คำนำ
เรื่อง ประวัตินักธรรม นี้ ได้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นมุทิตาบรรณาการ แด่พระเถรานุเถระ ในสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ที่ได้รับพระราชทานสถาปนา เลื่อน และตั้งสมณศักดิ์ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ในการพิมพ์ครั้งนั้น เนื้อหาค่อนข้างสั้น ยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์
ในการพิมพ์ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ ๒ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง จึงได้ให้ท่านผู้เกี่ยวข้องช่วยกันเรียบเรียงเนื้อหาส่วนที่ยังขาดไป ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้นำเอาประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับนักธรรมตั้งแต่เริ่มแรก และ รายงานการสอบความรู้ธรรมและบาลีของสนามหลวง ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มารวมพิมพ์ไว้ด้วย เพื่อจักเป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจสืบไป
โดยเฉพาะประกาศและรายงานการสอบความรู้ธรรมและบาลีของสนามหลวง ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ นั้น ได้แสดงให้เห็นว่า พระองค์มีพระดำริและทรงพัฒนาการศึกษานักธรรมมาอย่างไร และทรงทุ่มเทพระพละกำลังทุกด้านเพื่อพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ เพื่อความรุ่งเรืองของพระศาสนาและชาติบ้านเมืองเพียงไร
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ขออนุโมทนาขอบคุณท่านผู้เรียบเรียง เนื้อหาส่วนต่าง ๆ ของเรื่อง ประวัตินักธรรม ที่พิมพ์ในครั้งนี้ คือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน พระเทพกิตติโมลี (ทองสูรย์ สุริยโชโต) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และ รศ.สุเชาวน์ พลอยชุม ซึ่งทำให้เรื่องประวัตินักธรรมมีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
เมษายน ๒๕๕๖
สืบสานพระปณิธาน
เป็นที่ยอมรับกันดีว่า พระพุทธศาสนาแบบที่สืบต่อมาไม่ขาดสาย โดยรักษาพระธรรมวินัยดั้งเดิม ที่พระพุทธเจ้าตรัสและทรงบัญญัติไว้ได้แม่นยำและมั่นคง อย่างน้อยใกล้เคียงที่สุด โดยคงอยู่เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกันในทุกถิ่นแดน เป็นเอกภาพ คือ พระพุทธศาสนาเถรวาท
ในอีกระดับหนึ่ง ก็รู้กันว่า ในบรรดาดินแดนของประชาชนที่เรียกว่าประเทศพระพุทธศาสนาเถรวาททั้งหลาย ประเทศไทยเป็นถิ่นเถรวาทที่พุทธบริษัทถือหลักความประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระพุทธศาสนาลงตัวเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้กระทั่งธรรมเนียมปลีกย่อยในวิถีชีวิตและกิจทางสังคม ดังเช่น บรรดาพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศไทยปลงผมในวันเดียวกัน ใช้ผ้ากราบรับประเคนเมื่อสตรีถวายไทยธรรม สวดมนต์บทและแบบเดียวกันในพิธีกรรมอย่างนั้น ๆ ลงกันเป็นมาตรฐาน มีเอกภาพมากที่สุด
ความเป็นเอกภาพ มีมาตรฐานอันหนึ่ง อยู่ในระบบแบบแผนอันเดียวกัน ที่กล่าวมานั้น ในขั้นปรากฏการณ์พื้นฐาน เกิดขึ้นจากการที่ได้มีระบบการปกครองคณะสงฆ์ซึ่งรวมศูนย์อันเดียว โดยมีกฎหมายของรัฐออกมาค้ำจุนหนุนรองรับพระธรรมวินัย คุมให้พลเมืองคือคนของรัฐมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบทางพระศาสนา โดยมิให้เป็นการเสียหายต่อพระธรรมวินัย แต่ให้เกื้อกูลหนุนพระธรรมวินัยนั้น ตามมาตรฐานอันหนึ่งอันเดียวกัน
อย่างไรก็ดี พระพุทธศาสนาในประเทศไทย มิใช่มีเพียงเอกภาพทางการปกครองเท่านั้น แต่มีเอกภาพทางด้านการศึกษาด้วย ดังที่พุทธบริษัทมีระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมสนามหลวง ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี ที่มวลพุทธบริษัทสามารถเข้าถึงได้เสมอกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวทั่วทั้งประเทศ
ในการศึกษาพระปริยัติธรรมสนามหลวงนั้น ระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมเป็นส่วนที่ทั่วถึงแก่พุทธบริษัททั้งมวล โดยมีทั้งฝ่ายนักธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณร และฝ่ายธรรมศึกษาสำหรับอุบาสกอุบาสิกา ตั้งต้นแต่เริ่มเรียนรู้ พระพุทธศาสนา จึงเป็นองค์แห่งความเป็นเอกภาพอย่างเต็มพื้นฐาน ครั้นเล่าเรียนสูงขึ้นไป ก็มีพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมาต่อให้ขึ้นไปถึงยอดที่รวมเป็นหนึ่งเดียว จึงเป็นระบบที่มีเอกภาพอย่างครบรอบสมบูรณ์ในตัว
ย้อนหลังไปในศตวรรษก่อนหน้านี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นอกจากทรงเป็นพระประมุขในการปกครองคณะสงฆ์แล้ว ก็ได้ทรงเป็นผู้นำในการบริหารการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยทรงจัดวางระบบการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่จะนำให้พุทธบริษัททั่วประเทศไทย มีเอกภาพทางการศึกษา ดังที่ในด้านพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ได้ทรงให้นำวิธีแปลโดยเขียน มาใช้แทนการสอบแปลปากเปล่า ในการสอบบาลีสนามหลวง เป็นครั้งแรก เริ่มด้วยประโยค ๑-๒ ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ จนครบถึงประโยค ๙ ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ทำให้พระปริยัติธรรมแผนกบาลีมีความเป็นสากล ตามความหมาย ทั้งในแง่ที่ว่าเสมอกับมาตรฐานที่ยอมรับและปฏิบัติในถิ่นที่ยุคสมัยอันได้เจริญมาถึงปัจจุบัน และในแง่ว่าจะสามารถแผ่ขยายออกไปได้อย่างทั่วถึงแก่มวลพุทธศาสนิกชนสืบต่อไป
อย่างไรก็ตาม พระปริยัติธรรมแผนกบาลีนั้น พูดอย่างภาษาสามัญว่า เป็นการศึกษาส่วนยอดส่วนปลาย ซึ่งมวลชนเข้าถึงไม่ทั่วกัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงมีพระประสงค์จะให้มวลพุทธบริษัททั่วประเทศ ตั้งแต่ในถิ่นชนบทห่างไกล และเริ่มแต่วัยเยาว์ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาพระพุทธศาสนา จึงได้ทรงจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่อีกหลักสูตรหนึ่งโดยเมื่อเริ่มแรกเรียกว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม" ซึ่งได้พัฒนาต่อมา จนเข้ารูปลงตัวเป็น "นักธรรม" และเกิดมีสนามหลวงแผนกธรรมที่มีอายุครบ ๑๐๐ ปีเต็ม ๑ ศตวรรษในบัดนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๕)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสจึงทรงมีพระคุณูปการยิ่งใหญ่ ที่ได้ทรงบริหารจัดอำนวยการให้คณะสงฆ์ไทยและประเทศไทย มีระบบการศึกษาพระพุทธศาสนาที่จะแผ่ขยายไปให้ทั่วถึงอย่างเป็นเอกภาพ
แท้จริงนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ เอกภาพทางการศึกษานี่แหละ เป็นรากฐานและเป็นสาระของเอกภาพทางการปกครอง
เรามีการปกครองคณะสงฆ์เพื่ออะไร? และได้อย่างไร? ในประเทศไทยนี้ถือว่ารัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา และรัฐได้ทำหน้าที่นี้ถึงขั้นที่ว่าได้ตรากฎหมายฝ่ายบ้านเมืองออกมาเอื้ออำนวยความสะดวกในการที่จะบริหารกิจการพระพุทธศาสนา เหมือนกับจัดเตรียมพื้นที่ พร้อมทั้งระบบการคุ้มครอง ป้องกัน และจัดหาอุปกรณ์ไว้ให้ เมื่อคณะสงฆ์จะบริหารงานพระศาสนา ก็จัดกิจการของตนบนพื้นที่นั้น และอาศัยอุปกรณ์ที่รัฐจัดเตรียมถวายไว้นั้น ดำเนินกิจการของพระศาสนาสืบไป
ปกครองคณะสงฆ์เพื่ออะไร? ตอบได้ง่าย ๆ ตรง ๆ ว่า เพื่อควบคุมดูแลให้ภิกษุสามเณรอยู่ในพระธรรมวินัย
ปกครองคณะสงฆ์ได้อย่างไร? ก็ตอบง่าย ๆ ตรง ๆ ว่า ผู้ปกครองต้องรู้ว่าพระธรรมวินัยมีว่าอย่างไร
แม้ถึงภิกษุสามเณรที่จะให้อยู่ในพระธรรมวินัยนั้น จะอยู่ได้ด้วยดี ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจพระธรรมวินัย
เป็นอันว่า ทั้งพระเถระผู้ปกครอง และพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ใต้ปกครอง ต้องรู้พระธรรมวินัย และการที่จะรู้เข้าใจพระธรรมวินัยนั้นได้ ก็ด้วยมีการศึกษา
ดังนั้น เมื่อว่ากันให้ถึงสาระแล้ว การศึกษาพระปริยัติธรรม จึงเป็นทั้งรากฐานและเป็นจุดหมายของการปกครองคณะสงฆ์ และเอกภาพทางการศึกษา ก็เป็นเนื้อหาสาระของเอกภาพทางการปกครอง ถ้าไม่มีการศึกษา การปกครองก็จะมีเอกภาพเพียงโดยรูปแบบ และในที่สุดก็อาจจะกลายเป็นมิใช่การปกครองในพระพุทธศาสนาไปก็ได้
ในการปกครองคณะสงฆ์นั้น พระธรรมวินัยเป็นหลักยึดถือร่วมกัน ทั้งของพระเถระผู้ปกครอง และของบรรดาภิกษุสามเณรผู้อยู่ใต้ปกครอง ตลอดถึงพุทธศาสนิกชนทั้งปวง ผู้ดำเนินตาม และแน่นอนว่า พระธรรมวินัยนั้น จะเข้าถึงได้ด้วยการศึกษา
โดยนัยนี้ กิจการบริหารการปกครองคณะสงฆ์และการดำเนินงานพระพุทธศาสนาทุกอย่างทุกประการ มีจุดรวมอยู่ที่การศึกษา หรือมีการศึกษาเป็นแกนนั่นเอง โดยเฉพาะการปกครองคณะสงฆ์ย่อมมุ่งที่จะให้พระภิกษุสามเณรตลอดจนมวลพุทธบริษัทมีการศึกษาที่จะให้เข้าถึงพระธรรมวินัย
เริ่มแรก การศึกษา ให้เข้าถึงพระธรรมวินัย ด้วยการทำให้รู้เข้าใจว่าพระธรรมวินัยมีว่าอย่างไร
การศึกษา ให้เข้าถึงพระธรรมวินัย ด้วยการทำให้นำพระธรรมวินัยไปใช้ไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง
การศึกษา ให้เข้าถึงพระธรรมวินัย ด้วยการทำให้เกิดเป็นผล ทั้งผลแก่บุคคลหรือตนเองที่จะก้าวไปในอริยมรรคา และผลที่แผ่ขยายออกไปเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน
ในประเทศไทย เมื่อศตวรรษก่อนนี้นั้น เท่าที่ทบทวนเรื่องราวได้ตามหนังสือเก่าที่เคยผ่าน ขอพูดอย่างภาษาชาวบ้านว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงถึงกันกับในหลวงรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เสด็จไปทรงตรวจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่าง ๆ ทรงทราบสภาพการพระศาสนาในถิ่นนั้น ๆ ส่วนในฝ่ายบ้านเมือง ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นทั้งหลาย แล้วได้ตรัสปรารภถึงสภาพของชนบทในสมัยนั้น ที่ชาวบ้านจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ มีความเชื่อถือไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา แทบจะไม่รู้เข้าใจหลักธรรมที่สำคัญ ส่วนทางฝ่ายพระสงฆ์ก็ไม่มีความรู้ เทศน์สอนชาวบ้านแต่เรื่องนิทานแค่ชาดกที่เล่าสืบกันมา นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่จะทรงจัดการแก้ไข
ความที่ว่านี้ สอดคล้องกับความเป็นมาที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงริเริ่มจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่หลักสูตรหนึ่ง ซึ่งเมื่อเริ่มแรกเรียกว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม" อันเป็นต้นทางที่ต่อมาวางลงเป็นแบบแผนว่า "นักธรรม"
ขอกล่าวประมวลความอย่างที่คิดว่าคงจะไม่ผิดว่า คำว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม" นั้นบ่งบอกอยู่ในตัวถึงพระปณิธานในการทรงจัดการเล่าเรียนอันจะช่วยให้ชาวพุทธ ตั้งแต่ยังเยาว์อยู่ในวัยเป็นสามเณร มีการศึกษาที่จะให้เข้าถึงพระธรรมวินัย เริ่มแต่เข้าถึงด้วยความรู้เข้าใจ เป็นต้นไป (โยงต่อไปโดยนัย สู่การเข้าถึงด้วยการนำไปใช้ นำไปปฏิบัติ และการให้เป็นผลทั้งแก่ตนและแก่พหูชนดังที่กล่าวแล้ว)
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมที่ได้ดำเนินมาถึงวันนี้ครบ ๑๐๐ ปีแล้วนั้น ว่าโดยสาระสำคัญก็คือ การทำงานที่จะสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ดังที่กล่าวมา
วาระครบรอบศตวรรษของสนามหลวงแผนกธรรมนี้ อาจถือเป็นจุดเตือนระลึก ในการที่จะทบทวนข้างหลัง และเร่งเร้าข้างหน้า ซึ่งการบริหารภารกิจในการสืบสานพระปณิธานของพระองค์ผู้ทรงก่อตั้งการศึกษาพระปริยัติธรรมนี้ขึ้นไว้ ในการที่จะให้มวลพุทธบริษัทได้มีการศึกษา อันให้เข้าถึงพระธรรมวินัย ด้วยการรู้เข้าใจ เป็นต้น ดังที่กล่าวมา
ถ้าการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม นำให้ประชาชาวพุทธได้รับการศึกษาที่พาให้เข้าถึงพระธรรมวินัยดังที่ว่านั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทก็จะสำแดงตัวออกมาประกาศพระธรรมวินัยแท้ที่สืบมาดั้งเดิมจากองค์พระบรมศาสดา เพื่อแผ่ขยายความเจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญา ให้สัมฤทธิ์ผลเป็นประโยชน์สุขแห่งพหูชนหรือมวลประชาอย่างสมจริง
โดยนัยดังกล่าวมา การสืบสานพระปณิธานและเชิดชูพระกิตติคุณของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็จะมีความหมายเป็นการปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทอันให้บำเพ็ญกิจ ที่จะดำรงพระธรรมวินัยให้คงอยู่ยืนนาน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก สืบไป
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖
ประวัตินักธรรม
บทนำ
การศึกษาของภิกษุสามเณรในประเทศไทยแต่โบราณมา คือการศึกษาภาษาบาลี ที่เรียกว่าการศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาในภาษาบาลี เพื่อให้รู้ภาษาบาลีสามารถอ่านพระคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาได้โดยสะดวก เพราะคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทดังที่นับถืออยู่ในประเทศไทยนั้น ล้วนจารึกไว้ด้วยภาษาบาลี ฉะนั้น ผู้ที่ประสงค์จะรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาให้แตกฉานจึงจำต้องศึกษาภาษาบาลีให้รู้แตกฉาน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยากไม่น้อยสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลีจึงพลอยไม่ค่อยรู้เรื่องคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างแจ้งชัดตามไปด้วย ทั้งเป็นเหตุให้ภิกษุสามเณรทั่วไปไม่ค่อยเอาใจใส่ที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาด้วย เพราะเรียนยาก รู้ยาก
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น ทรงพระปริวิตกถึงความเป็นไปของภิกษุสามเณรดังกล่าวมาข้างต้น จึงได้ทรงพระดำริหาทางจัดการเล่าเรียนเพื่อให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้พระธรรมวินัยได้สะดวกและกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยได้ทรงริเริ่มสอนพระธรรมวินัยแก่ภิกษุสามเณรบวชใหม่เป็นภาษาไทยขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งแรก ในฐานที่ทรงเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ ดังที่ทรงอธิบายไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า
