน พึ่งมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อในชั้นหลัง แต่ในหนังสือนี้จะกล่าวแต่เฉพาะลักษณการชั้นแรกเสียก่อน ส่วนชั้นหลังจะของดไว้อธิบายในตอนอื่นต่อไป

ฤดูสอบพระปริยัติธรรมมักสอบเมื่อออกพรรษาแล้ว ต่อบางคราวจึงสอบในพรรษา โดยปรกติปีใดจะสอบพระปริยัติธรรม เจ้ากระทรวงธรรมการก็รับสั่งหมายบอกไปยังเจ้าคณะสงฆ์แต่ต้นปี ว่าในปีนี้เมื่อออกพรรษาจะโปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร ฝ่ายเจ้าคณะสงฆ์ทั้งคณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง คณะธรรมยุติ และคณะรามัญ เมื่อได้รับทราบหมาย ก็บอกไปยังเจ้าอาวาสตามพระอารามใหญ่น้อยอันขึ้นอยู่ในคณะนั้นให้ทราบทั่วกัน เพื่อจะได้สอบซ้อมพระภิกษุสามเณร ซึ่งจะเข้าสอบพระปริยัติธรรม

ฝ่ายเจ้าอาวาสซึ่งครองพระอารามหลวงเมื่อทราบว่าจะมีการสอบพระปริยัติ ที่เป็นวัดมีนักเรียนมากก็ให้สอบซ้อม แล้วเลือกสรรผู้ซึ่งจะให้เข้าสนามเอาชื่อบัญชีส่งเจ้าคณะ วัดใดไม่มีนักเรียนทรงภูมิรู้ถึงจะเข้าสนามได้ เจ้าอาวาสก็ขวนขวายหานักเรียนวัดอื่นมาสำหรับจะได้เข้าสอบเป็นเปรียญของวัดนั้น เพราะมีคติถือกันมาแต่โบราณว่า บรรดาพระภิกษุสงฆ์ซึ่งอยู่ในพระอารามหลวง ได้อยู่เสนาสนะของหลวง และได้พระราชทานนิตยภัตรเป็นค่าอาหารที่จะบริโภคทั่วทุกรูป คือว่าทรงอุปการะมิให้ต้องอนาทรร้อนใจในการอยู่กิน จะได้ตั้งหน้าเล่าเรียนพระธรรมวินัยสืบอายุพระศาสนาเฉลิมพระราชศรัทธา ถ้าไม่มีเปรียญในวัดใดย่อมเป็นการเสียเกียรติยศสงฆ์วัดนั้น เพราะเหมือนไม่สนองพระราชศรัทธา จึงต้องขวนขวายที่จะให้ได้เปรียญ หรือแม้อย่างต่ำก็ให้มีพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นเข้าสอบพระปริยัติธรรม ให้ปรากฏว่าเอื้อเฟื้อต่อพระราชศรัทธามิได้ละเลย

ก็แต่ความสามารถในการฝึกสอนไม่เสมอกันทุกพระอาราม ผู้รู้และนักเรียนมักมีมากแต่ในวัดสำคัญ คือที่วัดใหญ่ๆ หรือวัดซึ่งเจ้าอาวาสเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกจึงเป็นสำนักที่เล่าเรียนแข็งแรง ถ้ามิใช่วัดที่เป็นสำนักเล่าเรียนเช่นนั้น นักเรียนที่คงวามรู้ถึงภูมิเปรียญก็หายาก เพราะแต่ก่อนมีความเข้าใจกันในพวกนักเรียนอย่างหนึ่ง จะเท็จจริงเพียงใดข้าพเจ้าหาทราบไม่ เข้าใจกันว่าพระราชาคณะซึ่งเป็นผู้ไล่หนังสือ ท่านมักจะให้ได้เปรียญแต่พอสมควรแก่บรรดาศักดิ์ของวัด คือถ้าเป็นวัดใหญ่ คราวหนึ่งก็ให้ได้เปรียญ ๓ รูป ๔ รูป ที่เป็นวัดเล็กก็ให้ได้เปรียญแต่รูปหนึ่งสองรูป เพราะเข้าใจกันอย่างว่านี้ วัดใดมีนักเรียนมากด้วยกัน เกรงว่าถ้าเข้าไปสอบมากเกินจำนวนที่พระราชาคณะท่านต้องการ ก็จะไม่ได้เป็นเปรียญ จึงมีผู้สมัครไปเข้าบัญชีในวัดที่ไม่มีนักเรียน ด้วยเห็นท่วงทีจะได้เป็นเปรียญเพราะเหตุที่พระราชาคณะท่านคงอยากจะให้มีเปรียญสำหรับวัดนั้นดังนี้

ข้างฝ่ายเจ้าอาวาสอันเป็นสำนักเล่าเรียนในวัดนั้นเข้าสอบน้อยไป ดูจะเป็นที่เสียหายเหมือนหนึ่งไม่เอาใจใส่บำรุงการเล่าเรียน บางวัดมีนักเรียนความรู้ถึงภูมิเปรียญแต่ ๒ รูป ๓ รูป ก็มักจัดนักเรียนที่มีความรู้พอดีพอร้ายเพิ่มเติมเข้าบัญชีอีก ๔ รูป ๕ รูป ให้ได้จำนวนว่ามีนักเรียนวัดนั้นเข้าสอบถึง ๖ รูป ๗ รูป ดังนี้ก็มี พวกนักเรียนที่อยู่ในบัญชีเพิ่มเติมนี้มักเรียกกันว่า “พวกทัพผี” แต่ก็มีผู้สมัครเป็น เพราะบางทีพวกทัพผีถูกโชคดีได้เป็นเปรียญก็มี ถึงจะไม่ได้เป็นเปรียญก็ถือกันว่า เป็นประโยชน์ที่ได้คุ้นเคยสนาม รู้ว่าพระราชาคณะผู้ไล่หนังสือท่านทักท้วงอย่างนั้นๆ จะได้เตรียมตัวไว้สำหรับคราวหน้าต่อไป

เจ้าอาวาสหานักเรียนซึ่งจะเข้าสอบเป็นเปรียญสำหรับพระอารามได้แล้ว ก็ลงมือเตรียมการให้สอบซ้อม ลักษณะการสอบซ้อมเป็น ๒ อย่าง คือ ซ้อมประโยคอย่างหนึ่ง ซ้อมวิธีสนามอย่างหนึ่ง การซ้อมประโยคนั้น ผู้ที่เป็นอาจารย์เลือกคัดความในคัมภีร์เฉพาะตอนที่มักใช้เป็นประโยคสอบในสนามมาให้นักเรียนแปลซ้อม การซ้อมวิธีสนามนั้น ผู้เป็นเจ้าของมักพากไปฝากพระราชาคณะนั้นจึงได้โอกาสซ้อม นับถือกันว่าเป็นประโยชน์แก่ตัวนักเรียนมาก

การสอบซ้อมทั้ง ๒ อย่างที่กล่าวมานี้ สอบซ้อมกันมากแต่เมื่อแปลคัมภีร์พระธรรมบท และคัมภีร์มังคลัตถทีปนี คือชั้นแรกที่จะเป็นเปรียญ เพราะนักเรียนยังใหม่ไม่เคยสนาม และความรู้ก็ยังต่ำ ครั้นเมื่อได้เป็นเปรียญแล้ว ถึงแปลประโยค ๕ ประโยค ๖ การที่ต้องสอบซ้อมกับครูบาอาจารย์ก็น้อยลง ยิ่งถึงชั้นเปรียญเอกซึ่งอาจจะดูหนังสือเอาเองได้แล้ว ก็มักจะสอบซ้อมแต่กับท่านผู้ใหญ่ เพราะเปรียญเอกมีน้อยไม่กี่รูป

เมื่อเจ้าอาวาสทำบัญชีพระภิกษุสามเณรที่จะเข้าแปลพระปริยัติธรรมยื่นต่อเจ้าคณะ เจ้าคณะรวมส่งมาให้กระทรวงธรรมการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ก็โปรดให้ลงมือสอบพระปริยัติธรรม มีหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ คราวสอบพระปริยัติธรรมเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ ยังปรากฏอยู่ ได้คัดสำเนามาลงไว้ต่อไปนี้พอให้เห็นลักษณะการ
หมายรับสั่ง

พระยาประสิทธิศุภการรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า พระสงฆ์สามเณรเปรียญเอก โท ตรี จัตวา ซึ่งได้รับพระราชทานนิตยภัตไตรปีอยู่นั้น เลื่อนที่ขึ้นเป็นพระราชาคณะ พระครูฐานานุกรม และสึกจากพระพุทธศาสนา ถึงแก่กรรมก็มีบ้าง พระสงฆ์สามเณรเปรียญน้อยไป ทรงพระราชศรัทธาให้กรมหมื่นบวรรังสีและพระราชาคณะผู้ใหญ่ ๒๓ รูป สอบไล่พระคัมภีร์พระสงฆ์สามเณร ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรยปราสาท กำหนด ณ วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีวอกโทศก เพลาเพลแล้วจะได้เสด็จทรงฟังด้วย ให้กรมวังจัดที่มาทอดและสั่งเจ้าพนักงานกระบวนเสด็จ เหมือนอย่างเสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ให้พร้อมทุกพนักงานนั้น

สั่งให้สังฆการีเชิญเสด็จกรมหมื่นบวรรังสีนิมนต์หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระพิมลธรรม พระธรรมวโรดม พระเทพกระวี พระธรรมไตรโลก พระพรหมมุนี พระเทพมุนี พระเทพโมลี พระอมรโมลี พระอโนมมุนี พระสาสนโสภณ พระอมราภิรักขิต พระรามัญมุนี พระวินัยมุนี พระประสิทธิสุตคุณ พระวิสุทธิโสภณ พระพินิจวินัย พระกระวีวงศ์ พระปริยัติบัณฑิต พระเมธาธรรมรส พระวรญาณมุนี พระปิฎกโกศล เป็นผู้สอบไล่ นิมนต์พระสงฆ์สามเณรมารับประโยคแปลวันละ ๕ รูป

วันแรกนั้นให้นิมนต์หม่อมเจ้าเฉิดฉายเปรียญ ๕ ประโยค วัดบวรนิเวศรูป ๑ หม่อมราชวงศ์พระหนูเปรียญ ๔ ประโยค วัดบรมนิวาสรูป ๑ หม่อมราชวงศ์พระถมยา วัดระฆังรูป ๑ หม่อมเจ้าเณรขาว วัดราชบูรณะรูป ๑ หม่อมเจ้าเณรเวียน วัดบพิตรพิมุขรูป ๑ มารับประโยคต่อพระราชาคณะ

และให้สังฆการีรับหมากรับพลูต่อวิเศษถวายพระราชาคณะผู้ไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลวันละ ๒๘ ซอง จัดขุนหมื่นให้อยู่ปรนนิบัติ กว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์เสมอทุกวัน

ให้พระยาพุทธภูมิภักดีมากำกับเมื่อเวลารับประโยคจนเลิกไล่ทุกวัน ให้ขุนหมื่นกรมธรรมการกำกับพระสงฆ์สามเณรผู้แปล เมื่อรับประโยคแล้ว อย่าให้ไปซักซ้อมต่อท่านผู้รู้ได้

ให้ศุภรัตน์จัดพรมเจียมผ้าขาวลาดเสื่ออ่อน ๒ ชั้น ๕ ผืน หมอนอิงไปแต่งที่ถวายกรมหมื่นบวรรังสี และพระราชาคณะผู้สอบไล่พระสงฆ์สามเณรผู้แปลให้พอ

ให้ราชบัณฑิตจัดพระคัมภีร์ไปตั้งวันละ ๙ ฉบับให้พอ ให้มีผ้าห่อพระคัมภีร์เทียนกากะเยียด้วย แล้วให้รับเทียนต่อท่านข้างในวันละ ๕ เล่ม มาถวายพระราชาคณะผู้สอบไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลดูหนังสือเหมือนเพลาค่ำ

ให้สนมพลเรือนจัดพานหมากกระโถนขันน้ำเครื่องมาตั้งถวายกรมหมื่นบวรรังสีเสมอทุกเพลา เบิกขี้ผึ้งต่อพระคลังในซ้ายไปส่งม่านข้างในฟั่นเทียนถวายพระราชาคณะผู้สอบไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลหนังสือ วันละ ๕ เล่ม เล่มหนึ่งหนัก ๒ บาท เป็นขึ้นผึ้งวันละ ๒ ตำลึง ๒ บาท

