รายงานประชุมเถรสมาคม*
เรื่องกำหนดองค์ของสามเณรผู้รู้ธรรม
ครั้งที่ ๑
วันที่ ๑๒ มิถุนายน ร.ศ. ๑๓๐
เวลาบ่าย ๕ โมง ๑๘ นาที พระเถระทั้งหลายได้ประชุมเข้ากันเป็นเถรสมาคม
ผู้ประชุม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
สมเด็จพระวันรัต
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
พระพิมลธรรม
พระธรรมวโรดม
พระธรรมโกษาจารย์
พระธรรมปาโมกข์
พระราชโมลี
พระราชมุนี
พระสาสนดิลก
พระธรรมวิหารีเถรฯ
เมื่อพระเถระทั้งหลายได้ประชุมพร้อมกันเป็นคณะเถรสมาคมแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสนำขึ้นว่า ทรงเรียกประชุมวันนี้ เพื่อจะปฤกษากำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ฯ เมื่อ ศก ๑๒๔ ได้มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารในนั้นยกเว้นภิกษุทั่วไป แต่สามเณรยกเว้นโดยเอกเทศ เฉพาะแต่สามเณรรู้ธรรม ฯ การกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนี้ เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ขอให้กระทรวงธรรมการเป็นผู้กำหนด กระทรวงธรรมการก็จะต้องอาศัยพระช่วยกำหนดให้ จึงเชิญท่านทั้งหลายมาเพื่อจะให้ช่วยกันกำหนด ฯ เราไม่มีอำนาจที่จะออกความเห็นวินิจฉัย พระราชบัญญัติ เมื่อตั้งขึ้นแล้ว เป็นน่าที่ของเราที่จะต้องอนุวัติตาม ประเพณีนี้ก็ได้มีเป็นอย่างมาในครั้งพระพุทธกาลแล้ว เช่นในมหาวรรควินัยว่า เมื่อภิกษุ กำลังทำอุโบสถก็ดี ทำปวารณาก็ดี ค้างอยู่ มีพระราชาจะมาจับภิกษุนั้น ที่แปลว่า ราชการจะเอาตัว ให้ขอผัดไว้ พอได้ทำกิจนั้นเสร็จก่อน ข้อนี้แปลว่าพระยอมอนุวัติราชการ ไม่ขัดขืน แลคนที่จะตั้งอยู่เป็นหมวดหมู่กันได้ ที่เรียกว่าบ้านเมือง ต้องมีคนช่วยกันทำธุระหลายหน้าที่ กล่าวตามบาลี ต้องมีวรรณะทั้งสี่ คือ พวกขัตติยะ เป็นผู้ป้องกันอันตรายภายนอกภายใน พราหมณ์ เป็นผู้สอนให้คนมีความรู้แลความดี พวกเรานับเข้าอยู่ในหมวดนี้ เวสสะ เป็นผู้ทำของที่เกิดแต่ฝีมือ หรือรับของเหล่านั้นมาจำหน่าย เพื่อบำรุงสุขของประชาชน สุททะ เป็นผู้รับทำการงานของผู้อื่นด้วยแรง เพื่อความสะดวกของมหาชน แต่หน้าที่ของผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องการจะทำให้เต็มที่ เช่นเราเป็นพวกพระ ก็ต้องการจะได้คนมาฝึกสอนอบรม ฝ่ายพวกทหาร ก็ต้องการจะได้คนเข้าเป็นทหาร แต่คนทั้งปวงจะเป็นพระหรือเป็นทหารทั้งนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นเลยไม่ได้ ต้องแบ่งเป็นนั่นบ้าง เป็นนี่บ้าง ๆ ข้อที่จะกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนั้น ก็แปลว่า จะกำหนดว่า คนเช่นไรจะขอเอาไว้ คนเช่นไรจะยอมปล่อยให้เข้ารับราชการทหาร เบื้องต้นที่จะกำหนด ควรจะต้องไต่สวนถึงพวกสามเณรในหัวเมืองมณฑลก่อน ว่ามีประโยชน์อย่างไรแก่พระศาสนาบ้าง เจ้าคณะ มณฑลทั้งหลายต่างแสดงความข้อนี้ คือ ในมณฑลจันทบุรี มีสามเณรมหานิกายเพียงรูปเดียว นอกจากนั้นมีแต่ในวัดจันทนารามซึ่งเป็นธรรมยุต ฯ ในมณฑลนครราชสีมามีสามเณร แต่เมื่อถึงกำหนดเรียกเข้าราชการทหารก็สึกออกไป เป็นธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว แลพระก็ไม่เสื่อม ฯ ในมณฑลนครชัยศรี มณฑลพายัพ มณฑลอุดร สามเณรหามีประโยชน์แก่พระศาสนาไม่ ฯ ในมณฑลนครสวรรค์กับมณฑลอีสาน เจ้าคณะมณฑลรับรองว่ามีประโยชน์ แต่ไล่เลี้ยงดูก็ไม่ได้ความชัดว่ามีประโยชน์อย่างไร แลให้กำหนดองค์ ก็กำหนดลงไม่พอที่จะเห็นว่าเป็นประโยชน์แท้ ส่วนมณฑลกรุงเทพฯ เจ้าคณะมณฑลถูกตำหนิ ถูกห้ามไม่ให้เข้าที่ประชุม มณฑลพิษณุโลก เจ้าคณะมณฑลไปส่งพระวรญาณมุนีที่พิษณุโลก มณฑลปาจีนกับมณฑลชุมพร เจ้าคณะมณฑลไปตรวจการยังไม่กลับ นอกจากนั้นเจ้าคณะมณฑลไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ยังไม่ได้ถาม ฯ สมเด็จกรมพระยาฯ ทรงปรึกษาองค์ของสามเณรในกรุงเทพฯ เองฯ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ทรงเห็นควรจะเอาสามเณรที่ได้ตั้งแต่ประโยคหนึ่งขึ้นไป ฯ สมเด็จพระวันรัต พระธรรมวโรดม พระธรรมโกษาจารย์ พระธรรมปาโมกข์ เห็นว่าควรกำหนดเอาสามเณรผู้แปลมคธภาษาได้ถ้าเรียนไปอีกสักปี ๑ จะเป็นบาเรียนได้ แลต้องรู้ธรรม คือ สิกขาแลกิจวัตรของสามเณรด้วย ฯ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ต้องการจะแปลคำว่าสามเณรรู้ธรรม ว่าเป็นผู้รู้จักปฏิบัติดี ฯ พระพิมลธรรมเห็นสมควรกำหนดเอาผู้รู้สิกขาของสามเณรเท่านั้น ส่วนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ไม่กำหนดอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อสามเณรต้องเรียก ก็ยอมให้เข้าราชการฯ สมเด็จกรมพระยา ฯ ตรัสว่า ทรงเห็นควรเอาไว้แต่สามเณรที่จะเป็นคนเรียนรู้ แลทำประโยชน์ให้แก่พระศาสนาได้ การกำหนดต้องให้สมแก่นักเรียนอุดมศึกษา แลความรู้ต้องให้เวลาเรียนไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ที่เป็นกำหนดเกณฑ์รับราชการ เพราะฉะนั้น ในส่วนรู้ภาษามคธทรงเห็นชอบตามที่พระเถระทั้งหลายกำหนดนั้น ส่วนรู้ธรรมเพียงแต่รู้ธรรมของสามเณร ทรงเห็นอ่อนไป แต่ยังทรงรู้สึกอยู่ว่า หลักสูตรที่วัดบวรนิเวศอยู่ข้างจะสูง แลเป็นกำหนดคราวแรก อ่อนไว้หน่อยก็ยังได้ ภายหลังจึงค่อยรัดเข้า ฯ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ทูลถามว่า ข้อที่ว่าความรู้ จวนเป็นบาเรียนได้นั้น จะกำหนดอย่างไร ตรัสว่าตั้งกรรมการสอบให้ผู้แปลเขียนให้ดู เมื่อกรรมการตรวจเห็นว่าใช้ได้ เอาเป็นมีความรู้ ฯ ความเห็นที่ตกลงกันในที่ประชุม เถรสมาคม ดังนี้ :
๑. กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ให้กำหนดตามสมควรแก่ความรู้ที่ต้องการในมณฑลนั้น ๆ มุ่งเอาประโยชน์พระศาสนาเป็นที่ตั้ง ฯ
๒. องค์ของสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ นั้น รู้มคธภาษา กรรมการสอบเห็นว่าใช้ได้ รู้ธรรมของสามเณร ฯ
๓. สามเณรที่ไม่มีประโยชน์แก่พระศาสนา คือว่าแม้สึกเข้ารับราชการก็ไม่เป็นเหตุเสื่อมการข้างวัด เช่น ขาดคนเล่าเรียนจะหาคนมีความรู้ได้น้อย เมื่อต้องเรียก ก็ให้สึกเข้ารับราชการ ฯ
เลิกประชุมเวลาย่ำค่ำ ๒๖ นาที
*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๒๑-๑๒๖.)
กระทรวงธรรมการ*
วันที่ ๘ เดือนสิงหาคม ร.ศ. ๑๓๐
ขอพระราชทานกราบบังคมทูล ทราบฝ่าละอองพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้ร่างประกาศเรื่องสามเณรรู้ธรรม สอดซองทูลเกล้าฯ ถวายมานี้ เพื่อขอพระบารมีเป็นที่พึ่งทรงตรวจ เพราะเป็นเรื่องแปลกอยู่ และคิดด้วยเกล้าฯ ว่า เห็นจะต้องทูนเกล้าฯ ถวายก่อนประกาศด้วย ทั้งจะต้องรีบประกาศ ด้วยเวลาจวนนัก ส่วนบัญชีสำหรับลงทะเบียน และใบประกาศนียบัตรนั้น จะได้รับพระราชทานทำขึ้นถวายทรงตรวจในภายหลัง ข้าพระพุทธเจ้าจะได้มาฟังพระกระแสในเวลาพรุ่งนี้ ทั้งนี้จะควรประการใด แล้วแต่จะโปรดเกล้า
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า วิสุทธสุริยศักดิ์
*(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา, หน้า ๒๐๗-๒๑๑.)