“แต่ก่อนมา ภิกษุบวชได้กี่พรรษาก็ตาม ไม่สนใจแล้วไม่รู้ธรรมวินัยเลย นอกจากที่เคยปฏิบัติ จึงจัดสอนภิกษุสามเณรบวชใหม่ให้เรียนธรรมวินัยในภาษาไทยเป็นการส่วนตัวในหน้าที่แห่งอุปัชฌายาจารย์ก่อน ต่อมาปลูกความนิยมออกไปถึงภิกษุสามเณรเก่าด้วย จนถึงจัดเป็นการเรียนเป็นพื้นวัดขึ้นได้ แลมีวัดธรรมยุตอื่นทำตามแพร่หลายออกไป”
นี้คือจุดเริ่มต้นของการศึกษาพระปริยัติธรรมแบบใหม่ ที่เรียกว่า “นักธรรม” ในเวลาต่อมา หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า พระปริยัติธรรมแผนกธรรม คู่กับพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาของพระสงฆ์ไทยมาแต่โบราณ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงริเริ่มการสอนธรรมวินัยในภาษาไทยแก่ภิกษุสามเณรบวชใหม่ดังกล่าวมาข้างต้นขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทรงกล่าวไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร แต่เพียงว่า การสอนธรรมวินัยในภาษาไทยแก่ภิกษุสามเณรบวชใหม่ดังกล่าว เป็นการที่ได้ทรงจัดขึ้นเมื่อทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (นับแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นมา) จึงสันนิษฐานว่า คงทรงริเริ่มขึ้นแต่เมื่อแรกทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ในฐานที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ซึ่งจะต้องให้การอบรมสั่งสอนสัทธิวิหาริกและภิกษุสามเณรที่อยู่ในความปกครอง
ลักษณะการสอนธรรมวินัยในภาษาไทยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงสอนภิกษุสามเณรบวชใหม่นั้น ทรงสอนอย่างไร สังเกตจากสำเนาพระโอวาท ที่ประทานแก่นวกภิกษุปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่พระยาศรีบัญชา (ทวน ธรรมาชีวะ) ซึ่งเป็นนวกภิกษุในปีนั้น ได้จดบันทึกไว้เป็นรายวันตามที่ทรงสอนปรากฏว่า เนื้อหาของพระโอวาทประกอบด้วยพระอธิบายเรื่องธรรม เรื่องพุทธประวัติ และเรื่องวินัย โดยทรงสอนไปตามลำดับ คือ ธรรม พุทธประวัติ และวินัย
องค์สามเณรรู้ธรรม
พ.ศ. ๒๔๔๘ (ร.ศ. ๑๒๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารขึ้น ตามพระราชบัญญัตินี้ภิกษุทั่วไปได้รับการยกเว้น ส่วนสามเณรได้รับยกเว้นเฉพาะสามเณรที่รู้ธรรม ทางราชการจึงได้ขอให้คณะสงฆ์กำหนดองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการรับยกเว้นเกณฑ์ทหาร ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในฐานะประธานเถรสมาคม จึงได้ทรงนำเรื่องนี้หารือที่ประชุมเถรสมาคม โดยได้ทรงมีพระปรารภต่อที่ประชุมว่า
“เมื่อศก ๑๒๔ ได้มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ในนั้นยกเว้นภิกษุทั่วไป แต่สามเณรยกเว้นโดยเอกเทศ เฉพาะแต่สามเณรรู้ธรรมฯ การกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนี้ เจ้าน่าที่อื่น ๆ ขอให้กระทรวงธรรมการเป็นผู้กำหนด กระทรวงธรรมการก็จะต้องอาศัยพระช่วยกำหนดให้ จึงเชิญท่านทั้งหลายมาเพื่อจะให้ช่วยกันกำหนดฯ เราไม่มีอำนาจที่จะออกความเห็นวินิจฉัยพระราชบัญญัติ เมื่อตั้งขึ้นแล้ว เป็นน่าที่ของเราที่จะต้องอนุวัติตาม ประเพณีนี้ก็ได้มีเป็นอย่างมาในครั้งพระพุทธกาลแล้ว เช่นในมหาวรรควินัยว่า เมื่อภิกษุกำลังทำอุโบสถก็ดี ทำปวารณาก็ดี ค้างอยู่ มีพระราชาจะมาจับภิกษุนั้น ที่แปลว่าราชการจะเอาตัว ให้ขอผัดไว้ พอได้ทำกิจนั้นเสรจก่อน ข้อนี้แปลว่าพระยอมอนุวัติราชการ ไม่ขัดขืน แลคนที่จะตั้งอยู่เป็นหมวดเป็นหมู่กันได้ ที่เรียกว่าบ้านเมือง ต้องมีคนช่วยกันทำธุระหลายหน้าที่ กล่าวตามบาลี ต้องมีวรรณะทั้งสี่ คือพวกขัตติยะเป็นผู้ป้องกันอันตรายภายนอกภายใน พราหมณ์เป็นผู้สอนให้คนมีความรู้แลความดี พวกเรานับเข้าอยู่ในหมวดนี้ เวสสะเป็นผู้ทำของที่เกิดแต่ฝีมือ หรือรับของเหล่านั้นมาจำหน่าย เพื่อบำรุงสุขของประชาชน สุททะ เป็นผู้รับทำการงารของผู้อื่นด้วยแรง เพื่อความสะดวกของมหาชน แต่น่าที่ของผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องการทำให้เต็มที่ เช่นเราเป็นพวกพระ ก็ต้องการจะได้คนมาฝึกสอนอบรม ฝ่ายพวกทหารก็ต้องการจะได้คนเข้าเป็นทหาร แต่คนทั้งปวงจะเป็นพระหรือเป็นทหารทั้งนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นเลยไม่ได้ ต้องแบ่งเป็นนั่นบ้าง เป็นนี่บ้างฯ ข้อที่จะกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนั้น ก็แปลว่า จะกำหนดว่าคนเช่นไรจะขอเอาไว้ คนเช่นไรจะยอมปล่อยให้เข้ารับราชการทหาร” (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๒๑-๑๒๖)
จากพระปรารภดังกล่าวและจากที่ได้สดับความคิดเห็นของที่ประชุมเถรสมาคม จึงได้ทรงสรุปแนวพระดำริในการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อที่ประชุมว่า
“เห็นควรเอาไว้แต่สามเณรที่จะเป็นคนเรียนรู้ แลทำประโยชน์ให้แก่พระศาสนาได้ การกำหนดต้องให้สมแก่นักเรียนอุดมศึกษา แลความรู้ต้องให้เวลาเรียนไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ที่เป็นกำหนดเกณฑ์รับราชการ เพราะฉนั้น ในส่วนรู้ภาษามคธทรงเห็นชอบตามที่พระเถระทั้งหลายกำหนดนั้น ส่วนรู้ธรรม เพียงแต่รู้ธรรมของสามเณร ทรงเห็นอ่อนไป แต่ยังทรงรู้สึกอยู่ว่า หลักสูตรที่วัดบวรนิเวศอยู่ข้างจะสูง แลเป็นกำหนดคราวแรก อ่อนไว้หน่อยก็ยังได้ ภายหลังจึงค่อยรัดเข้าฯ” (เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.)
และในที่สุดเถรสมาคมได้มีมติตามแนวพระดำริดังนี้
๑. กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ให้กำหนดตามสมควรแก่ความรู้ที่ต้องการในมณฑลนั้น ๆ มุ่งเอาประโยชน์พระศาสนาเป็นที่ตั้ง
๒. องค์ของสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ นั้น รู้มคธภาษา กรรมการสอบเห็นว่าใช้ได้กับรู้ธรรมของสามเณรด้วย
๓. สามเณรที่ไม่มีประโยชน์แก่พระศาสนา คือว่า แม้สึกเข้ารับราชการก็ไม่เป็นเหตุเสื่อมการข้างวัด เช่น ขาดคนเล่าเรียน จะหาคนมีความรู้ได้น้อย เป็นต้น สามเณรเช่นนั้น เมื่อต้องเรียก
ก็ให้สึกเข้ารับราชการ (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๓๖.)
เกณฑ์ดังกล่าวนี้ กระทรวงกลาโหมก็ยอมรับ จึงเป็นอันใช้ได้ ครั้นเดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงโปรดให้จัดการสอบในส่วนกลางขึ้นเป็นครั้งแรก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร วัดมหาธาตุ วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดเบญจมบพิตร โดยทรงกำหนดหลักสูตรสำหรับสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ ดังนี้
- ภาษามคธ เพียงท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท
- ธรรมของสามเณร คือธรรมวิภาคในนวโกวาท
- แต่งความแก้กระทู้ธรรม
ในการสอบองค์สามเณรรู้ธรรมครั้งแรกในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) มีสามเณรเข้าสอบ ๑๗๙ รูป สอบได้ ๑๓๙ รูป ตก ๔๐ รูป
ผลการสอบองค์สามเณรรู้ธรรมครั้งนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเห็นว่า ทำให้สามเณรมีความรู้ดีขึ้น แต่ยังแคบเพราะใช้ได้แต่ในกรุงเทพฯ หรือเฉพาะวัดที่มีเรียนปริยัติ ในหัวเมืองจะจัดตามนี้ไม่ได้ แต่ก็ทรงเห็นว่าหากได้ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กว้างขวาง เพราะการเรียนการสอบธรรมวินัยในภาษาไทยอย่างนี้ พระองค์ได้ทรงทำเป็นการส่วนพระองค์มานานแล้ว และเกิดผลดีแก่ภิกษุสามเณรที่เรียน ทั้งที่ยังบวชอยู่และสึกออกไป ฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระดำริที่จะปรับปรุง หลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ให้เป็นการศึกษาธรรมวินัยสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป ซึ่งจะเป็นทางให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ธรรมวินัยทั่วถึง ดังที่พระองค์ได้ทรงอธิบายแก่เถรสมาคมในครั้งนั้น ปรากฏในรายงานการประชุมเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ ว่า
“ความรู้ธรรมอย่างสามัญนั้น ได้ทรงเริ่มจัดมานานแล้ว ตรัสเล่าจำเดิมแต่เหตุปรารภแต่งนวโกวาทขึ้น และได้ใช้ฝึกสอนในสำนักของพระองค์เอง และวัดอื่นได้รับใช้ตามอย่าง ได้ผลดีทั้งผู้ยังบวชอยู่แลผู้สึกไปแล้ว เมื่อกำหนดองค์สามเณรรู้ธรรม ทรงเห็นว่า จะขยายความรู้ธรรมถึงชั้นนี้ได้ จึงได้ทรงหลักสูตรขึ้นดังนั้นฯ กำหนดเอาความรู้ในมคธภาษานั้น เปนการหนักแก่สามเณรผู้จะเรียนให้ทันเวลา ทั้งไล่ได้แล้ว จะจัดว่าเปนผู้มีความรู้ก็ยังไม่ได้ แลจะจัดในหัวเมืองก็ไม่ได้ทั่วไปฯ เมื่อเสด็จไปหัวเมืองเหนือคราวนี้เอง ได้ทรงปรารภถึงการเรียนของพระสงฆ์หัวเมือง ทรงเห็นว่า ได้รับบำรุงเข้า คงดีขึ้นกว่าปล่อยให้เป็นอยู่ตามลำพัง เมื่อได้จัดให้แพร่หลายแล้ว จะเปนประโยชน์กว้างขวาง ดีกว่าจะมัวบำรุงในทางมคธภาษาอย่างเดียว แม้ว่าการรู้ภาษามคธเป็นหลักแห่งการรู้ปริยัติ จึงได้ทรงจัดเป็นระเบียบเปน ๒ อย่าง อย่างสามัญไม่เกี่ยวกับมคธภาษา สำหรับภิกษุสามเณรทั้งในกรุงแลหัวเมือง อย่างวิสามัญนั้น สำหรับภิกษุสามเณรในสำนักที่สามารถสอนมคธภาษาได้ด้วยฯ ต่อไปทรงแสดงพระดำริห จะจัดการนี้ให้เข้ารูปอย่างไร ทรงอาศัยหลักในพระวินัยที่จัดภิกษุเป็น ๓ จำพวก คือ เถระ ๑ มัชฌิมะ ๑ นวกะ ๑ หลักสูตรที่ตั้งขึ้นทั้ง ๒ ประโยค ทั้งสามัญแลวิสามัญนั้น จัดเป็นนวกภูมิ์ เป็นความรู้นวกภิกษุ เป็นภูมิ์ต้น ต่อไปจะคิดขยายให้ถึงมัชฌิมภูมิ์ และเถรภูมิ์ บำรุงความรู้ให้ลึกโดยลำดับ แลจะให้เข้ากันได้กับหลักสูตรปริยัติที่ใช้อยู่บัดนี้” (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๒๗-๑๒๘.)
จากพระดำริที่ทรงแสดงแก่ที่ประชุมเถรสมาคมดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเห็นว่าการศึกษาปริยัติธรรมที่เน้นมคธภาษานั้น ไม่ช่วยให้การศึกษาธรรมวินัยแพร่หลายถึงภิกษุสามเณรทั่วไป เพราะหาผู้สอนยาก ทั้งเรียนรู้ได้ยาก จึงได้ทรงทดลองจัดการเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นการส่วนพระองค์ก่อน ปรากฏว่าได้รับผลดีมีผู้นิยมเรียนกันมาก ทั้งภิกษุสามเณรบวชใหม่และภิกษุสามเณรเก่า และแพร่หลายไปถึงภิกษุสามเณรในวัดอื่นๆ ด้วย จึงทรงเห็นว่า การศึกษาปริยัติธรรมในภาษาไทยเท่านั้นที่จะช่วยให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้ธรรมวินัยได้สะดวกขึ้น และสามารถจัดให้แพร่หลายไปได้ทั่วทั้งในกรุงทั้งในหัวเมือง ฉะนั้น จึงได้ทรงนำเอาแนวพระดำริที่ทรงจัดขึ้นในวัดบวรนิเวศวิหารนั้น มาจัดเป็นหลักสูตรองค์ของสามเณรรู้ธรรม และทรงพระดำริจะจัดการเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยอย่างที่ทรงจัดเป็นหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมนั้น ให้ลุ่มลึกกว้างขวางขึ้นโดยลำดับเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต้นหรือนวกภูมิ ชั้นกลางหรือชั้นมัชฌิมภูมิ และชั้นสูงหรือชั้นเถรภูมิ ทั้งจะจัดการศึกษาธรรมวินัยในภาษาไทยดังกล่าวให้เชื่อมโยงกับการศึกษาปริยัติธรรมในมคธภาษาที่มีมาแต่เดิมด้วย
องค์นักธรรม
ด้วยพระดำริดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้นใหม่ โดยจัดเป็น ๒ อย่าง ตามแนวพระดำริดังกล่าวแล้ว คือ
(๑) อย่างสามัญ แบ่งเป็น ๒ ประโยค
ก. ประโยค ๑ ธรรมวิภาค กับเรียงความแก้กระทู้ธรรม ไม่ต้องชักที่มา
ข. ประโยค ๒ พุทธประวัติย่อ กับเรียงความแก้กระทู้ธรรม ชักที่มาในหนังสือไทย
(๒) อย่างวิสามัญ แบ่งเป็น ๒ ประโยค
ก. ประโยค ๑ เพิ่มอรรถกถาธรรมบท มีแก้อรรถด้วย
ข. ประโยค ๒ เพิ่มบาลีไวยากรณ์และสัมพันธ์
อย่างสามัญ จะจัดทั่วไปเป็นแบบเดียวกันทั้งในกรุงในหัวเมือง ผู้สอบได้อย่างสามัญเพียงประโยค ๑ ได้รับยกเว้นเกณฑ์ทหาร สอบได้ทั้ง ๒ ประโยค เป็นนักธรรม ๒ ประโยค
อย่างวิสามัญ จะจัดเฉพาะในกรุงเทพฯ ผู้สอบได้อย่างวิสามัญทั้ง ๒ ประโยค ได้เป็นเปรียญธรรม ๒ ประโยค เทียบเปรียญปริยัติ (คือเปรียญบาลี) ๓ ประโยค (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๑๙-๑๒๔.)
หลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมที่ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ อนุญาตให้สอบได้ทั้งภิกษุและสามเณร และทรงคาดหวังว่า “ถ้าจัดอย่างนี้ การเรียนธรรมของภิกษุสามเณรจะเจริญทั้งในกรุงทั้งในหัวเมือง จะได้ผู้มีความรู้ช่วยกิจพระศาสนาอีกมาก จัดการเรียนเฉพาะแต่ในมคธภาษา ถึงเป็นหลักก็จริง แต่แคบ ความรู้อันนี้ไม่แพร่หลายไปในหัวเมือง ภิกษุสามเณรในหัวเมืองไม่ได้เรียนในทางนี้แล้วยังซ้ำไม่ได้เรียนในทางอื่นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงหาพระสมควรเป็นเจ้าอาวาส เป็นอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะได้เป็นอันยาก แต่ผู้ทำหน้าที่เหล่านี้จำต้องมี เมื่อจัดสอนความรู้สามัญในหัวเมืองขึ้นแล้ว คงเปลื้องความขัดข้องข้อนี้ไปได้มาก เพียงแต่เท่าที่จัดมาแล้ว ยังให้ผลดีเห็นปรากฏอยู่ ถ้าได้จัดขยายออกไป ก็คงได้ประโยชน์มากออกไป” (เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.)
หลักสูตรที่ทรงปรับปรุงขึ้นใหม่นี้เรียกว่า “องค์นักธรรม” ได้รับพระบรมราชานุมัติ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ ภิกษุที่สอบองค์นักธรรมอย่างวิสามัญได้ทั้ง ๒ ประโยค ซึ่งเรียกว่า เปรียญธรรม ๒ ประโยคนั้น ต้องสอบวินัยบัญญัติในนวโกวาทได้ด้วย จะได้รับพระราชทานพัดอย่างเดียวกับเปรียญปริยัติ หรือเปรียญบาลี ๓ ประโยค สำหรับสามเณรที่สอบได้ชั้นนี้ ต้องรอไว้จนอุปสมบทแล้วและสอบวินัยบัญญัติได้แล้ว จึงจะได้รับพระราชทานพัด
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดให้เพิ่มคิหิปฏิบัติเข้าไปในส่วนของธรรมวิภาคด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้สอบได้องค์นักธรรม แล้วจำจะต้องสึกออกไปครองชีวิตฆราวาสมากยิ่งขึ้น (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗. หน้า ๔๔๗.)