ให้มหาดเล็กจัดที่ชาเครื่องถวายกรมหมื่นบวรรังสีเสมอทุกเวลา

ให้เจ้ากรมปลัดกรมโรงทานจัดที่ชาไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระราชาคณะ ๒๓ รูป พระสงฆ์สามเณรผู้แปล ๕ รูปเสมอทุกวันกว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์ เบิกน้ำตาลทรายวันละ ๕ ตำลึงไทย ใบชาวันละห่อต่อพระคลังในซ้าย เบิกถ่านต่อพระคลังมหาสมบัติวันละ ๓ ชั่งไทย

ให้ล้อมพระราชวังซ้ายขวาไปเบิกยืมอ่างเขียว ๕ ใบ ที่พระคลังในซ้ายมาตั้ง แล้วตักน้ำใส่ให้เต็มอ่างเสมอทุกวันกว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์ แล้วให้เอาอ่างเขียว ๕ ใบไปส่งคืนพระคลังในซ้าย

พระคลังในซ้ายจ่ายขี้ผึ้งให้สนมพลเรือนไปส่งท่านข้างในฟั่นเทียนดูหนังสือวันละ ๕ เล่ม เป็นขี้ผึ้งวันละ ๒ ตำลึง ๒ บาท ให้จ่ายน้ำตาลทรายวันละ ๕ ตำลึงไทย ใบชาวันละห่อ ให้โรงทานไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระราชาคณะพระสงฆ์สามเณรผู้ไล่ ผู้แปล จ่ายอ่างเขียว ๕ ใบ ให้ล้อมพระราชวังซ้ายขวายืมไปตักน้ำถวายพระสงฆ์สามเณร เลิกไล่พระคัมภีร์แล้วให้เรียกอ่างเขียว ๕ ใบคืน

ให้พระคลังราชการจ่ายเสื่ออ่อน ๒ ชั้น ๕ ผืน ให้ศุภรัตน์ไปแต่งที่ถวายพระสงฆ์สามเณรผู้แปล

ให้พระคลังมหาสมบัติจัดกระโถน ขันน้ำ ไปตั้งถวายพระราชคณะพระสงฆ์สามเณรผู้แปลวันละ ๑๐ สำรับ จ่ายถ่านให้โรงทานไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระสงฆ์สามเณรวันละ ๓ ชั่งไทย

ให้คลังพิมานอากาศเอาโคมตั้งมาใส่เทียนให้พระราชาคณะดูหนังสือวันละ ๔ ใบ

ให้รักษาพระองค์ซ้ายขวาจัดตะเกียงมาตั้งวันละ ๔ ตะเกียง

ให้หลวงสิทธิสาร หลวงทิพจักร จัดหมอยามาประจำวันละคน หลวงราโชวาท หลวงราชรักษา จัดหมอนวดมาประจำวันละคน

ให้เจ้ากรม ปลัดกรม ให้กรมพระอาลักษณ์ กรมสังฆการี กรมธรรมการ กรมราชบัณฑิต มาพร้อมกันเมื่อเพลาแปลพระคัมภีร์เสมอทุกวัน

ให้ผู้ต้องเกณฑ์ทั้งนี้จัดการให้พร้อมทุกพนักงาน ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปราสาทตั้งแต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาเพลแล้วเสมอทุกวันไป กว่าจะสั่งให้เลิกพระคัมภีร์ ถ้าสงสัยประการใดก็ให้ไปทูลถวายพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรังสี อย่าให้ขาดได้ทุกพนักงานตามรับสั่ง จบหมายรับสั่งเพียงนี้

…………………………………………….