ร่าง
เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เผดียงมายังสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ พระครู เจ้าอาวาสทั้งหลายทราบทั่วกัน
ด้วย ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นศาสนูปถัมภก ในพระบวรพุทธศาสนา ได้ทรงจัดการทนุบำรุงปกครองพระราชอาณาจักรให้รุ่งเรืองขึ้น และได้ตั้งพระราชบัญญัติ จัดการเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้ารับราชการทหาร เพื่อป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตให้มีความสงบราบคาบ เพื่อสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร จะได้อยู่เย็นเป็นสุข บรรดาชายที่มีอายุสมควรที่จะเข้ารับราชการทหารได้ ก็ให้มีโอกาสที่จะได้มีส่วนช่วยป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตทั่วหน้ากัน แต่หากทรงพระราชรำพึงถึงการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาสำหรับทนุบำรุงเชิดชูพระพุทธศาสนาส่วนหนึ่ง ทรงพระราชปริวิตกว่า บรรดาชายหนุ่ม ซึ่งมีนิสัยและปรารถนาจะศึกษาทางนี้ จะขาดโอกาสที่จะศึกษาในเวลาอันสมควร จึงได้ทรงพระมหากรุณา พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ยกเว้น ผู้ที่มุ่งเข้าไปศึกษาในเพศบรรพชิตได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย อันเรียกตามพระราชบัญญัตินั้นว่า “สามเณรรู้ธรรม” ให้คงงดเว้นราชการทหารชั่วเวลาที่ปฏิบัติการศึกษาอยู่ในเพศบรรพชิต ทั้งนี้ ก็เป็นพระราชประสงค์ที่จะทรงยกย่องเชิดชูพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นนิจ มิให้เสื่อมทราม แต่การที่จะยกเว้นราชการแก่ผู้ที่มุ่งในการศึกษา ข้างฝ่ายพระพุทธศาสนา อันชื่อว่าสามเณรรู้ธรรมนั้น ยังไม่มีขีดขั้นว่าเพียงใดจะชื่อว่าสามเณรรู้ธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพระราชอาณาจักอาราธนา พระเถรานุเถระเพื่อหารือความข้อนี้ อันจะได้กำหนดลงไว้เป็นหลัก นับเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระบรมราชานุญาต
บัดนี้ พระเถรานุเถระ เจ้าคณะทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่สังฆนายกเป็นประธาน ได้หารือ กำหนดองคคุณแห่งสามเณรรู้ธรรมลงเป็นหลักว่า
๑. กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ให้กำหนดตามสมควรแก่ความรู้ที่ต้องการในมณฑลนั้น ๆ มุ่งเอาประโยชน์พระศาสนาเป็นที่ตั้ง
๒. องค์ของสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ นั้น รู้มคธภาษา กรรมการสอบ เห็นว่าใช้ได้ กับรู้ธรรมของสามเณรด้วย
๓. สามเณรที่ไม่มีประโยชน์แก่พระศาสนา คือว่า แม้สึกเข้ารับราชการ ก็ไม่เป็นเหตุเสื่อมการข้างวัด เช่น ขาดคนเล่าเรียน จะหาคนมีความรู้ได้น้อยเป็นต้น สามเณรเช่นนั้น เมื่อต้องเรียก ก็ให้สึกเข้ารับราชการ
ดังนี้ แต่การที่จะตรวจสอบให้ทราบองคคุณของสามเณรนั้น ๆ จำที่จะต้องตั้งกรรมการสงฆ์ ผู้สอบไล่เป็นคณะ ๆ ไป กี่คณะและที่ใดบ้าง เพิ่มและลดได้ตามสมควร และเมื่อกรรมการสงฆ์ได้สอบไล่เสร็จแล้ว และให้หนังสือสำคัญเป็นเครื่องหมาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายฆราวาสก็จะได้ถือเอาหนังสือสำคัญนั้นเป็นหลักสำหรับการยกเว้น
บัดนี้ จึงขอเผดียงแก่พระเถรานุเถระ เจ้าคณะและเจ้าอาวาสทั้งหลาย ให้ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่สังฆนายก ได้ทรงกำหนดสถานที่ที่จะสอบไล่ความรู้ขึ้นในกรุงเทพฯ บัดนี้ ๔ ตำบล คือ
ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ๑
ที่วัดมหาธาตุ ๑
ที่วัดสุทัศนเทพวราราม ๑
ที่วัดเบญจมบพิตร ๑