ระเบียบการสอบองค์นักธรรม
องค์สามเณรรู้ธรรมและองค์นักธรรมที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพระดำริจัดขึ้นนั้น นอกจากทรงจัดหลักสูตรแล้ว ยังได้ทรงกำหนดระเบียบการสอบ ซึ่งประกอบด้วย จำนวนข้อปัญหา วิธีการเขียนตอบปัญหา วิธีการตรวจ วิธีการให้คะแนน การตัดสินได้-ตก ไว้อย่างละเอียด ซึ่งขอนำมาบันทึกไว้ ดังนี้
“๑. จะมีกรรมการเป็นผู้สอบ อย่างน้อย ๓ รูป
๒. หลักสูตรสำหรับสอบ คือ
ก. แปลมคธเป็นไทย ใช้อรรธกถาธรรมบท เขียน (แต่ในคราวต้นแปลด้วยปากก็ได้) ประมาณ ๒ หน้าสมุดพิมพ์
ข. เขียนตอบปัญหาธรรมวิภาคในนวโกวาท ๒๑ ข้อ ข้อนี้เป็นพิเศษ
ค. เรียงความแก้กระทู้ธรรมในพุทธศาสนสุภาษิต ๑ ข้อ ตามแต่จะเรียงได้อย่างไร แม้ข้อนี้ก็เป็นพิเศษ
๓. วิธีตรวจนั้น ดังนี้
ก. ประโยคแปล เป็นแต่อ่านดูเท่านั้น ไม่มีลดคะแนน (ถ้าแปลปากก็ฟัง ไม่มีทัก) แล้วลงสันนิษฐานว่า ใช้ได้หรือไม่ได้
ข. ตอบปัญหาธรรมวิภาค ยอมให้ผิดได้ ๖ ข้อเต็ม หรือให้คะแนน ๘๔ ผิดข้อหนึ่งลด ๑๔ คะแนน ผิดกึ่งข้อลด ๗ บกพร่องเล็กน้อย แบ่งลดลงมาตามควร หมดคะแนนเป็นใช้ไม่ได้ ยังเหลือจึงใช้ได้
ค. เรียงความแก้กระทู้ธรรม อ่านตรวจแล้วลงสันนิษฐาน
๔. ในประโยคอันหนึ่งๆ กรรมการทั้งนั้นหรือโดยมาก เห็นว่าใช้ได้ จัดเป็นได้ เห็นว่าใช้ไม่ได้ จัดเป็นตก
๕. ผู้เข้าสอบจะสอบเพียงแปลมคธก็ได้ แต่ถ้าตก เป็นอันตกทีเดียว ถ้าได้ ต้องสอบสามเณรานุสิกขา ตอบข้อถามด้วยปากกว่าจะได้ จัดเป็นชั้นตรี
๖. ถ้าสอบทั้งสามข้อ ตกแปลมคธ แต่ได้ธรรมวิภาคและเรียงความรวม ๒ อย่าง จัดเอาเป็นได้ชั้นตรีเหมือนกัน
๗. ถ้าแปลมคธได้แล้ว ได้ธรรมวิภาคหรือเรียงความเพิ่มขึ้น ๑ อย่าง รวมเป็น ๒ อย่าง จัดเป็นชั้นโท
๘. ถ้าแปลมคธได้แล้ว ได้ทั้งธรรมวิภาคทั้งเรียงความ รวมเป็น ๓ อย่าง จัดเป็นชั้นเอก
๙. ผู้เข้าสอบทั้ง ๓ อย่าง ไม่ต้องสอบสามเณรานุสิกขา” (ประมวลพระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส การศึกษา. ในงานมหาสมณานุสรณ์ครบ ๕๐ ปีแต่วันสิ้นพระชนม์ฯ พ.ศ. ๒๕๑๔. หน้า ๒๐๕-๒๐๖.)
สำหรับวิธีการให้คะแนนโดยวิธีเฉลี่ยคะแนนนั้น ได้ทรงตั้งเกณฑ์การเฉลี่ยคะแนนไว้ ดังนี้
“๑. ความรู้อย่างหนึ่ง มีกรรมการตรวจ ๓ รูป อย่างน้อยให้ ๒ รูป จึงเป็นอันได้ ตามนัยนี้ จัดคิดเฉลี่ยคะแนนตามความรู้ที่สอบอย่างละ ๒ คะแนน ถ้ามีคะแนนได้เท่านั้นหรือยิ่งกว่านั้น จึงเป็นอันได้ หย่อนกว่านั้นเป็นอันตก ตัวอย่างเช่น สอบคราวนี้ ความรู้ที่สอบ ๓ อย่าง ๖ คะแนนเป็นอย่างน้อย จึงเป็นอันได้ เช่น ได้ธรรมวิภาค ๓ คะแนน วินัยบัญญัติ ๓ คะแนน ตกเรียงความทั้ง ๓ คะแนน ก็ยังเป็นใช้ได้ ถ้าได้ธรรมวิภาค ๓ คะแนน วินัยบัญญัติ ๒ คะแนน เรียงความต้องตกเพียง ๒ คะแนน ได้ ๑ จึงเป็นใช้ได้ ถ้าตกทั้ง ๓ เป็นอันตก ถ้าได้ธรรมวิภาคและวินัยบัญญัติเพียงอย่างละ ๒ คะแนน ต้องได้เรียงความด้วยอย่างน้อย ๒ คะแนน จึงจะใช้ได้
๒. การคิดเฉลี่ยคะแนนนี้ จักคิดเฉพาะความรู้ที่สอบในคราวเดียวกัน ประโยคที่ส่งขอให้ตรวจก็ดี ที่ได้ไว้ในสนามคราวหลังก็ดี จะมาเอาคิดเฉลี่ยด้วยไม่ได้ เช่น สามเณรได้องค์นักธรรมประโยค ๑ ไว้แล้ว คือได้เรียงความกับธรรมวิภาคแล้ว ครั้นอุปสมบทเป็นภิกษุขึ้น ต้องเข้าสอบวินัยบัญญัติเพิ่ม เช่นนี้ต้องเป็นประโยคที่ได้ คือได้อย่างน้อย ๒ คะแนนจึงใช้ได้” (เล่มเดียวกัน, หน้า ๒๙๘-๒๙๙.)
สำหรับวิธีการตัดคะแนนหรือลดคะแนน ก็ได้ทรงกำหนดเกณฑ์ไว้ ดังนี้
“ในปัญหาอันหนึ่ง ๆ มีกำหนดว่า ๗ ข้อ ให้ผิดได้ ๒ ข้อ เป็นอย่างมาก ปัญหาหนึ่งมี ๒๑ ข้อ ข้อผิดจึงมีได้ ๖ ข้อ
แต่โดยมาก ตอบไม่ผิดทั้งข้อก็มี เพราะฉะนั้น จึงต้องคิดเป็นคะแนนสำหรับลดข้อหนึ่ง ๑๔ คะแนน ๖ ข้อเป็น ๘๔ คะแนน นี้เป็นทุนเดิม ถ้าต้องลดพอหมดทุน แต่ไม่ต้องเป็นหนี้ จัดเอาเป็นได้ ยิ่งเหลือทุนมากเพียงใดยิ่งดี
ถ้าผิดเต็มข้อลด ๑๔ คะแนน ถ้าผิดไม่เต็มข้อ ถ้าข้อความแบ่งเป็นสองได้ ผิดแต่ในส่วนหนึ่งเช่นนี้ลด ๗ คะแนน ถ้าข้อความแบ่งเป็น ๓ ผิด ๒ ส่วน เช่นนี้เอา ๓ หาร ๑๔ เศษทิ้งเสีย ได้ลัพธ์ ๔ เอา ๒ คูณ เป็น ๘ ลดเพียงเท่านี้ ๑ ใน ๔ หรือ ๓ ใน ๔ ก็เทียบเหมือนดังนี้
วิธีใช้อักษรและคำพูดและเรียงความ สังเกตตามพื้นคน ถ้าไม่ได้เคยเล่าเรียนมา หรือผู้ตรวจเข้าใจว่าเป็นเพราะพลั้งเผลอ ยกให้ ถ้าคนเรียนมีพื้นมา แต่เขลาในที่บางแห่ง เช่นนี้ลดคะแนน ๑ บ้าง ๒ บ้าง ตามน้ำหนักแห่งอักษรหรือถ้อยคำที่ใช้ผิด ทำเปรอะเปื้อนปฏิกูล ผิดวิสัยของคนเขียนหนังสือเป็น ลดแห่งละ ๑ หรือ ๒ ตามน้ำหนักแห่งความเปรอะเปื้อน วางหน้ากระดาษผิด ลด ๕ คะแนน
ถ้าตอบดีได้ความชัดเจน เรียงข้อความกะทัดรัด หรือข้อความเฉียบแหลมเช่นนี้ ควรได้เพิ่มคะแนนเฉพาะข้อนั้นอย่างสูง ๑๔ คะแนนเต็มข้อ ลดลงมาตามสมควรจนถึง ๓ คะแนนเป็นที่สุด คะแนนเพิ่มนี้บวกเข้ากับทุนเดิม สำหรับเป็นทุนเพื่อผิดในข้ออื่นได้มากกว่ากำหนด หรือไว้เป็นทุนเหลือสำหรับได้รับรางวัล
ผู้ที่ควรได้รับรางวัลนั้น ต้องมีคะแนนเหลือกว่าครึ่งขึ้นไป ถ้าไล่คราวหลังๆ ต้องมีคะแนนเหลือมากกว่าผู้ที่ตอบได้รางวัลไว้ในศกนั้นแล้วด้วย” (เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๐๐-๓๐๑.)
ต่อมาได้ทรงปรับปรุงแก้ไขวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกสำหรับสอบความรู้องค์นักธรรมในสนามหลวงเพื่อความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
“คำนึงถึงภิกษุสามเณร ผู้เข้าสอบความรู้องค์นักธรรมในสนามหลวง เราเหนว่ายังเสียเปรียบผู้เข้าสอบตามวัดอยู่ ผู้เข้าสอบตามวัด สอบได้เปนอย่างๆ ครบกำหนดแล้ว ส่งมาขอให้สนามหลวงตรวจ เพื่อรับเปนนักธรรมของสนามหลวงได้ ฝ่ายผู้เข้าสอบในสนามหลวงทีเดียว ความรู้ในประโยคอันเดียว ต้องได้ครบทุกอย่าง แม้ในสนามหลวงเองสอบประโยค ๒ สามเณรผู้ยังไม่ต้องสอบวินัย ยังได้เปรียบภิกษุอยู่ นอกจากนี้ ผู้เข้าสอบบางรูปมีความรู้ดีบางอย่าง กรรมการให้ครบ ๓ คะแนน ได้ชมว่าดีบ้างก็มี เมื่อตกความรู้อย่างอื่น ความรู้ที่ดีนั้นก็เป็นต้องตกไปตามกัน เอามาช่วยความรู้ที่หย่อนไม่ได้ มีประสงค์จะแก้ข้อบกพร่องเหล่านี้ จึงตั้งวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกไว้ดังนี้:
๑. คะแนนสำหรับความรู้อย่างหนึ่งเป็น ๓ ได้เพียง ๒ เป็นให้เฉพาะความรู้อย่างนั้น เสียตั้งแต่ ๒ เป็นไม่ให้ ในประโยคที่สอบความรู้กว่าอย่างหนึ่ง ให้รวมคะแนนได้ตกเฉลี่ยกันได้ เช่นในบัดนี้ องค์นักธรรมประโยค ๑ สอบความรู้ ๒ อย่าง คะแนนได้ตั้งแต่ ๔ ขึ้นไปถึง ๖ ต่างว่าแก้กระทู้ธรรมได้ ๓ คะแนน ตอบปัญหาธรรมวิภาคเสีย ๒ คะแนน ได้แต่เพียงคะแนนเดียว เช่นนี้ รวมทั้งประโยคคงได้ ๔ คะแนน เสีย ๒ คะแนน ประโยคนี้เป็นอันได้ อีกอย่างหนึ่ง ต่างว่าสอบรวมกันทั้ง ๒ ประโยค ความรู้ ๔ อย่าง คะแนนได้ตั้งแต่ ๘ ขึ้นไปถึง ๑๒ ต่างว่าแก้กระทู้ธรรมได้ ๒ คะแนน ตอบปัญหาธรรมวิภาคได้ ๓ คะแนน ตอบปัญหาวินัยได้ ๑ คะแนน ตอบปัญหาพุทธประวัติได้ ๒ คะแนน ทั้งประโยครวมเป็นได้ ๘ คะแนน เป็นใช้ได้
๒. สอบความรู้มากอย่างเข้า ความได้ประโยชน์เพราะเฉลี่ยคะแนนก็มากขึ้น อาจจะทำให้นักเรียนสะเพร่า ไม่เอาใจใส่ในความรู้บางอย่างได้ เช่น สอบความรู้ ๔ อย่างนั้น ได้ ๓ อย่าง ๆ ละ ๓ คะแนน เต็มรวมเป็น ๙ เป็นเกณฑ์ได้อยู่แล้ว อาจจะทำสะเพร่าละเลยความรู้อีกอย่าง ๑ เสีย เพราะฉะนั้นในประโยคใด เสียคะแนนเพราะความรู้อย่าง ๑ เต็ม ๓ เช่นนี้ จะเอาคะแนนสำหรับความรู้อย่างอื่นมาเฉลี่ยด้วยไม่ได้ ประโยคนั้นเป็นอันตก จะเฉลี่ยได้เพราะความรู้มีคะแนนได้อยู่ ๑
๓. ส่วนการสอบความรู้บาลี ของภิกษุสามเณรผู้สอบองค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญได้แล้ว ให้ได้รับเฉลี่ยคะแนนตามนัยนั้น ส่วนของภิกษุสามเณรผู้สอบแต่ลำพังบาลี หรือได้องค์นักธรรมเพียงประโยค ๑ ยังไม่ให้ใช้วิธีเฉลี่ยคะแนน ให้ตรวจได้ตกเฉพาะประโยคไปก่อนกว่าจะได้จัดให้เข้ารูป
เมื่อได้ตั้งวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกขึ้นเช่นนี้แล้ว จึงอนุญาตให้ภิกษุสามเณรผู้สอบองค์นักธรรมประโยค ๑ สามัญ ได้อย่าง ๑ ตกอย่าง ๑ แต่เฉลี่ยคะแนนได้เป็น ๔ ให้เป็นอันได้ประโยคนั้น” (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๒๑-๕๒๓.)
วิธีการเขียนในการสอบ ก็ได้ทรงมีพระอธิบายแนะนำและวางเกณฑ์ไว้อย่างละเอียด ดังนี้
“เมื่อคราวสอบประโยค ๑ ได้ทราบว่าภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบไม่เข้าใจระเบียบในการเขียน ทำให้ช้าเวลาไปมากกว่าที่ควรจะเป็น ในคราวสอบประโยค ๒ นี้ จึงตั้งระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
๑. กระดาษที่เขียนนั้นให้ประทับตรา จะจ่ายให้คราวแรกแต่รูปละ ๑ แผ่น ถ้าไม่พอ ให้ผู้สอบมาขอต่อเจ้าหน้าที่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ จงตรวจดูกระดาษเดิมก่อน เห็นว่าไม่พอด้วยการเขียนโดยปรกติ จึงจ่ายเติมให้อีกคราวละแผ่น ถ้าได้ความว่า กระดาษหมดไป เพราะเอาไปใช้เป็นกระดาษร่างก็ดี เขียนเสียๆก็ดี ให้บอกเรา ถ้าเราไม่อยู่ ให้เรียนพระธรรมวโรดมรองแม่กอง สุดแล้วแต่จะสั่ง ให้งดเสียถือเอาเป็นไม่รู้จักเขียน หรือจะให้จ่ายให้
๒. ถ้ากระดาษไม่ซึมจนอ่านไม่ออก ผู้เข้าสอบจงเขียนทั้งสองหน้า อย่าทำลักลั่นให้เสียระเบียบ ถ้าขืนทำ จะเอาไว้เป็นเครื่องวินิจฉัยตรวจประโยค
๓. คราวนี้ยังจักไม่กำหนดเวลาลงว่าให้เขียนได้กี่นาฬิกา แต่ตั้งให้มีจำกัดไว้ว่า ถ้ามีผู้เข้าสอบเขียนยังไม่แล้ว ๖ รูป ยังเปิดให้เขียนอยู่ ถ้ารูปหนึ่งเขียนแล้วและส่งประโยคเสร็จ เหลือไม่แล้วแต่ ๕ รูป ให้เลิกการเขียน ประโยคของผู้เขียนไม่จบ เราจะตรวจดู ถ้าเหลือแต่เล็กน้อย จะส่งให้กรมการตรวจ ถ้าเหลือมาก จะตัดสินว่าเขียนไม่ทัน เอาเป็นตก เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เข้าสอบควรรีบเขียน พึงตั้งใจแล้วก่อนเหลือ ๖ รูป
๔. เขียนเสร็จแล้วจะตรวจประโยค ให้เวลาอย่างช้า ๑๕ มินิต พ้นนั้นต้องส่งแก่เจ้าหน้าที่ ห้ามมิให้นั่งอยู่ต่อไป
เจ้าหน้าที่และผู้เข้าสอบ จงทำตามระเบียบที่จัดให้ไว้นี้” (ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา, หน้า ๒๑๒-๒๑๓.)