หมายรับสั่งฉบับนี้ คิดเวลาล่วงมาจนบัดนี้ได้ถึง ๖๐ ปี พระราชาคณะผู้ไล่ และภิกษุสามเณรผู้แปลซึ่งปรากฏนามในหมายรับสั่งล่วงลับไปหมดแล้ว แต่ยังพอสืบทราบได้โดยมาก จึงได้จัดอธิบายไว้ต่อไป

พระราชาคณะผู้สอบไล่ครั้งปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓

๑. กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ วัดบวรนิเวศ เป็นประธาน คือสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงชำนาญพระไตรปิฎก แต่หาได้เข้าสอบไล่

๒. หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ ๙ ประโยค นามเดิมว่า หม่อมเจ้ารอง ในกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ศุขวัฒนวิไชย ครองวัดบพิตรพิมุข

๓. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี) ๙ ประโยค วัดประยุรวงศาวาส

๔. พระพิมลธรรม (ยิ้ม) ๖ ประโยค วัดพระเชตุพน

๕. พระธรรมวโรดม (สมบูรณ์) ๔ ประโยค วัดราชบูรณะ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จพระวันรัต ครองวัดพระเชตุพน

๖. พระเทพกระวี (โต) วัดระฆัง ชำนาญพระไตรปิฎกแต่ไม่ได้เข้าสอบเปรียญ ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์

๗. พระธรรมไตรโลก (รอด) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ ครองวัดโมลีโลก

๘. พระพรหมมุนี (ทับ) ๙ ประโยค วัดโสมนัสวิหาร ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระพิมลธรรม แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระวันรัต

๙. พระเทพมุนี (กัน) ๗ ประโยค ครองวัดสุวรรณาราม

๑๐. พระเทพโมลี (เนียม) ๘ ประโยค ครองวัดกัลยาณมิตร ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์

๑๑. พระอมรโมลี (นพ) ๙ ประโยค ครองวัดบุปผาราม

๑๒. พระอโนมมุนี (ศรี) ๙ ประโยค ครองวัดปทุมคงคา ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระพรหมมุนี แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์

๑๓. พระสาสนโสภณ (สา) ๙ ประโยค วัดบวรนิเวศ ต่อมาครองวัดราชปะดิษฐ์ ถึงรัชกาลที่ ๕ เลื่อนสมณศักดิ์เทียบที่พระธรรมโรดม แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และเป็นสมเด็จพระอริยวงศษคตญาณ เจ้าคณะเหนือ แล้วเป็นสมเด็จพระสังฆราช

๑๔. พระอมราภิรักขิต (เกิด) ๙ ประโยค ครองวัดบรมนิวาส

๑๕. พระรามัญมุนี (ยิ้ม) ๘ ประโยค ครองวัดบวรมงคล

๑๖. พระวินัยมุนี (บัว) ๘ ประโยค ครองวัดอมรินทราราม

๑๗. พระประสิทธิสุตคุณ (อ้น) ๘ ประโยค ครองวัดสุทัศน์ ภายหลังเป็นพระเทพกระวี ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมไตรโลก แล้วเลื่อนเป็นพระพิมลธรรม มาครองวัดพระเชตุพน

๑๘. พระวิสุทธิโสภณ (เหมือน) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ ครองวัดมหรรณพาราม

๑๙. พระวินิจวินัย (จีน) ๗ ประโยค วัดราชโอรส ต่อมาเป็นพระธรรมไตรโลก ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์

๒๐. พระกระวีวงศ์ (ทอง) ๘ ประโยค วัดราชนัดดา ต่อมาเป็นพระเทพมุนี ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์ ไปครองวัดอรุณ ต่อมาต้องลดลงเป็นพระเทพมุนีคราวหนึ่ง แล้วเป็นพระธรรมไตรโลก

๒๑. พระเมธาธรรมรส (ถิน) ..... ประโยค ครองวัดพิชัยญาติการาม

๒๒. พระปริยัติบัณฑิต (ครุฑ) ๗ ประโยค อยู่วัดกัลยาณมิตร

๒๓. พระวรญาณมุนี (น้อย) ๙ ประโยค ครองวัดจักรวรรดิราชาวาส

๒๔. พระปิฎกโกศล (ฉิม) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ อยู่วัดราชบูรณะ

หม่อมเจ้าราชวงศ์ผู้ที่เข้าแปลหนังสือ

๑. หม่อมเจ้าพระฉายเฉิด ๕ ประโยค วัดบวรนิเวศ เป็นหม่อมเจ้าในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ คราวนี้แปลได้อีก ๓ ประโยค รวมเป็น ๘ ประโยค แล้วลาผนวช ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉายเฉิด และเลื่อนเป็นกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์