กำหนดกาลที่จะสอบไล่ คือในต้นเดือนกันยายนครั้งหนึ่ง ในต้นเดือนมีนาคมครั้งหนึ่ง รวมปีละ ๒ ครั้งให้การสอบไล่เป็นเสร็จได้ออกหนังสือสำคัญ ภายในวันที่ ๑๕ แห่งเดือนนั้น ๆ เหตุฉะนั้น วัดใดมีสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในทางนี้เท่าใด และสมัครจะเข้าสอบไล่ ถ้าเป็นวัดอื่นนอกจากสถานที่สอบไล่ ก็ให้เจ้าอาวาส บอกบัญชีไปสมทบสำนักที่สอบไล่ สำนักใดสำนักหนึ่ง ตามแต่จะสมัคร บัญชีนั้นให้แจ้งรายการตามหัวข้อที่ได้กำหนดไว้ในท้ายหมายนี้ ให้การส่งบัญชีเป็นเสร็จก่อนวันที่ ๑ ของเดือนที่จะสอบไล่นั้น ๆ แล้วให้ฟังกำหนดนัดสอบไล่จากกรรมการสงฆ์แห่งสำนักนั้น ๆ
ส่วนสำนักที่จะสอบไล่นั้น ถ้าจะมีที่อื่นในกรุงเทพฯ อีกต่อไปก็จะได้เผดียงให้ทราบในภายหลัง ฝ่ายในหัวเมือง ถ้ามณฑลใดสมัครจะให้มีการสอบไล่เช่นนี้ ก็ขอเจ้าคณะมณฑลนั้น ๆ จงแจ้งเหตุไปยังกระทรวงธรรมการ เพื่อจะได้กราบทูลไปยังสมเด็จพระสังฆนายก เพื่อทรงตั้งกรรมการในมณฑลนั้น ๆ ต่อไป
หัวข้อรายการที่จะส่งบัญชี
๑. ชื่อสามเณรผู้จะเข้าสอบไล่
๒. วัน เดือน ปีเกิด
๓. ตำหนิ ๓ แห่ง
๔. ชื่อบิดา
๕. ชื่อมารดา
๖. บ้านที่จดสำมะโนครัวเดิม
ก. เลขหมายบ้าน
ข. ตำบล
ค. โรงพักกองตระเวน
ฆ. อำเภอ
ง. เมือง
๗. ที่อยู่ในบัดนี้
ก. สำนัก
ข. วัด
ค. ตำบล
ฆ. โรงพักกองตระเวน
ง. อำเภอ
จ. เมือง
๘. ได้บวชและได้เรียนมาชั่วเวลาเท่าใด
กระทรวงธรรมการ
วันที่ สิงหาคม ร.ศ. ๑๓๐
รองเสนาบดี
รายงานประชุมเถรสมาคม*
เรื่องกำหนดองค์ของสามเณรผู้รู้ธรรม
ครั้งที่ ๒
วันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ เวลาบ่าย ๕ โมง ๑๐ นาที
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จประทับในเถรสมาคม ที่ชุมนุมสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะผู้ใหญ่แลพระราชาคณะ ผู้เป็นเจ้าคณะมณฑล ๑๓ รูป คือ
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
สมเด็จพระวันรัต
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
พระพิมลธรรม
พระธรรมวโรดม
พระธรรมโกษาจารย์
พระธรรมปาโมกข์
พระธรรมเจดีย์
พระธรรมไตรโลกาจารย์
พระราชมุนี
พระศรีสมโพธิ
พระธรรมวิหารีเถร
ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฯ
ตรัสเปิดประชุมว่า เมื่อมิถุนายนหลัง ได้ประชุมเถรสมาคม กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ซึ่งควรจะได้รับยกเว้นจากต้องเรียกเป็นทหารตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ได้ทรงจัดการไปอย่างไร ได้ผลอย่างไร ทรงเรียงมาเพื่อจะทรงอ่านในที่ประชุม ฯ ทรงอ่านเรื่องนั้นแล้วตรัสอธิบายว่า เมื่อประชุมครั้งก่อน ที่ประชุมเห็นเรียนธรรมเป็นยากหนักไปข้างมคธภาษาที่ชินอยู่ แต่ความรู้ธรรมอย่างสามัญนั้นได้ทรงเริ่มจัดมานานแล้ว ตรัสเล่าจำเดิมแต่เหตุปรารภแต่งนวโกวาทขึ้น แลได้ใช้ฝึกสอนมาในสำนักของพระองค์เอง แลวัดอื่นได้รับใช้ตามอย่างได้ผลดีทั้งผู้ยังบวชแลผู้สึกไปแล้ว เมื่อกำหนดองค์สามเณรรู้ธรรม ทรงเห็นว่าจะขยายความรู้ธรรมถึงชั้นนี้ได้ จึงได้ทรงตั้งหลักสูตรขึ้นดังนั้น ฯ กำหนดเอาความรู้ในมคธภาษานั้น เป็นการหนักแก่สามเณรผู้จะเรียนให้ทันเวลาทั้งไล่ได้แล้ว จะจัดว่าเป็นผู้มีความรู้ก็ยังไม่ได้ และจะจัดในหัวเมืองก็ไม่ได้ทั่วไป ฯ เมื่อเสด็จไปหัวเมืองเหนือ คราวนี้เอง ได้ทรงปรารภถึงการเรียนของพระสงฆ์หัวเมือง ทรงเห็นว่าได้รับบำรุงเข้า คงดีขึ้นกว่าปล่อยให้เป็นอยู่ตามลำพัง เมื่อได้จัดให้แพร่หลายแล้ว จะเป็นประโยชน์กว้างขวาง ดีกว่าจะมัวบำรุงในทางมคธภาษาอย่างเดียว แม้ว่าการรู้มคธภาษาเป็นหลักแห่งการรู้ปริยัติ จึงได้ทรงจัดระเบียบเป็น ๒ อย่าง อย่างสามัญไม่เกี่ยวกับมคธภาษาสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไปทั้งในกรุงแลหัวเมือง อย่างวิสามัญนั้น สำหรับภิกษุสามเณรในสำนักที่สอบมคธภาษาได้ด้วย ฯ ต่อไปทรงแสดงพระดำริจะจัดการนี้ให้เข้ารูปอย่างไร ทรงอาศัยหลักในพระวินัยที่จัดภิกษุเป็น ๓ จำพวก คือ เถระ ๑ มัชฌิมะ ๑ นวกะ ๑ หลักสูตรที่ตั้งขึ้นทั้ง ๒ ประโยค ทั้งสามัญ และวิสามัญนั้น จัดเป็นนวกภูมิ เป็นความรู้นวกภิกษุ เป็นภูมิต้น ต่อไปจะคิดขยายให้ถึงมัชฌิมภูมิ แลเถรภูมิ บำรุงความรู้ให้ลึกโดยลำดับ แลจะให้เข้ากันได้กับหลักสูตรปริยัติที่ใช้อยู่ บัดนี้