การสอบองค์นักธรรมนั้น ให้มีการสอบพักเป็นประโยคได้ คือจะสอบทีละประโยค หรือจะสอบทีเดียว ๒ ประโยคก็ได้ เมื่อสอบได้ครบทั้ง ๒ ประโยค จึงนับว่าเป็นนักธรรมชั้นนั้น ๆ
จากพระอธิบายในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวมาแต่ต้นจะเห็นได้ว่า แนวพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ในการจัดตั้งหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรม ซึ่งต่อมาทรงปรับปรุงเป็นองค์นักธรรมนั้นสรุปได้ว่า
หลักสูตร คือเรื่องที่กำหนดให้ภิกษุสามเณรเรียนนั้น คือธรรม ได้แก่คำสอนของพระพุทธศาสนา ตำนาน คือประวัติหรือความเป็นมาของพระพุทธศาสนา วินัยบัญญัติ คือสิกขาบทที่ภิกษุสามเณรจะพึงรู้และพึงปฏิบัติ เรียงความแก้กระทู้ธรรม คือการหัดอธิบายธรรมให้คนอื่นเข้าใจอย่างมีที่ไปที่มา อันเป็นการฝึกการเทศนาสำหรับที่จะสั่งสอนคนอื่นต่อไป การแปลท้องนิทานในธรรมบท ก็เพื่อให้สามารถอ่านภาษาบาลีได้ตามควรแก่ภูมิชั้นของตน
วัตถุประสงค์ของหลักสูตรก็คือ เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในพระพุทธศาสนาทั้งในด้านคำสอนประวัติความเป็นมา และสิกขาวินัยที่จะต้องปฏิบัติ ตลอดถึงสามารถอธิบายสั่งสอนผู้อื่นในเรื่องของพระพุทธศาสนาได้ตามควรแก่ชั้นภูมิชั้นของตน
ส่วนวิธีการสอบความรู้ ก็ใช้วิธีการเขียนและตรวจโดยวิธีการให้คะแนน ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการใหม่ที่ทรงพระดำริขึ้นในวงการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย เพราะในครั้งนั้น การสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวง ที่เรียกว่าการแปลพระปริยัติธรรมยังใช้วิธีการสอบด้วยการแปลปาก (เลิกการสอบพระปริยัติธรรมด้วยวิธีแปลปาก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘) สำหรับเวลาในการสอบ ในระยะแรกยังไม่ทรงกำหนดเวลาเป็นชั่วโมง เพราะทรงเห็นว่าภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบส่วนมากยังไม่ชำนาญในการเขียนหนังสือจึงทรงกำหนดเอาจำนวนผู้สอบเป็นเกณฑ์ คือยังมีผู้นั่งสอบอยู่ ๖ รูป ถือว่ายังไม่หมดเวลา ต่อเมื่อมีผู้นั่งสอบอยู่ไม่ถึง ๖ รูป ถือว่าหมดเวลาเขียน และหลังจากเขียนเสร็จแล้ว ให้นำส่งกรรมการสอบอย่างช้าไม่เกิน ๑๕ นาที
หลักสูตรและวิธีการเรียนการสอบที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงกำหนดขึ้นเป็นหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรม และต่อมาทรงปรับปรุงเป็นหลักสูตรองค์นักธรรมดังกล่าวนี้ นับเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมแบบใหม่ที่ทรงพระดำริขึ้น ซึ่งเป็นแนวพระดำริที่สืบเนื่องมาจากวิธีเล่าเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยที่ได้ทรงพระดำริทดลองใช้ขึ้นในสำนักวัดบวรนิเวศวิหารก่อนเป็นครั้งแรก แต่เมื่อแรกทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาก็ทรงนำมาปรับปรุงใช้กับหลักสูตรการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ (หลักสูตรพระปริยัติธรรมแบบมหามกุฏราชวิทยาลัย เลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓) การศึกษาพระปริยัติธรรมแบบใหม่ที่ทรงพระดำริขึ้นนี้ ในระยะแรกแพร่หลายอยู่เฉพาะในวัดธรรมยุตทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมือง ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้ธรรมวินัยง่ายขึ้น เพราะภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาบาลี ฉะนั้น เมื่อได้รับพระบรมราชานุมัติให้จัดตั้งหลักสูตรองค์นักธรรมขึ้นดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงเห็นเป็นทางที่จะส่งเสริมการศึกษาธรรมวินัยให้แพร่หลายไปสู่ภิกษุสามเณรทั่วไปในระดับนวกะ ระดับมัชฌิมะ และระดับเถระ ดังที่ได้ทรงมีพระปรารภไว้แต่เบื้องต้น และจากแนวพระดำริดังนี้เอง จึงได้ทรงพัฒนาหลักสูตรองค์นักธรรมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็น ๓ ชั้น เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก โดยแต่ละชั้นกำหนดหลักสูตรเป็นแนวเดียวกันและศึกษาต่อเนื่องกัน แต่มีความละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามภูมิชั้น
นักธรรมชั้นตรี
จากพระดำริที่จะส่งเสริมการศึกษาธรรมวินัยให้แพร่หลายไปสู่ภิกษุสามเณรอย่างทั่งถึงทุกระดับชั้นดังกล่าวแล้ว พ.ศ. ๒๔๕๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยรวมองค์นักธรรมประโยค ๑ และประโยค ๒ เข้าด้วยกันเป็น “นักธรรมชั้นตรี” และกำหนดหลักสูตรสอบความรู้ภิกษุสามเณรเป็น ๔ อย่างคือ
- เรียงความแก้กระทู้ธรรม
- ธรรมวิภาค
- ตำนาน (พุทธประวัติ)
- วินัยบัญญัติ
สำหรับสามเณร เว้นวินัยบัญญัติไว้ก่อนจนกว่าอุปสมบทแล้วจึงสอบวินัยบัญญัติ และการสอบไม่มีการพักเป็นประโยค ๑ ประโยค ๒ ดังแต่ก่อน สอบพร้อมกันทั้ง ๒ ประโยค ได้ตกพร้อมกันทั้ง ๒ ประโยค (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑, หน้า ๕๒๕.)
และในศกเดียวกันนี้ ทรงจัดหลักสูตรเปรียญบาลี ๓ ประโยคเข้ากับองค์นักธรรมประโยค ๒ เป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ทั้งนี้โดยทรงมีพระปรารภว่า “การสอบความรู้บาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ให้แปลธัมมปทัฏฐกถาเป็นความไทยอย่างเดียวกันทั้ง ๓ ประโยค ไม่ค่อยจะได้เปรียญมีความรู้ดี เพราะผู้เข้าสอบโดยมากด้วยกันไม่รู้จักสัมพันธ์และไม่แตกฉานในทางไวยากรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเรียนบาลีจึงตกต่ำ” (เล่มเดียวกัน, หน้า ๕๒๖.)
จากพระปรารภดังกล่าวแล้ว จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแก้ไขหลักสูตรเปรียญบาลี ๓ ประโยค ให้คงแปลธัมมปทัฏฐกถา เพียงประโยคเดียว อีก ๒ ประโยคนั้น เปลี่ยนเป็นสอบความรู้สัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้จักชักศัพท์เชื่อมถึงกัน ประโยค ๑ สอบความรู้บาลีไวยากรณ์ ส่วนวจีวิภาค เพื่อเข้าใจยกศัพท์ ประโยค ๑ วิธีสอบสัมพันธ์ จักวางแบบให้ไว้ ส่วนวิธีการสอบไวยากรณ์เคยกันมาแล้วฯ ทั้ง ๓ นี้ รวมเป็นหลักสูตรบาลี เป็นองค์อันหนึ่งของเปรียญธรรมชั้นตรีฯ (เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน) และ
ภิกษุสามเณรที่จะสอบบาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ต้องสอบได้องค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญมาก่อนแล้ว เมื่อสอบบาลีได้อีกองค์หนึ่ง จักเป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ได้แก่ นวกภูมิ หรือเรียกนับประโยคว่า เปรียญธรรม ๓ ประโยค ก็ได้ฯ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๕๒๗.)
เปรียญธรรมชั้นตรี หรือเปรียญธรรม ๓ ประโยคนี้ เรียกย่อว่า “ป.ธ. ๓” หลักสูตรนักธรรมชั้นตรีและเปรียญธรรมชั้นตรี ที่ทรงปรับปรุงใหม่นี้ เริ่มสอบตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา
ข้อสังเกต คำว่า “เปรียญ” ใช้เรียกผู้สอบบาลีได้ตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมที่มีมาแต่โบราณ แต่ต้องสอบได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป บางทีเรียกว่า “เปรียญปริยัติ” หรือ “เปรียญบาลี” ต่อมาเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงจัดหลักสูตรบาลีเชื่อมโยงกับหลักสูตรองค์นักธรรม คือผู้จะสอบบาลีต้องสอบนักธรรมได้ก่อนดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น ผู้ที่สอบบาลีได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา จึงเรียกว่า “เปรียญธรรม” ฉะนั้นคำว่า เปรียญธรรม จึงมีความหมายเท่ากับเปรียญบาลี บวก นักธรรม เป็นเปรียญธรรม
และเรียกย่อว่า ป.ธ. ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา
หลักสูตรนักธรรม ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงจัดขึ้นนั้น ได้รับความนิยมจากภิกษุสามเณรอย่างรวดเร็วและแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง เพียง ๒ ปีแรกที่จัดสอบ ก็มีภิกษุสามเณรสมัครเข้าสอบในสนามหลวงจำนวนเกือบพันรูป ในปีต่อ ๆ มา จึงโปรดให้มีการจัดสอบขึ้นในสนามมณฑลต่าง ๆ ด้วย ส่วนในกรุงเทพฯ ก็มีการจัดสอบในสนามวัดต่าง ๆ ด้วย เพื่อบรรเทาความแออัดในการสอบ ภิกษุสามเณรที่สอบได้ในสนามวัดหรือสนามมณฑลมีความรู้เข้าเกณฑ์ของสนามหลวง สนามหลวงก็รับโอนเป็นนักธรรมของสนามหลวง ต่อมาทรงกำหนดให้มีการสอบสนามวัดก่อนที่จะส่งเข้าสอบสนามหลวง ต่อเมื่อสอบผ่านสนามวัดนั้น ๆ ได้แล้ว จึงทรงอนุญาติให้ส่งเข้าสอบในสนามหลวง ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้ผู้มีความรู้ไม่ถึงขั้นเข้าสอบในสนามหลวง อันเป็นการเพิ่มภาระให้แก่สนามหลวงโดยไม่จำเป็น
การสอบองค์นักธรรมและนักธรรมชั้นตรีในระยะแรกนั้น สามเณรต้องมีอายุ ๑๙ ปีขึ้นไป จึงอนุญาติให้เข้าสอบได้
สำหรับการสอบนักธรรมชั้นตรี สอบโดยวิธีเขียน (ขณะนั้นการสอบพระปริยัติธรรม หรือสอบบาลีสนามหลวงยังใช้วิธีแปลปากอยู่) ข้อสอบแต่ละวิชามี ๒๑ ข้อ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงลดลงมาเป็น ๑๔ ข้อ (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. คณาจารย์มหามกุฏราชวิทยาลัย (เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม), หน้า ๑๓๙.) ส่วนกำหนดเวลาสอบในระยะแรกยังไม่มีการกำหนดเวลาเป็นชั่วโมง แต่กำหนดว่า ถ้ายังมีผู้นั่งสอบอยู่ด้วยกัน ๖ รูป ยังไม่หมดเวลา ต่อมาแก้ไขเป็น ถ้ายังมีผู้สอบเหลืออยู่ด้วยกัน ๓ รูป ถือว่ายังไม่หมดเวลา (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗ หน้า ๕๒๘.) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา จึงมีการกำหนดเวลาสอบเป็นชั่วโมง คือ ๓ ชั่วโมงครึ่ง (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. หน้า ๑๓๙.)
นักธรรมชั้นโท
การศึกษานักธรรม ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้นได้รับความนิยมและแพร่หลายไปในหมู่ภิกษุสามเณรอย่างรวดเร็ว ทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ มีการเรียนการสอบกันอย่างกว้างขวาง ทายกทายิกาในถิ่นนั้น ๆ ก็พลอยยินดีและให้ความอุปถัมภ์บำรุงการสอบนักธรรมกันอย่างครึกครื้น บางแห่งทายกทายิกามาประชุมดูการเรียนการสอบนักธรรมกันอย่างเนืองแน่น
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพระดำริว่า “บัดนี้ประโยคนักธรรมชั้นตรีภูมินวกะ สำหรับภิกษุใหม่หย่อน ๕ พรรษา จัดขึ้นสำเร็จแล้ว การเรียนชั้นนี้แพร่หลาย เป็นพื้นวัดที่เป็นสำนักเรียนใหญ่ ๆ แล้ว สมควรจะจัดประโยคนักธรรมชั้นโทภูมิมัชฌิมะ สำหรับภิกษุปานกลางพ้นพรรษา ๕ แล้ว แต่ยังไม่ถึง ๑๐ พรรษาในลำดับไป จึงกำหนดตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโทภูมิมัชฌิมะไว้ดังนี้
๑. เรียงความแก้กระทู้ธรรม ชักภาษิตในที่อื่นมาอ้างไว้ด้วย ต้องเชื่อมความกันให้สนิท
๒. แก้ปัญหาธรรมวิภาคพิสดารออกไป
๓. แก้ปัญหาอนุพุทธประวัติ คือตำนานแห่งสาวก
๔. แก้ปัญหาวินัยบัญญัติพิสดารออกไป” (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔ พ.ศ. ๒๔๕๙ หน้า ๔๖๖.)
ในขณะที่ตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโทนั้น หนังสือสำหรับหลักสูตรบางเรื่องยังทรงแต่งไม่เสร็จ จึงใช้หนังสือต่าง ๆ เป็นหลักสูตร ดังนี้
- หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต สำหรับเรียงความแก้กระทู้ธรรม
- หนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ ๒ สำหรับปัญหาธรรมวิภาค
- หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ ตอนกล่าวประวัติพระสาวก สำหรับปัญหาอนุพุทธประวัติ
- หนังสือวินัยมุขเล่ม ๒ สำหรับปัญหาวินัยบัญญัติ
นักธรรมชั้นโท สอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ และทรงกำหนดว่า เปรียญธรรมชั้นตรี (ประโยค ๓) จะเข้าสอบบาลีประโยค ๔ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นต้นไป ต้องสอบองค์นักธรรมชั้นโท คือเรียงความแก้กระทู้ธรรมกับธรรมวิภาคได้ก่อน และเมื่อจะสอบบาลีประโยค ๕ จะต้องสอบอนุพุทธประวัติและวินัยบัญญัติได้ก่อน ถ้าเป็นสามเณรยกวินัยบัญญัติไว้ก่อนจนกว่าจะอุปสมบทแล้ว จึงสอบวินัยบัญญัติ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๔๖๘.)
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นไป ทรงพระอนุญาตให้สอบนักธรรมชั้นตรีในสำนักเรียนใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ตลอดถึงในสนามมณฑลด้วย โดยกำหนดให้มีกรรมการสนามหลวง ๓ รูป ไปดำเนินการสอบร่วมกับกรรมการประจำสำนักเรียนที่ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ข้อสอบในแต่ละสนาม ให้กรรมการจากสนามหลวง ๓ รูปเป็นผู้ออก กรรมการประจำสำนักเรียนจะร่วมออกข้อสอบด้วยก็ได้ และให้ออกข้อสอบได้รูปละไม่เกิน ๑ วิชา ผู้สอบได้ในสนามวัดและสนามมณฑลดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นนักธรรมสนามหลวงเช่นกัน และอนุญาตให้เข้าสอบนักธรรมชั้นโทต่อไปได้ (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๖๐ หน้า ๓๔๘.)
และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นไป อนุญาตให้สามเณรสอบวินัยบัญญัติไปพร้อมกันได้ทั้งในนักธรรมชั้นตรี และในนักธรรมชั้นโท แต่จำแต่ยังจำกัดอายุสามเณรผู้จะสอบนักธรรมอยู่ว่าต้อง ๑๙ ปีขึ้นไป (เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๕๐.) (แต่ไม่จำกัดอายุสำหรับสามเณรที่เข้าสอบบาลี)
ข้อแนะนำเกี่ยวกับนักธรรมชั้นโท
โดยที่ทรงเห็นว่า นักธรรมชั้นโทต้องศึกษาในเรื่องของธรรม ตำนาน (คืออนุพุทธประวัติ) วินัยบัญญัติ รวมทั้งการเรียงความแก้กระทู้ธรรม ละเอียดลุ่มลึกขึ้นยิ่งกว่านักธรรมชั้นตรี ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่เข้าใจในการเรียนการสอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงได้ทรงประทานพระอธิบายแนะนำ ในวิธีการเรียนการสอบ สำหรับทั้งครูและกรรมการผู้สอบ และสำหรับนักเรียนผู้จะต้องสอบ ไว้อย่างละเอียด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเรียนการสอบตามภูมิชั้นแห่งการศึกษานักธรรมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ พระอธิบายแนะนำดังกล่าวนี้ ยังแสดงให้เห็นแนวพระดำริในการศึกษาธรรมวินัยว่า ควรสังเกตศึกษา และควรทำความเข้าใจในประเด็นใด ในแง่มุมใดบ้าง จึงจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างถ่องแท้ จึงนับว่าเป็นพระอธิบายแนะนำที่มีประโยชน์ไม่เฉพาะแก่ผู้ศึกษานักธรรมเท่านั้น ฉะนั้น จึงได้นำมาบันทึกไว้ในที่นี้ด้วย ดังนี้
คำแนะนำหัวข้อแต่งปัญหาธรรมวิภาค
(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๓๘๕.)