๒. หม่อมราชวงศ์พระหนู ๔ ประโยค วัดบรมนิวาส เป็นบุตรหม่อมเจ้าโสภณ ในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ คราวนี้แปลได้อีก ๓ ประโยครวมเป็น ๗ ประโยค แล้วลาสิขา ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นขุนวิสุทธากร แล้วเลื่อนเป็นพระผดุงศุลกกฤตษ์ ต่อมาเป็นพระยาอิศรพันธ์โสภณ

๓. หม่อมราชวงศ์พระถมยา วัดระฆัง เป็นบุตรหม่อมเจ้าน้อย ในกรมหมื่นนราเทเวศร์ ได้เป็นเปรียญ ๖ ประโยค แต่จะได้คราวนี้กี่ประโยคไม่ทราบแน่

๔. หม่อมเจ้าสามเณรขาว วัดราชบูรณะ เป็นหม่อมเจ้าในกรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ แปลตกไม่ได้เป็นเปรียญ แล้วลาผนวชมารับราชการ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์

๕. หม่อมเจ้าสามเณรเวียน วัดบพิตรพิมุข เป็นหม่อมเจ้าในกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ แปลได้ ๓ ประโยค

ผู้อื่นที่ปรากฏในหมายรับสั่ง

๑. กรมหมื่นอุดมรังสี เวลานั้นได้ทรงกำกับกรมสังฆการีและธรรมการ

๒. พระยาพุทธภูมิภักดี สืบได้ความว่าชื่อใย เดิมเป็นเปรียญ แล้วลาสิกขาออกมาได้ภรรยาอยู่ทางโรงวิเสท แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวช เสด็จทรงบิณฑบาตมาถึงบ้าน มหาใยตักบาตรถวายแล้วอธิฐานว่า “ขอให้เป็นปัจจัยได้ถึงพุทธภูมิ” ดังนี้ คราวหลังเสด็จไปบิณฑบาตอีก แกตักบาตรถวายแล้วก็อธิฐานอย่างนั้นอีกทุกคราวจนทรงคุ้นเคย ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงตั้งให้เป็นหลวงทานาธิบดี เจ้ากรมโรงทาน ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระทานาธิบดี รับราชการอยู่จนแก่ชรา จึงทรงตั้งเป็นพระยาพุทธภูมิภักดี ตำแหน่งผู้กำกับถือน้ำ ที่โปรดให้เป็นผู้เปิดประโยคสอบพระปริยัติธรรม ดังปรากฏในหมายรับสั่งเห็นจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริว่าเป็นเปรียญ และเป็นผู้ละอายต่อบาป คงจะไม่ลำเอียงแก่นักเรียน

ความที่ปรากฏในหมายรับสั่งว่า ให้พระภิกษุสามเณรผู้จะแปลพระปริยัติธรรมมาจับประโยค ข้อนี้เป็นเบื้องต้นของการสอบพระปริยัติธรรม คือพระราชาคณะผู้อำนวยการรูปหนึ่ง ชั้นเดิมจะเป็นตำแหน่งใดหาทราบไม่ แต่ในชั้นปลายรัชกาลที่ ๔ และต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์ มาตั้งแต่ท่านยังเป็นที่พระสาสนโสภณ เป็นผู้กะประโยคสอบพระปริยัติธรรมในคัมภีร์บทหนึ่ง จะเอาความตรงไหนเป็นประโยคสอบบ้าง ท่านเลือกแล้วให้เขียนเป็นฉลากบอกว่าคัมภีร์นั้น วัตถุนั้น ขึ้นตรงนั้นจบประโยคตรงนั้น แล้วพักใส่ซองผนึกไว้ จัดฉลากเหล่านี้ไว้เป็นประโยคๆ เช่นฉลากคัมภีร์พระธรรมบท จัดเป็นประโยคหนึ่งส่วย ๑ ประโยคสองส่วน ๑ ประโยคสามส่วน ๑