ที่ประชุมเห็นชอบตามกระแสพระดำริ แลอนุมัติหลักสูตรสำหรับสอบความรู้ธรรมทั้ง ๒ อย่าง ดังมีแจ้งในพระอักษรที่ทรงเรียงมานั้น ๆ
เลิกประชุมเวลาบ่าย ๕ โมง ๔๐ นาที
*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๒๖-๑๓๒)
คำชี้แจงแก่เถรสมาคม
ในเรื่องกำหนดองค์สามเณรรู้ธรรม
เมื่อมิถุนายนหลัง เถรสมาคมได้กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ ไว้คือ รู้ภาษามคธพอใช้ได้ แลรู้ธรรมของสามเณร ส่วนในหัวเมืองมณฑลกรุงเทพฯ ก็ดี ในมณฑลอื่นก็ดี ให้กำหนดตามสมควรแก่ความรู้ที่ต้องการในมณฑลนั้น ๆ กระทรวงกลาโหมยอมรับตามนั้นแล้ว ฯ ข้าพเจ้าได้กำหนดตั้งหลักสูตรตามเค้านั้น ภาษามคธเพียงท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท ธรรมของสามเณรนั้น เลือกเอาธรรมวิภาคในนวโกวาทกับแต่งความแก้กระทู้ธรรม จะเอาแต่เพียงสามเณรานุสิกขา เห็นว่าอ่อนเกินไป แลได้จัดการสอบไล่เป็นตำบล ๆ ๓ ตำบล ที่วัดบวรนิเวศ ๑ ที่ วัดมหาธาตุ ๑ ที่วัดเบญจมบพิตร ๑ เลือกพระราชาคณะบ้าง พระเปรียญบ้างเป็นกรรมการผู้สอบ หมวดหนึ่งอย่างน้อย ๓ รูป ฯ มีสามเณรเข้าสอบรวมทั้ง ๓ ตำบล ๑๗๙ รูป ได้ ๑๓๙ รูป ตก ๔๐ รูป ฯ ในจำนวนที่ได้นั้นจัดเป็น ๓ ชั้น ได้ครบ ๓ อย่างจัดเป็นเอก ได้ ๔๘ รูป ได้แต่ ๒ อย่างจัดเป็นโท ได้ ๔๔ รูป ได้แต่อย่างเดียวจัดเป็นตรี ได้ ๔๗ รูป ฯ ชั้นโทแลชั้นตรีตกความรู้อย่างใด ความรู้อย่างนั้นก็เป็นอันได้เรียนเหมือนกันแต่หากยังไม่ชำนาญ ฯ พิจารณาดูความรู้ของสามเณร ๓ ชั้นนั้น ชั้นเอกมีความรู้ดีกว่าผู้ได้ประโยคธรรมบทอันยังค้าง ไม่ครบกำหนดเป็นเปรียญ ชั้นโทมีความรู้พอสมควรได้รับยกเว้นจากความต้องเรียกเป็นทหาร เพื่อเล่าเรียนสืบอายุพระศาสนา ชั้นตรีอยู่ข้างจะอ่อนไป ยังควรแก้ไขอีกเพื่อได้ความรู้สูงขึ้น ฯ ข้าพเจ้าขอให้กระทรวงธรรมการกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สามณรผู้ได้ชั้นเอก เป็นสามเณรรู้ธรรมประโยค ๑ เมื่อเข้าแปลปริยัติ ให้แปลแต่ประโยค ๒ ขึ้นไป ถ้าได้จัดองค์สำหรับประโยค ๒ แลมีผู้สอบได้ ขอให้ได้เป็นเปรียญ ๒ ประโยคดุจรามัญ เทียบเปรียญ ๓ ประโยค ฯ สามเณรรู้ธรรมประโยค ๑ เข้าแปลปริยัติในเที่ยวนี้ ๓๑ รูป ได้ตลอดประโยค ๓, ๑๐ รูป ได้เพียงประโยค ๒, ๗ รูป ตกประโยค ๒, ๑๓ รูป ยังไม่ได้เข้าแปลประโยค ๓ อีก ๑ รูป นับแต่ที่ได้ประโยค ๓ ก็ราว ๑ เสี้ยวที่สาม นับทั้งได้ประโยค ๒ ด้วย ก็กว่าครึ่งจำนวนที่เข้า ฯ
การกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมเช่นนี้ ทำให้สามเณรมีความรู้ดีขึ้นเห็นปรากฏดังนี้ แต่ยังแคบ เพราะใช้ได้แต่ในกรุงเทพฯ หรือเฉพาะวัดมีที่เรียนปริยัติ ในหัวเมืองจะจัดตามนี้ก็ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้หลักสูตรในกรุงเทพฯ ยังสูงมากกว่าที่จะจัดในหัวเมือง ทั้งยกให้แล้วว่าในกรุงควรจะสูงกว่าในหัวเมืองแลยังสูงสำหรับวัด อันไม่มีที่เรียนปริยัติในกรุงเทพฯ นี้เอง เห็นควรจะแก้ไขให้ได้ประโยชน์กว้างกว่านี้ ตามระเบียบดังต่อไปนี้ :
๑. ตั้งหลักสูตรสำหรับสอบความรู้ธรรมเป็น ๒ อย่าง เป็นสามัญอย่าง ๑ วิสามัญอย่าง ๑ อนุญาตให้เข้าสอบได้ทั้งภิกษุ ทั้งสามเณร แต่ต้องรู้จักเขียน รู้จักแต่งภาษาไทยใช้ได้แล้ว ฯ
๒. อย่างสามัญนั้น เว้นมคธภาษา แบ่งเป็น ๒ ประโยค คือ ประโยค ๑ ธรรมวิภาคกับเรียงความแก้กระทู้ธรรม ไม่ต้องชักที่มา ต้องได้พร้อมกันทั้ง ๒ อย่าง ในคราวเดียว ฯ