๑. ให้รู้จักถือเอาความเข้าใจข้อธรรมอันย่อ เช่น อัตตสัมมาปณิธิ ทำอย่างไรเรียกว่าตั้งตนไว้ชอบ
๒. ให้รู้จักสังเกตว่าธรรมชื่อนั้น เช่น ศรัทธา วิริยะ ปัญญา มาในประเภทแห่งธรรมชื่ออะไรบ้าง
๓. ให้รู้จักสังเกตศัพท์ว่า ศัพท์นั้นเป็นชื่อแห่งธรรมอย่างนั้นบ้าง เช่น อินทรีย์เป็นชื่อของทวารมีจักษุเป็นต้นก็มี เป็นชื่อของธรรมมีศรัทธาเป็นต้นก็มี
๔. ให้รู้จักสันนิษฐานว่า ธรรมนั้นได้ชื่ออย่างนั้น เพราะอรรถอย่างไร เช่น ธรรมได้ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่ในกิจของตน ๆ
๕. ให้รู้จักสังเกตว่า ธรรมชื่อเดียวเรียกเป็นหลายอย่างก็มี เช่นจักษุ เรียกว่าอายตนะภายในก็ได้ เรียกว่าอินทรีย์ก็ได้ เรียกว่าทวารก็ได้
๖. ให้รู้จักใช้ความจำ เช่น ถามถึงประเภทธรรมชื่อนั้น มีเท่าไร อะไรบ้าง และยกขึ้นแต่ลำดับข้อ เช่น อปริหานิยธรรมข้อ ๔ อย่างไร จึงเป็นที่ตั้งแห่งความเจริญ
๗. ให้รู้จักถือเอาความตรงกันข้าม เช่น ทางชอบมีแล้ว อย่างไร เป็นความผิด
๘. ให้รู้จักวางบทตัดสิน เช่น การบนต่อวัตถุศักดิ์สิทธิ์ ในพระพุทธศาสนาอนุมัติหรือไม่ มีธรรมข้ออะไรเป็นเครื่องอ้าง
๙. ให้รู้จักสันนิษฐานความให้เข้าหลัก เช่น ปฏิรูปเทศในจักร ๔ อาจอธิบายไปได้หลายทาง แต่ในที่นี้ มีสัปปริสูปสังเสโวอยู่ในลำดับ แก้ว่าประเทศมีสัตบุรุษอยู่ เป็นปฏิรูปเทศ
๑๐. ให้รู้จักโยงข้อธรรมในประเภทเดียวกันให้เนื่องถึงกัน เช่น วุฒิ ๔ เป็นอาทิ
๑๑. ให้รู้จักลักษณะต่างแห่งธรรมอันแม้นกัน เช่น สติกับสัมปชัญญะ
คำแนะนำหัวข้อแต่งปัญหาวินัยบัญญัติ
(เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๘๖.)
๑. ให้รู้จักสังเกตคำถามว่า ระบุลักษณะมีเจตนาเป็นต้น ชัดหรือเคลือบคลุม เช่น ถามว่าภิกษุดื่มน้ำมีตัวสัตว์ต้องอาบัติอะไร เช่นนี้เป็นคำถามอันเคลือบคลุม ไม่ได้ระบุเจตนา และไม่ได้ระบุชนิดสัตว์ อันจะปรับเป็นปาจิตติยได้ ต่อเมื่อได้ความว่าเป็นสัตว์ที่อาศัยน้ำ และภิกษุรู้อยู่ว่าในน้ำนั้นมีสัตว์ชนิดนั้น
๒. ให้รู้จักเทียบเคียงสิกขาบทอันละม้ายกัน มีอนิยตะสองเป็นตัวอย่าง
๓. ให้รู้จักสังเกตว่า การบางอย่าง เป็นวัตถุแห่งอาบัติหลายชนิด เช่น มุสาวาทเป็นตัวอย่าง
๔. ให้รู้จักสังเกตว่า บางสิ่งบางอย่าง กล่าวในหลายสิกขาบท เช่น การทำจีวร เป็นเหตุให้ได้รับยกเว้นต่าง ๆ
๕. ให้รู้จักใช้ความจำ เช่น ลำดับแห่งสิกขาบทเป็นต้น
๖. ให้รู้จักยันหลักของตนให้มั่น อย่าให้น้อมใจไปตามคำถาม
๗. ให้รู้จักวางบทตัดสิน
๘. ให้รู้จักสันนิษฐานความให้เข้าหลัก เช่น อย่างไรเป็นมุสาวาท อย่างไรเป็นฆ่าสัตว์
๙. ให้รู้จักสันนิษฐานการทำว่าถึงที่สุดหรือยัง
๑๐. ให้รู้จักความมุ่งหมายเป็นเหตุบัญญัติสิกขาบท
๑๑. ให้รู้จักกำหนดสิกขาบทอันยังเป็นสมมุ่งหมาย หรืออันกลายไปเสียแล้ว
คำแนะนำในการเรียงความ
แก้กระทู้ธรรมประโยค น.ธ. โท
(เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๘๗.)
ต้องชักที่มาเชื่อมความให้สนิท อย่างน้อย ๓ แห่ง จากหนังสือต่างชื่อ ๆ หนังสือที่ชักมานั้น ไม่ต่างกันทั้งสามชื่อก็ได้ เป็นแต่อย่าอ้างหนังสือชื่อเดียวซ้ำติด ๆ ติดกันทั้ง ๓ หน หรือ ๒ หน ถ้าจักอ้างหนังสือซ้ำชื่อ ต้องอ้างสลับชื่อ เช่น อ้างพุทธศาสนสุภาษิตแล้ว ต้องอ้างอื่น ต่างว่าอรรถกถาธรรมบท แต่นั้น จึงอ้างพุทธศาสนสุภาษิตได้อีก
คำแนะนำในวินัยบัญญัติ
(เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๗๙.)
๑. พึงพิจารณาคำในสิกขาบท และทุกข์เข้าใจความแห่งคำนั้น เช่นคำว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม พูดปด ฆ่าสัตว์ คำเหล่านี้ บางคำก็บ่งเจตนาอยู่ในตัว บางคำก็ไม่บ่น
๒. พึงรู้ความประสบแห่งการตั้งสิกขาบท เช่น ห้ามพูดมุสา ห้ามปิดหรือเปิดอาบัติ ห้ามไม่ให้เทน้ำมีตัวสัตว์ลงดินหรือหญ้า
๓. พึงกำหนดเจตนา สิกขาบทบางอย่างต่อมีเจตนาและทำฝ่าฝืน จึงเป็นอันล่วง สิกขาบทบางอย่างไม่บ่งเจตนา เช่นนี้สักว่าทำ ก็เป็นอันล่วง เจตนาจะพึงกำหนดรู้ด้วยคำว่า แกล้งรู้อยู่เป็นต้น บางคำก็บ่งเจตนาอยู่ในตัวเช่นพูดปด บางคำไม่บ่งเช่นดื่ม
๔. พึงกำหนดองค์ของสิกขาบทว่ามีเท่าไรและอย่างไรบ้าง เช่น อทินนาทานวัตถุอันมีราคา ๕ มาสก เป็นองค์ของปาราชิก ขอจีวรต่อคฤหัสถ์ อันเป็นปาจิตตีย์ คฤหัสถ์นั้นไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ไม่มีสมัย ไม่ลาภิกษุเข้าบ้านในวิกาล เฉพาะภิกษุมีในอาราม และไม่มีกิจรีบ
๕. พึงเทียบสิกขาบทอันมีความคล้ายคลึงกันเช่นสังฆาทิเสสที่ ๖ กับที่ ๗ โภชนวรรคที่ ๙ แห่งปาจิตีย์ และโภชนปฏิสังยุตต์ที่ ๑๑ แห่งเสขิยวัตรและรโหนิสัชชะ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตตีย์ นี้รู้ได้ด้วยเทียบเคียง
๖. พึงสังเกตสิกขาบทที่น่าเห็นว่าแย้งกัน เช่น จีวรวรรคที่ ๑ กับที่ ๓ แห่งนิสสัคคีย์และมุสาวาทวรรคที่ ๙ กับสัปปาณวรรคที่ ๔
๗. พึงใส่ใจลำดับแห่งสิกขาบท และหัวข้อแห่งประเภทต่าง ๆ เช่น โภชนะ ๕ อธิกรณ ๔
ไม่เช่นนั้นมักจำไม่ได้ครบ ตกหล่นในระหว่าง ๆ และนึกถึงไม่คล่อง
๘. พึงอ่านหนังสืออื่นที่อธิบายความกว้างออกไป เช่น บุพพสิกขาวัณณนา เพื่อจะได้ความรู้เข้ามาประกอบ
๙. พึงรู้จักใคร่ครวญถึงข้ออันภิกษุทำ ถ้าไม่ครบองค์เป็นเหตุต้องอาบัติเต็มที่ แต่ไม่พ้นไปได้ด้วยประการทั้งปวง เช่นนี้ต้องอาบัติลดลงมา เป็นส่วนบุพพประโยคบ้าง ส่วนวัตถุบ้าง จะพึงรู้ได้ด้วยอ่านหนังสืออื่น หรือได้ฟังอธิบาย
๑๐. ปัญหาที่ผูกขึ้นถามนั้น หมายจะให้ผู้เรียนมีความฉลาดไหวพริบรู้จักสังเกต จึงเป็นปัญหาต่างชนิดกล่าวข้อความเต็มบริบูรณ์ก็มี กล่าวความบกพร่องก็มี พึงพิจารณาตามหลัก ดังนี้
ก. ให้เข้าใจเนื้อความแห่งปัญหาก่อน ถ้าเข้าใจผิด ตอบย่อมผิดตาม
ข. ให้รู้ว่าเป็นปัญหาบริบูรณ์ หรือบกพร่องแล้ว ตอบโดยฐานะ
ค. ปัญหาบางข้อ ถามโดยทางอ้อม เช่น ภิกษุเดินผ่านแถวทหารอันฝึกหัดและเหลียวดู เช่นนี้ไม่เป็นอาบัติเพราะอเจลกวรรคที่ ๑๐ แต่เป็นอาบัติเพราะไม่ทอดจักษุ เป็นตัวอย่าง
๑๑. พึงรู้จักความล่วงอันเดียว แต่เป็นเหตุต้องอาบัติหลายชนิด เช่นพูดมุสา เป็นตัวอย่าง
คำแนะนำในธรรมวิภาค
(เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๘๒.)
๑. พึงรู้จักความแห่งคำที่เรียกทับศัพท์ ตลอดถึงชื่อแห่งข้อและหมวดธรรม เช่น นิวรณ์ อคติ เบญจขันธ์เป็นต้น และเช่น อัตตสัมมาปณิธิ บุพเพกตปุญญตา จักร ๔ พละ ๕ เป็นต้น เพราะเกื้อกูลแก่การฟังเข้าใจ การจำเป็นหลัก และการเรียกสะดวก
๒. พึงรู้ความประสงค์แห่งการแสดงข้อธรรมเหล่านั้น เช่น ภยาคติ อัตตสัมมาปณิธิ โลกธรรม เป็นต้น
๓. พึงรู้จักอนุโลมข้อธรรมที่แก้ไว้สูง พึงรู้จักผ่อนให้ต่ำลงมา เช่น สัมมาสมาธิ ที่แก้ว่า เจริญฌาน ๑ ที่แก้ไว้ต่ำ พึงรู้จักเขยิบขึ้นให้สูง เช่น อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์
๔. พึงรู้จักถือเอาความแห่งข้อหนึ่ง เพราะมีข้ออื่นบ่ง เช่นปฏิรูปเทศ เป็นตัวอย่าง
๕. พึงรู้จักศัพท์อันเดียวแต่หมายความต่าง ๆ เช่น อินทริยและจาคะ เป็นต้น
๖. พึงกำหนดข้อธรรมอันเดียวแต่มาในหมวดต่าง ๆ หลายหมวด เช่น ศรัทธาและปัญญาเป็นตัวอย่าง
๗. พึงเข้าใจเรียงธรรมบางหมวดให้เกี่ยวเนื่องเป็นเหตุและผลของกัน เช่น วุฒิ ๔ จักร ๔ โพชฌงค์ ๗ เป็นตัวอย่าง
๘. พึงเทียบหมวดธรรมอันละม้ายคล้ายคลึงกัน เช่น อริยทรัพย์ และสัปปุริสธรรมเป็นตัวอย่าง
๙. พึงเทียบธรรมที่เห็นว่าน่าแย้งกัน เช่น คณสังคณิกาและหมั่นประชุม
๑๐. พึงรู้จักอรรถที่ตรงกันข้าม ที่เรียกว่าฝ่ายขาวฝ่ายดำ เช่น องค์แห่งมรรค ๘ เป็นฝ่ายขาว คือส่วนดี พึงรู้จักองค์อันเป็นฝ่ายดำ คือส่วนชั่ว ดุจเดียวกัน มละ ๙ เป็นฝ่ายดำ พึงรู้จักฝ่ายขาวด้วย
๑๑. พึงรู้จักความกว้างความแคบ เช่น สิกขาและสิกขาบท สังขาร และเวทนา เป็นตัวอย่าง
๑๒. พึงรู้จักย่นข้อธรรมอันมากให้น้อย เช่น นามขันธ์ และโลกธรรมเป็นตัวอย่าง
๑๓. พึงรู้จักศัพท์อันมีความเป็นอันเดียวกัน เช่น บุญ กุศล สุจริต และบาป อกุศล ทุจริต และเหตุ ปัจจัย มูล เป็นตัวอย่าง
๑๔. พึงอ่านหนังสือต่าง ๆ เช่น พุทธสมัยและวรรณนาเป็นต้น เพื่อได้ความรู้เข้ามาประกอบ
๑๕. พึงใส่ใจลำดับแห่งข้อธรรมและหมวดธรรม นี้เป็นอุปการะแก่การจำแม่นไม่ตกหล่น และนึกถึงได้คล่อง ๆ
๑๖. พึงพิจารณาปัญหาและตอบตามหลัก ดังต่อไปนี้
ก.พึงเข้าใจแห่งปัญหาก่อน ถ้าเข้าใจผิด ตอบย่อมผิดตาม
ข.ถ้าเป็นปัญหาถามเพื่อสอบความจำ พึงตอบตามแบบให้บริบูรณ์ เป็นแต่ประกอบคำตอบให้สมรูปปัญหา
ค.ถ้าเป็นปัญหาให้ออกความคิด พึงตอบตามความเห็นของตน
ฆ.ถ้าเป็นปัญหาจะให้ตอบตามหลัก เช่น ถามถึงลักษณะสัตบุรุษ พึงตอบอาศัยสัตบุรุษธรรมเป็นตัวอย่าง
จัดหลักสูตรนักธรรมเชื่อมโยงกับหลักสูตรบาลี
หลังจากได้จัดตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโทขึ้นแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงจัดระเบียบชั้นเปรียญใหม่ให้เชื่อมโยงกับการศึกษานักธรรม ดังนี้
(๑) พระนักธรรมแปลบาลีประโยค ๓ ได้แล้ว เป็นเปรียญธรรมชั้นตรี จักได้รับพระราชทานพัดยศและประกาศนียบัตรทรงตั้งคราวหนึ่ง
(๒) เปรียญธรรมชั้นตรี ต้องเป็นนักธรรมชั้นโทก่อน จึงจะแปลบาลีประโยคต่อไปได้ แปลได้ประโยค ๔,๕ นับว่าเป็นเปรียญธรรมชั้นโท แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานพัดเปลี่ยนและประกาศนียบัตร เพราะเป็นเพียงการเลื่อนประโยค ต่อเมื่อแปลบาลีประโยค ๖ ได้แล้วจึงนับว่าเป็นเปรียญธรรมชั้นโทเต็มที่ จักได้รับพระราชทานพัดยศเปลี่ยนและประกาศนียบัตรทรงตั้งอีกคราวหนึ่ง
(๓) ในเวลาที่ยังไม่ได้ตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรมชั้นโทแปลบาลีประโยค ๗,๘ ได้แล้ว นับเป็นเปรียญบาลีชั้นเอก แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานพัดเปลี่ยนและประกาศนียบัตรทรงตั้ง เพราะเป็นเพียงการเลื่อนประโยค ต่อเมื่อแปลบาลีประโยค ๙ ได้แล้ว นับเป็นเปรียญบาลีชั้นเอกเต็มที่ จักได้รับพระราชทานพัดยศเปลี่ยนและประกาศนียบัตรทรงตั้งอีกคราวหนึ่ง
เมื่อตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกขึ้นแล้ว จักรวมเข้าในชั้นนี้ ผู้สอบได้เป็นเปรียญธรรมชั้นเอก (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๖๐. หน้า ๓๗๕.)