วันไหนถึงกำหนดพระภิกษุสามเณรรูปใดจะแปลประโยคไหน เวลาเช้าวันนั้นก็ไปจับฉลากประโยคนั้นที่วัดราชประดิษฐ์ แล้วถือฉลากของตนเข้ามายังสถานที่แปลพระปริยัติธรรมราวเวลา ๙ นาฬิกาก่อนเที่ยง ที่นั้นเจ้าคณะสงฆ์ผู้เป็นนายด้านกับพนักงานกรมสังฆการีสำหรับกำกับและราชบัณฑิตอยู่พร้อมกัน สังฆการีกับราชบัณฑิตพร้อมกันเปิดผนึกดูฉลากประโยคที่จะแปลจดลงบัญชีแล้ว แล้วเจ้าคณะนายด้านกับสังฆการีก็ควบคุมนักเรียนแต่เวลานั้นไป มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดลอบเข้ามาบอกใบ้ หรือให้เลศนัยอย่างหนึ่งอย่างใด ให้นักเรียนดูหนังสือเตรียมแปลแต่โดยลำพัง ครั้นถึงเวลาเพลมีสำรับของหลวงเลี้ยงทั้งนายด้านและผู้แปลด้วยกัน

การควบคุมตอนนี้ แต่ก่อนเห็นจะไม่สู้กวดขัน ปรากฏว่ามีเหตุเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ เห็นจะเป็นในเวลาเมื่อกรมหมื่นอุดมรัตนราษีสิ้นพระชนม์แล้ว พระธรรมการ (ศุข) เป็นหัวหน้าในเจ้าพนักงานประจำการแปลพระปริยัติธรรม พระธรรมการ (ศุข) นั้นชำนาญพระปริยัติธรรม มีชื่อเสียงว่าหนังสือดีมาแต่เมื่อบวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เป็นเปรียญ ๙ ประโยค และเป็นพระราชาคณะที่พระญาณรักขิต ครั้นลาสิกขามารับราชการในรัชกาลที่ ๔ จึงได้เป็นที่พระธรรมการ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เปรียญองค์ใดเป็นที่ชอบพอของพระธรรมการแล้ว พระธรรมการลอบซ้อมหนังสือให้ในเวลาที่คุมอยู่เนื่องๆ จนความทราบถึงพระราชาคณะผู้ไล่ แต่สิ้นรัชกาลที่ ๔ เสีย หาทันจะได้ว่ากล่าวกันอย่างไรไม่

มาถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ โปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระราชาคณะหวังจะแก้การที่ลอบซ้อมไล่หนังสืออย่างกวดขัน พระภิกษุสามเณรที่เข้าแปลพระปริยัติธรรมคราวนั้นตกเสียโดยมาก แล้วโปรดให้ประกาศสงฆ์ซ้ำลงมาเมื่อจะแปลประโยค ๔ อีกชั้นหนึ่ง ดังสำเนาที่จะปรากฏต่อไปข้างหน้า สอบพระปริยัติธรรมคราวนั้นได้แต่เปรียญ ๓ ประโยค ๑๒ รูป ชั้นประโยค ๔ ขึ้นไปตกหมด ไม่มีผู้ใดแปลได้สักรูปเดียว เลยเป็นเรื่องเลื่องลือกันมาช้านาน การควบคุมคงกวดขันมาแต่ครั้งนั้น

จำนวนพระภิกษุสามเณรเข้าแปลพระปริยัติธรรมแต่เดิมมา กำหนดวัน ๕ รูป ดังปรากฏในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้น มาลดลงเป็นวันละ ๔ รูปเมื่อในรัชกาลที่ ๕ แต่จะลดมาแต่คราวแรกหรือจะมาลดเมื่อแปลคราวที่ ๑ หาทราบแน่ไม่ จัดลำดับให้เข้าสอบเป็นคณะๆ ไป ตั้งต้นสอบคณะกลางกับคณะธรรมยุติกา แล้วถึงคณะเหนือและคณะใต้ สังฆการีเป็นผู้วางฎีกากะให้รูปใดเข้าแปลวันใด พระภิกษุเข้าแปลก่อนแล้วถึงสามเณร จนหมดในคณะหนึ่ง แล้วก็วางฎีกาคณะอื่นต่อไป ในชั้นแรกให้พระภิกษุสามเณรที่ยังไม่ได้เป็นเปรียญเข้าแปลคัมภีร์พระธรรมบทก่อน กำหนดแปลวันละประโยค รูปใดแปลได้ประโยค ๑ วันแรก รุ่งขึ้นให้เข้าแปลประโยค ๒ ถ้าได้ประโยค ๒ ก็แปลประโยค ๓ ในวันต่อไป เมื่อแปลได้ครบ ๓ ประโยค นับว่าเป็นเปรียญชั้นสามัญแล้ว ให้พักเสียคราวหนึ่ง เผื่อรูปใดจะเข้าสอบประโยค ๔ ต่อไป จะได้มีเวลาฝึกซ้อมประโยค ๔