ประโยค ๒ พุทธประวัติย่อกับเรียงความแก้กระทู้ธรรมชักที่มาในหนังสือไทย สุดแต่จะกำหนดให้ว่ากี่แห่ง ต้องได้พร้อมกันทั้ง ๒ อย่างในคราวเดียว ฯ
สอบได้ทั้ง ๒ ประโยคนี้ เป็นนักธรรม ๒ ประโยค ก่อนแต่จะรับประกาศนียบัตร ภิกษุต้องสอบวินัยบัญญัติในนวโกวาทให้ได้ก่อน สามเณรยังรับไม่ได้ กว่าจะอุปสมบทแล้ว แลสอบวินัยบัญญัติได้แล้ว ฯ
๓. อย่างสามัญนี้ จะจัดทั่วไปเป็นแบบเดียวกันทั้งในกรุงทั้งในหัวเมือง ฯ ผู้สอบอย่างสามัญได้เพียงประโยค ๑ ได้รับยกเว้นตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ฯ
๔. อย่างวิสามัญนั้น ต้องสอบมคธภาษาเติมเข้าด้วย แบ่งเป็น ๒ ประโยค คือ
ประโยค ๑ อรรถกถาธรรมบท มีแก้อรรถด้วย ฯ
ประโยค ๒ บาลีไวยากรณ์ แลสัมพันธ์ ฯ
จะสอบในคราวเดียวกันกับอย่างสามัญก็ได้ หรือได้ชั้นสามัญมาแล้ว จะสอบเพิ่มก็ได้ ฯ สอบได้ ๒ ประโยคนี้ เป็นเปรียญธรรม ๒ ประโยค เทียบเปรียญปริยัติ ๓ ประโยค ฯ
๕. อย่างวิสามัญนี้ จะจัดเฉพาะแต่ในกรุงเทพฯ เท่านี้ฯ ทั้ง ๒ อย่างนี้ ถ้าทำหนังสืออันจะใช้เป็นหลักสูตรสำเร็จก็จะขยายขึ้นไปอีก ฯ
ข้าพเจ้าแน่ใจว่า ถ้าจัดอย่างนี้ การเรียนธรรมของภิกษุสามเณรจะเจริญ ทั้งในกรุงทั้งในหัวเมือง จะได้ผู้มีความรู้ช่วยกิจพระศาสนาอีกมาก ฯ จัดการเรียนเฉพาะแต่ในทางมคธภาษาถึงเป็นหลักก็จริง แต่แคบ ความรู้อันนี้ ไม่แพร่หลายไปในหัวเมือง ภิกษุสามเณรในหัวเมืองไม่ได้เรียนในทางนี้แล้วยังซ้ำไม่ได้เรียนในทางอื่นด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงหาพระสมควรเป็นเจ้าอาวาส เป็นอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะ ได้ เป็นอันยาก แต่ผู้ทำหน้าที่เหล่านี้จำต้องมี เมื่อจัดสอนความรู้สามัญในหัวเมืองขึ้นแล้ว คงเปลื้องความขัดข้องข้อนี้ไปได้มาก ฯ เพียงแต่เท่าที่จัดมาแล้ว ยังให้ผลดีเห็นปรากฏอยู่ ถ้าได้จัดขยายออกไป ก็คงได้ประโยชน์มากออกไป ข้าพเจ้าจึงแน่ใจแลกล่าว ดังนี้ ฯ
(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐
ที่ ๗๑/๑๗๘*
วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐=๒๔๕๔
แจ้งความแก่พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการฯ
ฉันส่งรายงานการประชุมเถรสมาคม เรื่องกำหนดองค์ของภิกษุสามเณรรู้ธรรมมา เธอจงกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อตั้งหลักสูตร สำหรับสอบความรู้ธรรม ดังต่อไปนี้ :-
๑. นวกภูมิ เป็นความรู้สำหรับนวกภิกษุและสามเณร จัดเป็น ๒ อย่าง สามัญอย่าง ๑ วิสามัญอย่าง ๑ อนุญาตให้เข้าสอบได้ทั้งภิกษุทั้งสามเณร แต่ต้องรู้จักเขียนรู้จักแต่งภาษาไทยใช้ได้แล้ว ฯ
๒. อย่างสามัญนั้น เว้นมคธภาษา แบ่งเป็น ๒ ประโยค คือ
ก. ประโยค ๑ ธรรมวิภาคกับเรียงความแก้กระทู้ธรรมไม่ต้องชักที่มา ต้องได้พร้อมทั้ง ๒ อย่างในคราวเดียว
ข. ประโยค ๒ พุทธประวัติย่อกับเรียงความแก้กระทู้ธรรม ชักที่มาในหนังสือไทย สุดแต่จะกำหนดให้ว่ากี่แห่ง ต้องได้พร้อมกันทั้ง ๒ อย่าง ในคราวเดียว ฯ
๓. สอบได้ทั้ง ๒ ประโยคนี้ เป็นนักธรรม ๒ ประโยค ก่อนแต่จะรับประกาศนียบัตร ภิกษุต้องสอบวินัยบัญญัติในนวโกวาทให้ได้ก่อน สามเณรยังรับไม่ได้ กว่าจะอุปสมบทแล้ว และสอบวินัยบัญญัติได้แล้ว ฝ่ายผู้สอบได้เพียงประโยค ๑ ยังไม่ให้ประกาศนียบัตร เป็นแต่ได้รับยกเว้นตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ฯ
๔. อย่างวิสามัญนั้น ต้องสอบภาษามคธเติมเข้าด้วย แบ่งเป็น ๒ ประโยค คือ :
ก. ประโยค ๑ อรรถกถาธรรมบท มีแก้อรรถด้วย
ข. ประโยค ๒ บาลีไวยากรณ์และสัมพันธ์
จะสอบในคราวเดียวกันกับอย่างสามัญก็ได้ หรือได้ชั้นสามัญมาแล้ว จะสอบเพิ่มก็ได้ ฯ
๕. สอบได้ ๒ ประโยค นี้เป็นเปรียญธรรม ๒ ประโยคเทียบเปรียญปริยัติ ๓ ประโยค ฯ
ในเวลานี้ จัดได้เพียงเท่านี้ก่อน ฯ
(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส
ป.ล.