พัดนักธรรม
เมื่อแรกตั้งนักธรรมชั้นตรีขึ้นนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้โปรดให้ทำพัดรอง มีตราคณะสงฆ์ (ตราธรรมจักร) ประทานแก่ผู้สอบนักธรรมชั้นตรีได้ เพื่อเป็นการยกย่องนักธรรม ครั้นการสอบนักธรรมชั้นตรีแพร่หลายไป มีผู้สอบนักธรรมชั้นตรีได้มากขึ้น ผู้ได้รับประทานพัดนักธรรมก็มีมากขึ้น จนผู้ได้รับพัดนักธรรมไม่รู้สึกว่าเป็นเกียรติยศ จึงไม่ค่อยนิยมถือกัน
ถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ หลังจากตั้งนักธรรมมาได้ ๖ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงพระดำริจัดเรื่องพัดนักธรรมใหม่ คือพัดนักธรรมไม่ประทานแก่ผู้สอบได้ทั่วไป ทังนักธรรมชั้นตรี และนักธรรมชั้นโท แต่ประทานเฉพาะพระนักธรรมที่มีพรรษาพ้น ๕ แล้ว และมีหน้าที่ทางการพระศาสนา เช่น เป็นครูสอน เป็นต้น และทรงกำหนดให้พระนักธรรมถือพัดนักธรรม ในพิธีทางราชการ เช่นเดียวกับพระมีฐานันดรถือพัดยศ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๔๗-๓๔๘.)
ถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงจัดระเบียบเรื่องพัดยศเปรียญและพัดนักธรรมอีกครั้งหนึ่ง สำหรับพัดนักธรรมนั้น เลิกประทานพัดนักธรรมชั้นตรี เพราะส่วนใหญ่สอบเลื่อนเป็นนักธรรมชั้นโทแล้ว ส่วนพระนักธรรมชั้นตรีที่ไม่สอบเลื่อนเป็นนักธรรมชั้นโทและมีหน้าที่ทางการพระศาสนา ยังคงได้รับประทานอยู่ ส่วนพัดนักธรรมชั้นโทนั้น ก็ประทานเฉพาะแก่ผู้สอบได้นักธรรมชั้นโทที่มีพรรษาพ้น ๕ แล้ว สำหรับผู้ที่สอบได้แต่พรรษายังไม่ถึง ๕ ต้องรอจนกว่าพรรษาครบ ๕ แล้ว จึงจะได้รับประทานพัด (ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๓๗๐-๓๗๑.)
การสอบนักธรรมชั้นโทในระยะแรก มารวมสอบในสนามหลวง กรุงเทพฯ เพราะยังมีจำนวนผู้เข้าสอบไม่มากและส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือในปริมณฑลใกล้เคียง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นต้นไป สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้ทรงประกาศให้จัดสอบนักธรรมชั้นโทในสนามต่างจังหวัดได้ โดยใช้ข้อสอบของสนามหลวง ปฏิบัติตามระเบียบการสอบของสนามหลวง และสอบในวันเวลาเดียวกันกับสนามหลวงในกรุงเทพฯ (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๐ พ.ศ. ๒๔๖๕ หน้า ๓๑๑.)
นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. ๒๔๖๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์ นักธรรมชั้นเอกที่ทรงพระดำริไว้จึงยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระประสงค์ในยุคของพระองค์ การศึกษานักธรรมจึงจัดได้เพียง ๒ ชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี กับนักธรรมชั้นโท
แต่ในปีที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สิ้นพระชนม์นั้นเอง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ผู้ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกสืบมา ก็ได้ทรงจัดตั้งนักธรรมชั้นเอกขึ้น ตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้น นักธรรมชั้นเอกภูมิเถระ สำหรับภิกษุผู้ใหญ่พ้นพรรษา ๑๐ แล้ว หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก มีดังนี้
๑. เรียงความแก้กระทู้ธรรม จะให้หัวข้อธรรม ๓ ข้อที่ต่างกัน ต้องแต่งทำนองเทศนา เชื่อมความ ๓ ข้อนั้นให้สนิท
๒. แก้ปัญหาธรรม โดยปรมัตถเทศนา
๓. แก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ กับข้อธรรมในท้องเรื่องนั้น
๔. แก้ปัญหาวินัยบัญญัติมีสังฆกรรมเป็นต้น
หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงพระนิพนธ์เตรียมไว้แล้วเกือบจะครบถ้วน ดังนี้
หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต และหนังสือธรรมอย่างอื่นมีมงคลวิเสสกถาเป็นต้น เป็นหลักสูตรสำหรับเรียงความแก้กระทู้ธรรม
หนังสือธรรมวิจารณ์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นหลักสูตรสำหรับแก้ปัญหาธรรมวิภาค
หนังสือพุทธสมัยเล่มที่ ๒ ปริจเฉทที่ ๔,๕,๖ ในธรรมสมบัติหมวด ๓ เป็นหลักสูตรสำหรับแก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ
นักธรรมชั้นโท จะสอบบาลีประโยค ๗ ต้องสอบได้นักธรรมชั้นเอกก่อน เมื่อสอบบาลีประโยค ๗,๘,๙ ได้แล้ว นับเป็นเปรียญธรรมชั้นเอก (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๙ พ.ศ. ๒๔๖๔ หน้า ๑๑๙.)
และใน พ.ศ. ๒๔๖๔ นี้ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี และหลักสูตรนักธรรมชั้นโทอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
นักธรรมชั้นตรี
หลักสูตรพุทธประวัติ ใช้หนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑ เล่ม ๓ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และหนังสือธรรมสมบัติปฐมสมโพธิ พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช (สา) ๑ จบ
นักธรรมชั้นโท
หลักสูตรธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ ๒ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และหมวดอติเรกทสกะ
หลักสูตรอนุพุทธประวัติ ใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ ๑ เล่ม หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ เฉพาะประวัติพระสาวก ๑ เล่ม และหนังสือธรรมสมบัติ สังคีติกถา ๑ จบ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๒๐.)
นักธรรมชั้นเอก
หลักสูตรนักธรรมชั้นเอกได้สอบในสนามหลวงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ และในศกเดียวกันนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชนวรสิริวัฒน์ ทรงปรับปรุงหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก เพื่อให้ความรู้ของพระนักธรรมชั้นนี้สมเถรภูมิ ดังนี้
หลักสูตรธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิจารณ์ หนังสือสมถกรรมฐาน มหาสติปัฏฐานสูตรและคิริมานนทสูตรแปล และหนังสือวิปัสสนากรรมฐาน
หลักสูตรพุทธานุพุทธประวัติ ใช้หนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑, เล่ม ๓ หนังสือปฐมสมโพธิ หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือสังคีติกถา (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๐ พ.ศ. ๒๔๖๕ หน้า ๕๘๙.)
เปลี่ยนลำดับประโยคนักธรรม
การสอบนักธรรมทั้ง ๓ ชั้นในระยะแรกนั้น เป็นที่สนใจของทายกทายิกาเป็นอันมาก จึงมีผู้มาร่วมดูการสอบและรอฟังผลการสอบกันมาก ทั้งภิกษุสามเณรและชาวบ้าน การตรวจและประกาศผลจึงทำให้เสร็จภายในวันสุดท้ายของการสอบ เพราะจำนวนผู้เข้าสอบในแต่ละสนามยังมีไม่มากนัก แต่บางสนานกว่าจะตรวจและประกาศผลได้ก็มืดค่ำหรือดึก ไม่เป็นการสะดวกแก่ผู้มาร่วมฟังผลการสอบ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๘ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ จึงทรงเปลี่ยนลำดับประโยคนักธรรม(หรือลำดับวิชาที่สอบ) ใหม่ เพื่อให้สะดวกแก่การตรวจใบตอบและเสร็จทันเวลาประกาศผลในวันสุดท้ายของการสอบได้ไม่ชักช้านัก โดยให้ทุกสนามสอบเรียงลำดับประโยคที่สอบได้ดังนี้
วันที่ ๑ สอบธรรม
วันที่ ๒ สอบพุทธ
วันที่ ๓ สอบวินัยบัญญัติ
วันที่ ๔ สอบเรียงความแก้กระทู้ธรรม (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๓ พ.ศ. ๒๔๖๘. หน้า ๔๔๑.)
และในศกเดียวกันนี้ (พ.ศ. ๒๔๖๘) ได้ทรงปรับปรุงเกี่ยวกับการสอบนักธรรมในด้านอื่น ๆ อีกดังนี้
(๑) ในแต่ละมณฑล ให้จัดสนามสอบนักธรรมเพียงแห่งเดียว ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งตามที่เห็นสมควร สำหรับจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ สามารถมาสอบในกรุงเทพฯ ได้
(๒) เลิกการสอบควบประโยคนักธรรมกับประโยคบาลี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นต้นไปผู้จะสอบบาลีประโยค ๔ ต้องสอบนักธรรมชั้นโทได้ก่อน และผู้จะสอบบาลีประโยค ๗ ต้องสอบนักธรรมชั้นเอกได้ก่อน
(๓) เนื่องจากจำนวนผู้เข้าสอบนักธรรมเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อความสะดวกเรียบร้อยในการจัดสอบ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นต้นไป จึงมีการทำบัตรสอบประจำวันแจกผู้เข้าสอบในแต่ละวัน มีหมายเลขผู้เข้าสอบและประทับตราสนามหลวงเป็นสำคัญ จัดให้ผู้เข้าสอบนั่งประจำโต๊ะให้ตรงกับหมายเลขของตนเอง (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. หน้า ๑๕๕-๑๕๖.)
ปรับปรุงระเบียบการสอบนักธรรม
ระเบียบการสอบนักธรรม ได้มีการปรับปรุงมาเป็นระยะ ๆ เพื่อความเหมาะสมแก่การขยายการศึกษาและส่งเสริมการศึกษา ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีให้กลมเกลียวกัน และแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นไป จึงมีการปรับปรุงระเบียบการสอบนักธรรมในด้านต่าง ๆ มาโดยลำดับ ดังนี้
(๑) ผู้จะสอบบาลีประโยค ๔ และประโยค ๗ อนุญาตให้สอบนักธรรมชั้นโทอันเป็นบุรพประโยคของบาลีประโยค ๔ และสอบนักธรรมชั้นเอกอันเป็นบุรพประโยคของบาลีประโยค ๗ ควบคู่กันไปได้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นไป
(๒) ประกาศให้แยกนักธรรมชั้นโทออกจากสนามหลวง รวมอยู่ในสนามสาขาแห่งสนามหลวงได้ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นไป
(๓) อนุญาตให้สามเณรมีอายุ ๑๗ ปีขึ้นไปสอบนักธรรม ในสนามสาขาของสนามหลวง ได้ (เดิมต้องมีอายุ ๑๙ ปีขึ้นไป) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นไป
(๔) เปิดสอบนักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก ทั้งสนามในกรุงเทพฯ และสนามในจังหวัดต่าง ๆ พร้อมกันทั่วพระราชอาณาจักร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นต้นไป และเป็นการเปิดสอบนักธรรมชั้นเอกในสนามต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๕๖-๑๕๗.)
(๕) ลดจำนวนข้อสอบแต่ละวิชาลง ในระยะเริ่มแรก (พ.ศ. ๒๔๕๕) ข้อสอบหรือปัญหาของแต่ละวิชามีจำนวน ๒๑ ข้อ ไม่มีกำหนดเวลาสอบ ยังมีผู้นั่งสอบอยู่ด้วยกันน้อยกว่า ๖ รูป ถือว่าหมดเวลา ต่อมาเปลี่ยนกำหนดเป็นถ้ามีผู้นั่งสอบอยู่ด้วยกันน้อยกว่า ๓ รูปถือว่าหมดเวลา ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ ลดจำนวนข้อสอบลงเหลือวิชาละ ๑๔ ข้อ และกำหนดเวลาสอบ ๓ ชั่วโมงครึ่ง ถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ ลดจำนวนข้อสอบลงเหลือวิชาละ ๗ ข้อ และกำหนดเวลาสอบวิชาละ ๒ ชั่วโมง สำหรับนักธรรมชั้นเอก ให้เวลาสอบวิชาละ ๓ ชั่วโมง (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๓๙, ๑๕๘.)
หลักสูตรนักธรรม
นับแต่ได้มีการตั้งหลักสูตรนักธรรมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ หลักสูตรได้มีการปรับปรุงเรื่อยมาเป็นระยะ ทั้งในด้านเนื้อหาวิชาและตำราที่ใช้เป็นหลักสูตรหรือแบบเรียนในชั้นนั้น ๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้สอบนักธรรมได้ในชั้นนั้น ๆ มีความรู้สมกับภูมิ เพราะวัตถุประสงค์สำคัญในการที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริจัดตั้งการศึกษานักธรรมขึ้นนั้น ก็เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ธรรมวินัยสมกับภูมิของตน กล่าวคือ
- นักธรรมชั้นตรี เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งยังอยู่ในภูมินวกะ มีพรรษาหย่อน ๕ มีความรู้ธรรมวินัยพอ รักษาตัวได้
- นักธรรมชั้นโท เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งอยู่ในภูมิชั้นมัชฌิมะ มีพรรษาเกิน ๕ มีความรู้ธรรมวินัยละเอียดกว้างขวางออกไปถึงชั้นพอช่วยแนะนำผู้อื่นได้
- นักธรรมชั้นเอก เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งอยู่ในภูมิเถระ มีพรรษาเกิน ๑๐ มีความรู้ธรรมวินัยละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงชั้นสามารถเป็นหลักในสังฆกรรมและเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ดูแลสั่งสอนผู้อื่นได้
เมื่อทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมขึ้นแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงพระนิพนธ์หนังสือต่าง ๆ สำหรับใช้เป็นแบบเรียนของนักธรรมชั้นนั้น ๆ ด้วย หนังสือบางเรื่องที่ยังทรงพระนิพนธ์ไม่เสร็จ ก็ทรงใช้หนังสืออื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันเป็นตำราหรือแบบเรียนไปพลาง แม้นักธรรมชั้นเอกที่ตั้งขึ้นหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วพระองค์ก็ได้ทรงพระนิพนธ์ตำราสำหรับใช้เป็นหลักสูตรเตรียมไว้เกือบครบทุกวิชา
หลักสูตรนักธรรมทุกชั้น ซึ่งได้ปรับปรุงมาโดยลำดับนั้น มาถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงเป็นอันยุติได้ ดังนี้
หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี
- เรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต
- ธรรมวิภาค ใช้หนังสือนวโกวาท
- ตำนาน (พุทธประวัติ) ใช้หนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑-๓ หนังสือปฐมสมโพธิของสมเด็จพระสังฆราช (สา)
- วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือนวโกวาท
หลักสูตรนักธรรมชั้นโท
- เรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต
- ธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ ๒
- ตํานาน (อนุพุทธประวัติ) ใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือพุทธานุพุทธประวัติ เฉพาะประวัติพระสาวก หนังสือสังคีติกถา และหนังสือปฐมสมโพธิ
- วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือวินัยมุขเล่ม ๑-๒
หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก
- เรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต และหนังสือธรรมอื่น ๆ มีมงคลวิเสสกถา เป็นต้น
- ธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิจารณ์ หนังสือสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน หนังสือมหาสติปัฏฐานสูตร และคิริมานนทสูตร แปล
- ตํานาน (พุทธานุพุทธประวัติ) ใช้หนังสือพุทธประวัติ ๑-๓ หนังสือปฐมสมโพธิ หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือสังคีติกถา
- วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือวินัยมุขเล่ม ๓ (หลักสูตรนักธรรมและเปรียญสำหรับใช้ในการศึกษาและสอบไล่ธรรมวินัย ของพระภิกษุสามเณร. พระยาภักดีนฤเบศร์ รวบรวม. ฉบับพิมพ์ครั้งแรก. พ.ศ. ๒๕๖๙. หน้า ก-ข.)
ถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ มีการปรับปรุงในส่วนของวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมอีกครั้งหนึ่ง คือสำหรับนักธรรมชั้นโท กำหนดหัวข้อธรรมที่ต่างกัน ๒ ข้อ ให้นักเรียนแต่งเป็นทำนองเทศน์เชื่อมความ ๒ ข้อนั้นให้ต่อเนื่องกันสนิท และให้ชักภาษิตในที่อื่นมาอ้าง ๒ แห่ง อย่าให้ซ้ำกัน
สำหรับนักธรรมชั้นเอก กำหนดหัวข้อธรรมต่างกัน ๓ ข้อ ให้นักเรียนแต่งเป็นทำนองเทศน์ เชื่อมความ ๓ ข้อนั้นให้ต่อเนื่องกันสนิท และชักภาษิตในที่อื่นมาอ้าง ๓ แห่ง อย่าให้ซ้ำกัน
และในศกเดียวกันนี้ ได้เพิ่มเติมหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก คือให้สอบพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ อีกส่วนหนึ่ง และถือว่าเป็นวิชาสำคัญ ถ้าสอบวิชานี้ตกวิชาอื่นในชั้นเป็นอันตกไปด้วย
หลักสูตรนักธรรมชั้นโทและชั้นเอกที่ปรับปรุงใหม่ดังกล่าวนี้ เริ่มใช้แต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นไป (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. หน้า ๑๕๙-๑๖๐.)