เมื่อสอบผู้แปลคัมภีร์ธรรมบทแล้ว แต่นี้ถึงเวลาสอบเปรียญชั้นสูง ตั้งแต่ประโยค ๔ เป็นต้นไป เปรียญที่มีประโยคแล้วจำนวนน้อย ไม่มากเหมือนนักเรียนที่แปลใหม่ จึงวางฎีกาคละกันทุกคณะ เป็นแต่กำหนดลำดับตามประโยค คือ ให้เปรียญเก่าชั้น ๓ ประโยค ที่สอบได้ในคราวก่อนๆ เข้าสอบประโยค ๔ ก่อน เมื่อเปรียญเก่าสอบประโยค ๔ หมดแล้ว ถ้ามีนักเรียนซึ่งสอบได้ ๓ ประโยคในคราวนั้นสมัครจะเข้าสอบประโยค ๔ ก็ให้เข้าสอบต่อไปจนหมดจำนวน แล้วตั้งต้นสอบประโยค ๕ ให้เปรียญเก่าเข้าสอบก่อนเปรียญใหม่ เป็นทำนองเดียวกันทุกประโยคไป เมื่อสอบเปรียญไทยหมดแล้วจึงถึงเวลาสอบเปรียญมอญ ก็จัดโดยทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว

เวลาสอบพระปริยัติธรรม ลงมือประมาณบ่าย ๓ โมงทุกวัน แต่เวลาเลิกไม่เป็นยุติ แล้วแต่ผู้แปลจะได้หรือจะหนีเร็วช้าอย่างไร แต่คงได้เลิกในระหว่างเวลาตั้งแต่ ๑๙.๐๐ ถึง ๒๐.๐๐ นาฬิกาเป็นพื้น ถึงวันพระวันโกนหยุดพักรวมเดือนละ ๘ วัน การสอบพระปริยัติธรรมคราวหนึ่ง แต่เริ่มต้นจนเสร็จกินเวลาประมาณ ๒ เดือน

พระราชาคณะที่มาประชุมสอบพระปริยัติธรรม กำหนดเฉพาะพระราชาคณะผู้ใหญ่ และพระราชาคณะที่ชำนาญพระไตรปิฎก มีหมายรับสั่งกำหนดนามผู้เป็นประธานและรายนามพระราชาคณะที่ให้นอมนต์มาประชุมทุกคราว ทำนองอย่างปรากฏในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้น รวมพระราชาคณะประมาณ ๒๕ ไปหา ๓๐ รูปเป็นเกณฑ์ ผู้เป็นประธานมีหน้าที่สำหรับตัดสินปัญหาและข้อขัดข้องที่จะเกิดขึ้น ส่วนพระราชาคณะองค์อื่นนั้น ที่เป็นผู้สอบไล่เฉพาะท่านผู้ใหญ่ ๓ องค์ ๔ องค์ นอกจากนั้นเป็นแต่ผู้นั่งฟัง มีคำกล่าวกันมาว่า ที่ให้พระราชาคณะมาประชุมในการสอบพระปริยัติธรรมมากด้วยกันนั้น ที่จริงประสงค์จะให้มาฟัง เพื่อประโยชน์ในทางความรู้ของพระราชาคณะนั้นๆ เอง จะได้ฝึกสอนสานุศิษย์ หาใช่มาเป็นผู้สอบไล่ทั้งหมดไม่ เพราะฉะนั้นต่อพระราชาคณะผู้
คะแนน
สามารถให้คะแนนได้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น.

โปรดเข้าสู่ระบบก่อนการให้คะแนน.

ยังไม่มีการให้คะแนน.
แสดงผลในเวลา: 0.02 วินาที 119,484,087 ผู้เยี่ยมชม