ความยกเว้นจากต้องเรียกเป็นทหารนั้น เมื่อปลูกความรู้อย่างสามัญเจริญแล้ว ขยายออกมาถึงประโยค ๒ ก็ได้ แต่อย่างวิสามัญเพียงประโยค ๑ ดีแล้ว ฯ
(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส
(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๓๓-๑๓๕.)
ที่ ๔๔/๑๑๕๖*
วันที่ ๒๗ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๓๐
ถึง พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์
ด้วยได้รับหนังสือที่ ๕๖๗/๔๖๙๕ ลงวันที่ ๒๓ เดือนนี้ ว่าสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริจะจัดการศึกษาของภิกษุสามเณรให้เจริญขึ้น ได้ทรงแบ่งการศึกษาเป็น ๓ ชั้น ตามหลักพระวินัย ซึ่งจัดภิกษุเป็น ๓ พวก คือ เถระ มัชฌิมะ และนวกะ จะทรงรวมการเรียนพระปริยัติธรรม การเรียนนวโกวาท กับการเรียนความรู้ธรรมของสามเณรที่จัดใหม่ให้เข้ากลมเกลียวกัน เบื้องต้นจะให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในชั้นนวกะ ต่อไปจะให้ถึงได้ผลเป็นทางเลือกพระภิกษุเป็นเจ้าอาวาส และเลือกหาผู้เป็นเจ้าคณะ ได้ทรงร่างพระดำริห์ชุมนุมเถระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปรึกษาตกลงตั้งหลักสูตรในชั้นนวกะขึ้นชั้นหนึ่ง ยังต่อไปอีก ๒ ชั้น จะขยายการขึ้นในภายหน้า ส่งสำเนาลายพระหัตถ์ และรายงานการประชุมเถรสมาคมและพระดำริห์ในเรื่องนี้ มาขออนุญาตนั้น ทราบแล้ว อนุญาต
(พระบรมนามาภิธัย) สยามินทร์
*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๓๕-๑๓๖.)
อธิบายการสอบไล่องค์ของสามเณรรู้ธรรม
(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา, หน้า ๒๐๕-๒๐๖.)
๑. จะมีกรรมการเป็นผู้สอบ อย่างน้อย ๓ รูป
๒. หลักสูตรสำหรับสอบ คือ
ก. แปล มคธ เป็นไทย ใช้อรรถกถาธรรมบท เขียน (แต่ในคราวต้น แปลด้วยปากก็ได้) ประมาณ ๒ หน้าสมุดพิมพ์
ข. เขียนตอบปัญหาธรรมวิภาคในนวโกวาท ๒๑ ข้อ ข้อนี้เป็นพิเศษ
ค. เรียงความแก้กระทู้ธรรมในพุทธศาสนสุภาษิต ๑ ข้อ ตามแต่จะเรียงได้อย่างไร แม้ข้อนี้ก็เป็นพิเศษ
๓. วิธีตรวจนั้น ดังนี้
ก. ประโยคแปล เป็นแต่อ่านดูเท่านั้น ไม่มีลดคะแนน (ถ้าแปลปาก ก็ฟัง ไม่มีทัก) แล้วลงสันนิษฐานว่า ใช้ได้หรือไม่ได้
ข. ตอบปัญหาธรรมวิภาค ยอมให้ผิดได้ ๖ ข้อเต็ม หรือให้คะแนน ๘๔ ผิดข้อหนึ่ง ลด ๑๔ คะแนน ผิดกึ่งข้อลด ๗ บกพร่องเล็กน้อย แบ่งลดลงมาตามควร หมดคะแนน เป็นใช้ไม่ได้ ยังเหลือ จึงใช้ได้
ค. เรียงความแก้กระทู้ธรรม อ่านตรวจแล้วลงสันนิษฐาน
๔. ในประโยคอันหนึ่ง ๆ กรรมการทั้งนั้นหรือโดยมาก เห็นว่าใช้ได้ จัดเป็นได้ เห็นว่าใช้ไม่ได้ จัดเป็นตก
๕. ผู้เข้าสอบจะสอบเพียงแปลมคธก็ได้ แต่ถ้าตก เป็นอันตกทีเดียว ถ้าได้ ต้องสอบสามเณรานุสิกขา ตอบข้อถามด้วยปากกว่าจะได้ จัดเป็นชั้นตรี
๖. ถ้าสอบทั้งสามข้อ ตกแปลมคธ แต่ได้ธรรมวิภาค และเรียงความรวม ๒ อย่าง จัดเอาเป็นได้ชั้นตรีเหมือนกัน