ธรรมศึกษาตรี
การศึกษานักธรรมในครั้งนั้น เป็นที่นิยมและเป็นที่ยกย่องทั้งในวงการคณะสงฆ์และในทางราชการ ผู้ที่สอบได้ประโยคนักธรรม เมื่อลาสิกขาออกไป ก็สามารถรับราชการเป็นครูสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ เมื่อมีการสอบเลื่อนวิทยฐานะครู ผู้สอบได้ประโยคนักธรรมก็ได้รับสิทธิพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบ ๑ ชุดวิชา เพราะประโยคนักธรรมชั้นตรีจัดเป็นชุดวิชาหนึ่งสำหรับการเลื่อนวิทยฐานะ
ต่อมาคณะสงฆ์ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมก็เป็นประโยชน์แม้แก่ผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุสามเณร โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการครู ดังนั้น คณะสงฆ์จึงอนุญาตให้ครูทั้งหญิงและชายเข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวงได้ โดยได้ตั้งหลักสูตร ประโยคนักธรรมสำหรับฆราวาส เรียกว่า “ธรรมศึกษาตรี” ซึ่งประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวิชาวินัยบัญญัติ ใช้เบญจศีลเบญจธรรม และอุโบสถศีลแทน
ธรรมศึกษาตรี เปิดสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ปรากฏว่ามีฆราวาสทั้งชายและหญิงสมัครสอบกันเป็นจำนวนมาก (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๕๘.)
ธรรมศึกษาโท
เมื่อเห็นว่าฆราวาสสนใจศึกษาและสมัครสอบธรรมศึกษาตรีกันเป็นจำนวนมากในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ คณะสงฆ์จึงได้ตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาโทขึ้น เพื่อเป็นการขยายการศึกษานักธรรมสำหรับฆราวาสให้กว้างขวางและแพร่หลายยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง หลักสูตรธรรมศึกษาโทประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือธรรมวิภาค อนุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นโทสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติ ธรรมศึกษาโทสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๕๙.)
ธรรมศึกษาเอก
พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะสงฆ์ได้ตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาเอก และอนุญาตให้ฆราวาสสอบได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นไป (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒๓ อ้างใน รายงานเรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย. (เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม). ฝ่ายวิจัย กองแผนงาน กรมการศาสนา. พ.ศ. ๒๕๑๖. หน้า ๒๓.)
หลักสูตรธรรมศึกษาเอกก็ประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาค พุทธานุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติ
การศึกษานักธรรม อันเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนา หรือธรรมวินัยในภาษาไทย ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น ได้พัฒนามาโดยลำดับ ทั้งในด้านหลักสูตร การเรียนและการสอน เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในธรรมวินัย ตลอดถึงความเป็นมาของพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึง พอแก่การที่จะเป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ สามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี การศึกษานักธรรมได้เป็นที่นิยมนับถือของคณะสงฆ์ และได้รับการจัดให้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของภิกษุสามเณรในประเทศไทยควบคู่ไปกับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีนับแต่เริ่มต้นมาจนบัดนี้ การศึกษานักธรรมที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงตั้งขึ้นนี้ จึงนับว่ามีคุณประโยชน์ต่อการพระศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ การศึกษานักธรรมยังได้แผ่ประโยชน์ไปยังพุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสด้วย ดังที่ฆราวาสจำนวนมากก็สนใจศึกษาและสอบธรรมศึกษากันเป็นจำนวนมากตลอดมาดังกล่าวแล้ว การที่พุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมวินัย นับว่ามีประโยชน์ต่อการที่จะช่วยส่งเสริมและดำรงรักษาพระศาสนาให้เจริญมั่นคงได้ทางหนึ่ง
แม่กองธรรมสนามหลวง
การสอบนักธรรมอย่างเป็นทางการ ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) เมื่อทางราชการขอให้มหาเถรสมาคมกำหนดหลักสูตร เพื่อเป็นเกณฑ์ สามเณรรู้ธรรม สำหรับยกเว้นการเกณฑ์หทาร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น และทรงเป็น ประธานมหาเถรสมาคม จึงได้ทรงตั้งหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น โดยทรงนำหลักสูตรที่ทรงใช้สอนพระใหม่ในวัดบวรนิเวศวิหารมานานแล้วนั่นเอง มาปรับปรุงเป็นหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรม
การสอบองค์สามเณรรู้ธรรมได้มีขึ้นครั้งแรก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) ในการสอบครั้งแรกนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีการเรียกผู้ดำเนินการสอบว่าอย่างไร
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้มีการสอบองค์สามเณรรู้ธรรม ครั้งที่ ๒ เรียกว่า สอบประโยคนักธรรม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเป็นแม่กอง (ส่วนการสอบบาลี เรียกว่า ทรงเป็นประธาน) ต่อมาทรงปรับปรุงองค์สามเณรรู้ธรรมอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า องค์นักธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งภิกษุสามเณรเข้าสอบได้ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงรวมองค์นักธรรม ประโยค ๑ และประโยค ๒ เข้าด้วยกันเป็น นักธรรมชั้นตรี การสอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ยังทรงเป็นแม่กอง (ส่วนการสอบบาลี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ประธานเปลี่ยนเรียกว่า อธิบดี)
พ.ศ. ๒๔๕๘ ปรากฏพระนาม กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กองสนามหลวง ในรายงานการสอบความรู้นักธรรมในต่างจังหวัด
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเป็นอธิบดี ในการสอบทั้งสอบนักธรรมและสอบบาลีและทรงตั้งพระเถระเป็น แม่กองตรวจธรรมรูปหนึ่ง เป็นแม่กองตรวจบาลีรูปหนึ่ง ในปีนี้ทรงตั้งพระธรรมวโรดม (สมเด็จพระวันรัต จ่าย ปุณฺณทตฺโต) เป็นแม่กองตรวจธรรม (ส่วนแม่กองตรวจบาลีว่าง)
ถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ ปรากฏหลักฐานว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ พระญาณวราภรณ์ เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๗๑ พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง ทั่วพระราชอาณาจักร
จึงสรุปได้ว่า การศึกษานักธรรมนั้น ในชั้นแรก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอำนวยการด้วยพระองค์เอง ในการสอบสนามหลวงระยะแรก ทรงเป็นแม่กองเอง ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ พระองค์จึงทรงดำรงอยู่ในฐานะอธิบดี คือดูแลรับผิดชอบการสอบทั้งหมด และทรงตั้งพระเถระเป็นแม่กองแผนกธรรมรูปหนึ่ง เรียกว่า แม่กองตรวจธรรม และทรงตั้งพระเถระเป็นแม่กองแผนกบาลีรูปหนึ่ง เรียกว่า แม่กองตรวจบาลี เป็นปี ๆ ไป ส่วนการสอบนักธรรมในสนามมณฑลหรือสนามจังหวัด ทรงตั้งพระเถระจากส่วนกลางหรือเจ้าคณะมณฑล เป็นแม่กองในการสอบ เป็นปี ๆ ไปเช่นกัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้น จึงทรงอยู่ในฐานะแม่กองธรรมสนามหลวงเป็นพระองค์แรก
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงตั้ง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กองสนามหลวง แผนกธรรม คำว่า แม่กองธรรมสนามหลวง จึงน่าจะเริ่มขึ้นในครั้งนี้ และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ คงปฏิบัติหน้าที่แม่กองธรรมสนามหลวงตลอดมา จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ จึงทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์ เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง ในปีต่อมาคือ พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงทรงตั้ง พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) เป็นแม่กองธรรมสนามหลวงทั่วราชอาณาจักร ตำแหน่งแม่กองธรรมสนามหลวงจึงได้เป็นตำแหน่งประจำสืบมาจนปัจจุบัน
จึงสรุปรายพระนามและรายนามแม่กองธรรมสนามหลวง ตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบันได้ดังนี้
๑. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร
๒. สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) วัดเบญจมบพิตรฯ
๓. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ
๔. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร
๕. พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฏกษัตริยาราม
๖. พระศรีสมโพธิ (เกษม ภทฺทธมฺโม) วัดมหาธาตุฯ
๗. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุฯ
๘. พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) วัดราษฎร์บำรุง ชลบุรี
๙. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม
๑๐. พระสุธรรมาธิบดี (เพิ่ม อาภากโร) วัดราชาธิวาส
๑๑. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร
๑๒. พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
การสอบธรรมสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๕๔ (สอบครั้งแรก)
ไม่ปรากฏรายนาม
พ.ศ. ๒๔๕๕
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม่กอง
พระธรรมวโรดม (จ่าย) รองแม่กอง
พ.ศ. ๒๔๕๖
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม่กอง
กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ รองแม่กอง
พระธรรมวโรดม (จ่าย) รองแม่กอง
การสอบธรรมในหัวเมือง
สนามมณฑลกรุงเก่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม่กอง
สนามมณฑลกรุงเทพฯ
กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กอง
สนามเมืองอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์
พระราชสุธี แม่กอง
สนามเมืองนครราชสีมา
พระศากยบุตติยวงศ์ แม่กอง
สนามมณฑลราชบุรี
พระธรรมวโรดม แม่กอง
สนามมณฑลพายัพ
พระครูเจ้าคณะเมือง แม่กอง
พ.ศ. ๒๔๕๘
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม่กอง
กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ รองแม่กอง
พระธรรมวโรดม รองแม่กอง
การสอบธรรมในหัวเมือง
สนามมณฑลกรุงเก่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม่กอง
สนามมณฑลกรุงเทพฯ
กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กอง
สนามมณฑลราชบุรี
พระศรีวิสุทธิวงศ์ แม่กอง
สนามจังหวัดอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์
พระราชสุธี แม่กอง
สนามจังหวัดนครราชสีมา
พระมหาขาว วัดสามพระยา แม่กอง
สนามจังหวัดอุบลราชธานี
พระราชมุนี แม่กอง
สนามจังหวัดนครศรีธรรมราช
พระธรรมโกศาจารย์ แม่กอง
พ.ศ. ๒๔๕๙
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อธิบดี
พระธรรมวโรดม แม่กองตรวจธรรม
การสอบธรรมในหัวเมือง
สนามมณฑลกรุงเทพฯ
กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กองสนามหลวง แม่กอง
สนามมณฑลกรุงเก่า
พระญาณวราภรณ์ แม่กอง
สนามมณฑลราชบุรี
พระเขมาภิมุขธรรม แม่กอง
สนามจังหวัดอุทัยธานี
พระเทพโมลี แม่กอง
สนามจังหวัดนครราชสีมา
พระนิกรมมุนี แม่กอง
สนามจังหวัดอุบลราชธานี
พระราชมุนี แม่กอง
สนามจังหวัดปราจีนบุรี
พระมหาชิ้น แม่กอง
สนามมณฑลพายัพ
พระครูโพธิรังสี แม่กอง
พระปลัดปัน วัดหอธรรม รองแม่กอง
พ.ศ. ๒๔๖๐
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อธิบดี
กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กองตรวจธรรม
พระธรรมวโรดม รองแม่กอง
การสอบธรรมในหัวเมือง
สนามมณฑลกรุงเทพฯ
กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กองสนามหลวง แม่กอง
สนามมณฑลกรุงเก่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม่กอง
สนามมณฑลราชบุรี
พระราชกวี แม่กอง
สนามจังหวัดอุทัยธานี
พระเทพโมลี แม่กอง
สนามจังหวัดอุบลราชธานี
พระราชมุนี แม่กอง
สนามจังหวัดชลบุรี
พระธรรมไตรโลกาจารย์ แม่กอง
สนามมณฑลนครศรีธรรมราช
พระธรรมโกศาจารย์ แม่กอง
พ.ศ. ๒๔๖๑
กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แทนอธิบดี แม่กองตรวจธรรม
พ.ศ. ๒๔๗๐
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ แม่กองธรรมสนามหลวง
ขณะเป็นที่ พระญาณวราภรณ์
พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๘๔
พระศาสนโศภน (แจ่ม) แม่กองธรรมสนามหลวง ทั่วราชอาณาจักร
พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๘
พระศรีสมโพธิ (เกษม ภทฺทธมฺโม) แม่กองธรรมสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๙๑
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) แม่กองธรรมสนามหลวง
ขณะเป็นที่ พระศรีสุธรรมมุนี
พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๐๓
พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) แม่กองธรรมสนามหลวง
ขณะเป็นที่ พระชลธารมุนี
พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๓๒
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) แม่กองธรรมสนามหลวง
ขณะเป็นที่ พระธรรมปาโมกข์
พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๔๒
พระสุธรรมาธิบดี (เพิ่ม อาภาโค) แม่กองธรรมสนามหลวง
ขณะเป็นที่ พระธรรมวราภรณ์
พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๘
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) แม่กองธรรมสนามหลวง
ขณะเป็นที่ พระธรรมกวี
พ.ศ. ๒๕๕๙-ปัจจุบัน
พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) แม่กองธรรมสนามหลวง
พัฒนาการสนามหลวงแผนกธรรม
สมัยพระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฏกษัตริยาราม
๑. ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม ให้เป็นผู้อำนวยการสอบธรรมสนามหลวง แผนกนักธรรม ทั่วพระราชอาณาจักร
๒. เป็นผู้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการสอบธรรมสนามหลวง หลายอย่าง เช่น กำหนดวันสอบ การออกข้อสอบ (วิชาละ ๗ ข้อ แทน ๑๔ ข้อ) วิธีสอบ การทะเบียนบัญชี ระเบียบข้อบังคับ หลักสูตร (ใช้พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๒ สำหรับเรียงความแก้กระทู้ธรรมชั้นโท และ เล่ม ๓ สำหรับกระทู้ธรรมชั้นเอก) เริ่มประมวลประกาศระเบียบบัญชี พร้อมทั้งปัญหาและเฉลยเข้าเป็นเล่มพิมพ์สำหรับแจกแก่คณะกรรมการ ซึ่งคงใช้ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
๓. เป็นผู้ริเริ่มการจัดทำทะเบียนภิกษุสามเณรผู้สอบนักธรรมได้ในสนามหลวง
๔. เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี ของคฤหัสถ์ (ธรรมศึกษา) ในสนามหลวงครั้งแรก ตามมติมหาเถรสมาคม ใน พ.ศ. ๒๔๗๒
สมัยพระศรีสุธรรมมุนี (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (สถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์)
๑. เป็นผู้เริ่มให้มีการสอบธรรมสนามหลวง แผนกนักธรรม และธรรมศึกษา ในต่างประเทศ เป็นครั้งแรก โดยเปิดสนามสอบที่ วัดปุญญาราม ตําบลอะห์ อำเภอกูบังปาสู รัฐเคดาห์ สหพันธรัฐมาเลเซีย ต่อมาได้มีการเปิดสอบที่รัฐกลันตัน อีกแห่ง
สมัยพระชลธารมุนี (ชอบ อนุจารี) วัดราษฎร์บำรุง จังหวัดชลบุรี (สถาปนาเป็นที่ พระพิมลธรรม)
๑. เป็นผู้นิพนธ์เรื่อง พุทธประวัติทัศนศึกษา
๒. เป็นผู้แนะนำให้คณะสังฆมนตรี มีประกาศสำนักสังฆนายก ยกวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
สมัยพระธรรมปาโมกข์ (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม (สถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์)
๑. ประกาศใช้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก วิชาวินัย
๒. ประกาศใช้ หนังสือพระปฐมสมโพธิกถา เป็นหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษา ชั้นเอก วิชาพุทธานุพุทธประวัติ
๓. กำหนดวิธีการออกข้อสอบในสนามหลวง โดยขอจากพระเถรานุเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ วิชาละ ๒ รูป รูปละ ๗ ข้อ ทั้ง ๓ ชั้น เมื่อส่งมาที่สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงแล้ว แม่กองธรรมและผู้ช่วยแม่กองธรรม ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกไว้วิชาละ ๗ ข้อ เมื่อพิจารณาคัดเลือกแล้วนำถวายพระมหาเถระ ๔ ท่าน ช่วยพิจารณากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง เสร็จแล้วจึงพิมพ์ใช้เป็นข้อสอบในสนามหลวง
๔. ข้อสอบที่จะใช้สอบในส่วนภูมิภาค ได้ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำถวายเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัด จัดการเปิดสอบ และอธิบดีกรมการศาสนาแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดขอความอุปถัมภ์ในการสอบธรรม
๕. กำหนดให้การตรวจธรรมสนามหลวงชั้นเอก ตรวจ ณ วัดสามพระยา ส่วนธรรมสนามหลวงชั้นตรีและชั้นโท ส่วนกลางถวายเจ้าสำนักสอบที่เป็นประธานดำเนินการตรวจ
๖. ได้รับความอุปถัมภ์จาก การรถไฟแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าโดยสารรถไฟ ทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ให้พระภิกษุสามเณรนักธรรมเปรียญในจังหวัดพระนคร-ธนบุรี ที่เดินทางไปช่วยในการสอบภูมิภาค ปีละประมาณ ๔๐๐ รูป
สมัยพระธรรมวราภรณ์ (เพิ่ม อาภาโค) วัดราชาธิวาส (สถาปนาเป็นที่พระสุธรรมาธิบดี)
๑. เป็นผู้ดำเนินการจัดการสอบธรรมศึกษาในสนามหลวง แบบปรนัย ทั้ง ๓ ชั้น
๒. เป็นผู้ดำเนินการให้ครูสอบธรรมสนามหลวงในประเทศมาเลเซีย ได้รับนิตยภัตร และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนสนามสอบธรรมสนามหลวงในประเทศมาเลเซีย
๓. เปิดการสอบธรรมสนามหลวงในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๕๓๗
สมัยพระธรรมกวี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร (สถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระวันรัต)
๑. จัดตั้งสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงถาวร โดยขอประทานพระอนุญาตจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ใช้อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสังฆิกเสนาสน์ของวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ทำการสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงพระเมตตาประทานอนุญาตตามประสงค์ และได้เสด็จมาเป็นประธานพิธีเปิดสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
๒. จัดให้เจ้าหน้าที่สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง เข้าสัมมนาหลักสูตร ตามภาระรับผิดชอบ ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
๓. จัดนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเก็บข้อมูลสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
๔. จัดทำการประชาสัมพันธ์งานสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงในสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ทำให้การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดถึงการเข้าถึงข้อมูลที่น่าสนใจของสาธารณชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๕. จัดทำหลักสูตรธรรมศึกษา ให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาของรัฐ โดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำพุทธศาสนธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ
๖. จัดให้มีการตรวจข้อสอบธรรมศึกษาในสนามหลวง (ส่วนกลาง) ด้วยระบบคอมพิวเตอร์
๗. จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ และการประสานงานกับหน่วยงานทางการศึกษาของรัฐ อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีนักเรียนสนใจสมัครสอบหลักสูตรธรรมศึกษาในสนามหลวงเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคน ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๘ เป็นต้นมา
๘. สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง-สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีผู้กำกับงานพระพุทธศาสนา จัดให้มีการแถลงข่าวการสอบธรรมศึกษาในสนามหลวง ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๐ และจัดให้มีการประชาสัมพันธ์การเปิดสอบธรรมศึกษาเป็นทางการในปีการศึกษานั้นเป็นต้นมา
๙. สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง-สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดให้มีการมอบรางวัลสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ดีเด่นประจำปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นมา
๑๐. จัดให้มีการสอบธรรมสนามหลวงในต่างประเทศ ๑๔ ประเทศ ๔๑ สนามสอบ ดังนี้
๑๐.๑ สหพันธรัฐมาเลเซีย ๒ สนามสอบ
๑๐.๒ ประเทศสหรัฐอเมริกา ๑๕ สนามสอบ
๑๐.๓ ประเทศออสเตรเลีย ๒ สนามสอบ
๑๐.๔ ประเทศนิวซีแลนด์ ๓ สนามสอบ
๑๐.๕ สหราชอาณาจักร ๕ สนามสอบ
๑๐.๖ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ๒ สนามสอบ
๑๐.๗ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ๑ สนามสอบ
๑๐.๘ สมาพันธรัฐสวิส ๑ สนามสอบ
๑๐.๙ สาธารณรัฐประชาชนจีน ๒ สนามสอบ
๑๐.๑๐ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ๒ สนามสอบ
๑๐.๑๑ ประเทศญี่ปุ่น ๒ สนามสอบ
๑๐.๑๒ ประเทศแอฟริกาใต้ ๒ สนามสอบ
๑๐.๑๓ ประเทศบาห์เรน ๑ สนามสอบ
๑๐.๑๔ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ๑ สนามสอบ
การสอบธรรมสนามหลวงในต่างประเทศ
การศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบไทย เรียกว่า “พระปริยัติธรรมแผนกธรรม” ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก เพราะโลกใบนี้ในสมัยก่อนอาจจะกว้างใหญ่ไพศาล แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าเล็กนิดเดียว เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคมนาคมติดต่อสื่อสาร สะดวกสบายโดยอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ เป็นสื่อประสานงานกันได้อย่างรวดเร็วทันใจ แม้สังคมมนุษย์ในแต่ละประเทศก็เปิดกว้างเพื่อศึกษาและเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของกันและกัน รวมถึงการค้าขายหรือทำธุรกิจร่วมกันระหว่างประเทศด้วย จึงทำให้มนุษย์ทั่วทุกมุมโลกได้เรียนรู้และสนใจศาสนา ภาษาและวัฒนธรรมของกันและกัน แล้วลงเอยด้วยการตัดสินใจที่จะตั้งรกรากปักหลักทำมาหากินและมีครอบครัวอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก แม้ประชาชนชาวไทยก็ทำนองเดียวกันนี้ ได้เดินทางไปประกอบอาชีพการงานอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในหลายประเทศ แล้วตัดสินใจมีครอบครัวและตั้งหลักฐานอยู่ในประเทศนั้น ๆ แต่ก็ยังรำลึกนึกถึงพระพุทธศาสนาและประเพณีวัฒนธรรมของตนอยู่เสมอ จึงได้กราบอาราธนาพระสงฆ์ไทยเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจและโปรดญาติโยมเพื่อนพ้องในประเทศที่ตนอยู่อาศัย แล้วลงเอยด้วยการตัดสินใจสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและมี พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจของชุมชนชาวไทย และชุมชนชาติอื่น ๆ ผู้ที่สนใจเรียนรู้และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันมีวัดพุทธไทยตั้งขึ้นในต่างแดนเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศ เกือบจะทุกทวีป โดยมีประชุมชนท้องถิ่นผู้สนใจในพระพุทธศาสนาเป็นผู้สนับสนุน พระธรรมทูตและประชาชนชาวไทยในประเทศนั้น ๆ ได้สนใจที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้ทำหนังสือกราบเรียนมายังแม่กองธรรมสนามหลวง เพื่อขอเปิดเป็นสำนักพุทธศาสนศึกษาและเป็นศูนย์สอบธรรมสนามหลวงที่วัดซึ่งตนอุปถัมภ์บำรุงในประเทศนั้น ๆ ดังตัวอย่างที่วัดศรีนครินทรวรารามได้ถือปฏิบัติในการดำเนินการขอเปิดสำนักพุทธศาสนศึกษาและศูนย์สอบธรรมสนามหลวง โดยมีหนังสือที่ ๖/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ กราบเรียนพระเดชพระคุณแม่กองธรรมสนามหลวง และหนังสือตอบรับที่ กธ. ๒๕/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ อนุมัติให้เปิดสนามสอบธรรมศึกษา ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ของเลขานุการแม่กองธรรมสนามหลวง และต่อมาทางวัดศรีนครินทรฯ ได้ประกอบพิธีทำบุญประจำปีและเปิดป้ายสำนักพุทธศาสนศึกษาและศูนย์สอบธรรมสนามหลวงในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ โดยได้กราบอาราธนาพระเดชพระคุณแม่กองธรรมสนามหลวงไปเป็นประธาน แต่พระเดชพระคุณฯ ได้มอบหมายให้รองแม่กองธรรมสนามหลวงคือ สมเด็จพระธีรญาณมุนี ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมเมธี ไปปฏิบัติหน้าที่แทน
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
ในอดีตที่ผ่านมา สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ไม่เคยมีอาคาร หรือ สถานที่ทำการอย่างถาวร เมื่อแม่กองธรรมฯ จำพรรษาอยู่วัดใด สำนักงานแม่กองธรรมก็จะย้ายไปทำการ ณ ที่วัดนั้นตาม
มาถึงยุคของแม่กองฯ รูปปัจจุบัน คือ พระพรหมมุนี (พฺรหฺมคุตฺตเถร) ได้ดำริจัดตั้งสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงขึ้น โดยได้กราบทูลเจ้าพระคุณ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ขอประทานพระอนุญาตใช้อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสังฆิกเสนาสน์ของวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ทำการสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชก็ทรงพระเมตตาประทานอนุญาตตามประสงค์และได้เสด็จมาเป็นประธานพิธีเปิดสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๔
อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัยแห่งนี้ แรกเริ่มเดิมทีเป็นโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ซึ่งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยในกรมหมาดเล็ก สร้างอุทิศถวายพระราชกุศล สนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ต่อมาใช้เป็นสถานที่เอื้อประโยชน์แก่วงการคณะสงฆ์มาตลอด ดังนี้
- เป็นที่ตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยแห่งแรก ในระยะแรกตั้งระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๕๐๑ ปัจจุบัน เรียกว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- เป็นที่ตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย
- เป็นที่ตั้งสำนักงานมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- เป็นที่ตั้งสมาคมโหรแห่งประเทศไทย
- เป็นที่ตั้งอายุรเวชวิทยาลัย เป็นต้น
ก่อนที่จะใช้เป็นสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ได้รับการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ใหม่ อาคารหลังนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีเนื้อที่ใช้สอยอย่างเพียงพอ สามารถจัดสำนักงานแม่กองธรรมฯ เป็นแผนกต่าง ๆ ได้อย่างเป็นสัดส่วน ในแต่ละแผนกยังมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยอย่างครบครันพร้อมมีพระเจ้าหน้าที่มาทำงานทุกวัน (เว้นวันพระและวันอาทิตย์) นับเป็นครั้งแรกที่งานแม่กองธรรมฯ มีสำนักงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ปัจจุบัน สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺตเถร) นอกจากดำรงตำแหน่ง แม่กองธรรมสนามหลวงแล้ว ยังดำรงตำแหน่งสำคัญทางการคณะสงฆ์อื่น ๆ อีก คือเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ (ธรรมยุต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เป็นต้น
เจ้าประคุณสมเด็จฯ แม่กองธรรม เป็นพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล หลังจากเข้ามาดำรงตำแหน่งแม่กองธรรมฯ แล้ว ได้ปรับปรุงและวางรูปแบบการดำเนินงานฝ่ายปริยัติธรรมแผนกธรรมให้เป็นระบบมากขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ว่าด้วย “ความรู้ คู่คุณธรรม” ท่านจึงได้มุ่งที่จะปรับหลักสูตรทั้งนักธรรมและธรรมศึกษาให้เอื้อประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ ในด้านระบบการทำงาน ท่านก็ได้ปรับปรุงให้มีคุณภาพและมาตรฐานเพื่อให้ทัดเทียมหน่วยงานชั้นนำทั่วไป โดยจัดให้มีกระบวนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยการทำงานให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อเผยแผ่ข่าวสารข้อมูลของแม่กองธรรมฯ สู่สาธารณชน พัฒนาให้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ ทั้งในด้านประวัติความเป็นมาของนักธรรม ประกาศผลสอบนักธรรมทั่วราชอาณาจักรในแต่ละปี
ในอนาคตอันใกล้นี้ สำนักงานแม่กองธรรมฯ จะรวบรวมข้อมูลรายชื่อผู้สอบได้ย้อนหลังตั้งแต่ยุคแรก ๆ เข้ามาเป็นฐานข้อมูลในเว็บไซต์ เพื่อท่านที่ต้องการทราบข้อมูลทั้งที่เป็นภิกษุสามเณรหรือฆราวาส สามารถคลิกเข้ามาดูย้อนหลังได้ที่ www.gongtham.net
นอกจากนี้แล้ว แม่กองธรรมฯ ยังได้วางระบบงานออนไลน์ข้อมูลไปยังวัดที่เป็นสำนักเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับงานด้านการประสานงาน โดยเฉพาะข้อมูลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องการจัดการภายในสำนักงานนั้นล้วนแล้วแต่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เช่น การออกประกาศนียบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาผู้สอบผ่านในแต่ละชั้น แต่ละปีการศึกษา สมัยก่อนเราเคยชินกับการ “เขียนมือ” แต่มาบัดนี้ สมัยนี้ เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสคอมพิวเตอร์ ก็สามารถพิมพ์ใบประกาศแต่ละใบเสร็จเรียบร้อยได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ในด้านบุคลากรท่านก็วางกำลังบุคลากร ที่จะช่วยกันผลักดันแผนงานที่วางไว้อย่างเป็นระบบ ให้ดำเนินไปอย่างเต็มอัตรา โดยได้แต่งตั้งพระเถรานุเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะผู้บริหารสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงในฝ่ายต่าง ๆ อย่างครบถ้วน
นอกจากจะมีพระเถรานุเถระ ระดับผู้บริหารดังกล่าวแล้ว ยังมีคณะทำงานตามสายงานต่าง ๆ คอยผลักวงล้อแห่งกองธรรมให้หมุนไป เพื่อประโยชน์สุขของมวลพุทธศาสนิกชน อีกจำนวนมาก ซึ่งท่านเหล่านั้นล้วนอาสามาด้วยสมัครใจทั้งจากวัดในกรุงเทพฯ และจากวัดในเขตปริมณฑล ซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการดำเนินงานการศึกษาของคณะสงฆ์ในส่วนนี้
สิ่งทั้งหลายทั้งมวล ที่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ถือว่าเป็นก้าวใหม่ของวงการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ซึ่งเป็นการเดินทางเข้าสู่ยุคที่จะต้องปรับตัวให้ก้าวทันโลก เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อปรับขบวนทัพอย่างครบวงจร สำนักงานแม่กองธรรมฯ สามารถทำได้ระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็ด้วยอาศัยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของแม่กองธรรมสนามหลวงรูปปัจจุบัน คือ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)
หมายเหตุ
สำหรับภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ท่านใดที่มีความประสงค์จะติดต่อ แม่กองธรรมสนามหลวง สามารถติดต่อได้ ตามที่อยู่ดังนี้
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร
เลขที่ ๒๘๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทร. ๐ ๒๒๘๐ ๗๖๘๒, ๐ ๒๖๒๙ ๐๙๖๑-๓, ๐ ๒๖๒๙ ๔๓๐๐-๔
โทรสาร. ๐-๒๖๒๙-๒๑๔๒
Website: www.gongtham.net Email: mgth.data@gmail.com Line: @gongtham
หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษา
ที่ประกาศใช้ปัจจุบัน
นักธรรมชั้นตรี
๑. วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม
หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๑
ให้นักเรียนแต่งอธิบายให้สมเหตุสมผล อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบด้วย ๑ สุภาษิต บอกชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย สุภาษิตที่อ้างมานั้นต้องเรียงเชื่อมความให้ติดต่อสมเรื่องกับกระทู้ตั้ง ชั้นนี้ กำหนดให้เขียนลงในใบตอบ ตั้งแต่ ๒ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป
๒. วิชาธรรม
หลักสูตร ใช้หนังสือนวโกวาทแผนกธรรมวิภาคและคิหิปฏิบัติ
๓. วิชาพุทธ
หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑-๒-๓ ปฐมสมโพธิ พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) ศาสนพิธี เล่ม ๑
๔. วิชาวินัย
หลักสูตร ใช้หนังสือนวโกวาท แผนกวินัยบัญญัติ, วินัยมุขเล่ม ๑
นักธรรมชั้นโท
๑. วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม
หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๒
ให้นักเรียนแต่งอธิบายเป็นทำนองเทศนาโวหาร อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบ ไม่น้อยกว่า ๒ สุภาษิต และบอกชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย ห้ามอ้างสุภาษิตซ้ำข้อกัน แต่จะซ้ำคัมภีร์ได้ ไม่ห้าม สุภาษิตที่อ้างมานั้น ต้องเรียงเชื่อมความให้ติดต่อสมเรื่องกับกระทู้ตั้ง ชั้นนี้ กำหนดให้เขียนลงในใบตอบ ตั้งแต่ ๓ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป
๒. วิชาธรรม แก้ปัญหาธรรมวิภาคพิสดารออกไป
หลักสูตร ใช้หนังสือธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๒
๓. วิชาพุทธ แก้ปัญหาอนุพุทธประวัติ
หลักสูตร ใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ และพุทธานุพุทธประวัติอันกล่าวเฉพาะประวัติพระสาวก สังคีติกถา ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) และศาสนพิธี เล่ม ๒ ขององค์การศึกษา
๔. วิชาวินัย แก้ปัญหาวินัยให้พิสดารออกไป
หลักสูตร ใช้หนังสือวินัยมุข เล่ม ๑-๒
ผู้จะเข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโท ต้องได้ประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวงมาแล้ว
นักธรรมชั้นเอก
๑. วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม
หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๓
ให้นักเรียนแต่งอธิบายเป็นทำนองเทศนาโวหาร อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบ ไม่น้อยกว่า ๓ สุภาษิต และบอกชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย ห้ามอ้างสุภาษิตซ้ำข้อกัน แต่จะซ้ำคัมภีร์ได้ ไม่ห้าม สุภาษิตที่อ้างมานั้น ต้องเรียงเชื่อมความให้ติดต่อสมเรื่องกับกระทู้ตั้ง ชั้นนี้ กำหนดให้เขียนลงในใบตอบ ตั้งแต่ ๔ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป
๒. วิชาธรรม แก้ปัญหาธรรมโดยปรมัตถเทศนา
หลักสูตร ใช้หนังสือธรรมวิจารณ์ ส่วนปรมัตถปฏิปทาและสังสารวัฏ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มหาสติปัฏฐาน คิริมานนทสูตร
๓. วิชาพุทธ แก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติกับข้อธรรมในท้องเรื่องนั้น
หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๑-๒-๓ ปฐมสมโพธิ พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) พุทธานุพุทธประวัติ อนุพุทธประวัติ พระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
๔. วิชาวินัย แก้ปัญหาวินัยมีสังฆกรรมเป็นต้น
หลักสูตร ใช้หนังสือวินัยมุข เล่ม ๓ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
ผู้จะเข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นเอก ต้องได้ประโยคนักธรรมชั้นโทในสนามหลวงมาแล้ว
ธรรมศึกษาตามระดับช่วงชั้นการศึกษา
ดูที่ ขอบข่ายธรรมศึกษา ๒๕๖๑