๗. ถ้าแปลมคธได้แล้ว ได้ธรรมวิภาคหรือเรียงความเพิ่มขึ้น ๑ อย่าง รวมเป็น ๒ อย่าง จัดเป็นชั้นโท
๘. ถ้าแปลมคธได้แล้ว ได้ทั้งธรรมวิภาคทั้งเรียงความ รวมเป็น ๓ อย่าง จัดเป็นชั้นเอก
๙. ผู้เข้าสอบทั้ง ๓ อย่าง ไม่ต้องสอบสามเณรานุสิกขา
แจ้งความ*
เรื่องรับความรู้องค์นักธรรมประโยค ๑ ประโยค ๒
ของผู้สอบได้ในที่อื่นมาแล้ว
สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ พระมหาสมณะ รับสั่งให้แจ้งความว่า วัดที่ได้จัดการสอบความรู้องค์นักธรรมมานานแล้ว จนภิกษุสามเณรในวัดมีความรู้ธรรมวินัยเจริญขึ้น ได้สอบถึงพุทธานุพุทธประวัติมีอยู่ ความรู้ที่สอบได้ในวัดเหล่านี้ ในเวลานี้ ยังสูงกว่าความรู้ที่สอบในสนามหลวงที่เริ่มจัดขึ้นใหม่ สมควรจะรับความรู้ของผู้สอบได้มาแล้ว ไม่ต้องให้สอบใหม่ เพราะเหตุนั้น ภิกษุสามเณรผู้จะสอบความรู้องค์ของนักธรรมเปรียญธรรมประโยคพิเศษ จงนำใบสอบได้ในวัดที่อยู่ หรือในสำนักอื่นที่ครบประโยคแล้ว ยื่นต่อสนามหลวง คือ เรียงความแก้กระทู้ธรรม และตอบปัญหาธรรมวิภาค รวมเป็นประโยค ๑ ตอบปัญหาวินัยบัญญัติ และตอบปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ รวมเป็นประโยค ๒ ถ้าตรวจเห็นว่าใช้ได้
ก็จะรับความรู้นั้นว่าเป็นอันสอบได้แล้ว ถ้าแปลอรรถกถาธรรมบทประโยค ๑ ได้ นับว่าเป็นนักธรรมประโยค ๑ พิเศษ
ถ้าแปลประโยค ๒ ได้ นับว่าเป็นเปรียญธรรมประโยค ๒ เหมือนเปรียญรามัญ เทียบได้กันกับเปรียญ ๓ ประโยค
จะได้รับพระราชทานพัดยศอย่างเปรียญ ๓ ประโยค แต่สามเณรยกวินัยบัญญัติไว้พลาง เมื่ออุปสมบทแล้ว ต้องสอบวินัยบัญญัติให้ได้ก่อน จึงจะได้รับพระราชทานพัดยศเปลี่ยน ฝ่ายภิกษุสามเณรผู้แปลอรรถกถาธรรมบท ประโยค ๑ ประโยค ๒ ได้ไว้แล้ว เมื่อสอบความรู้องค์นักธรรมได้ในสนามหลวงก็ดี ในสำนักอื่นแต่สนามหลวงยอมรับก็ดี ก็จะได้รับนับเป็นนักธรรมประโยค ๑ พิเศษ
และเปรียญธรรม ๒ ประโยค ดุจเดียวกัน
แจ้งความมา ณ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๑=๒๔๕๕
*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๘๕-๑๘๖.)
แจ้งความ*
เรื่องเฉลี่ยคะแนนในการสอบความรู้องค์นักธรรม
แจ้งความให้รู้ทั่วกันว่า การสอบความรู้ในคราวเดียวหลายอย่างยากที่จะสอบให้ได้ครบทุกอย่าง ผู้เข้าสอบใหม่ ต้องสอบมากอย่าง ย่อมแพ้เปรียญผู้สอบได้มาจากวัด ผู้สอบที่ละอย่าง สมควรจะจัดให้ผู้เข้าสอบคราวละมากอย่าง ได้รับประโยชน์แห่งการสอบมากอย่าง เหตุนั้น จึงตั้งเกณฑ์เฉลี่ยคะแนนไว้ ดังต่อไปนี้ :-
๑. ความรู้อย่างหนึ่ง มีกรรมการตรวจ ๓ รูป อย่างน้อยให้ ๒ รูป จึงเป็นอันได้ ตามนัยนี้ จักคิดเฉลี่ยคะแนนตามความรู้ที่สอบอย่างละ ๒ คะแนน ถ้ามีคะแนนได้เท่านั้นหรือยิ่งกว่านั้น จึงเป็นอันได้ หย่อนกว่านั้นเป็นอันตก ตัวอย่างเช่น สอบคราวนี้ ความรู้ที่สอบ ๓ อย่าง ๖ คะแนนเป็นอย่างน้อย จึงเป็นอันได้ เช่น ได้ธรรมวิภาค ๓ คะแนน วินัยบัญญัติ ๓ คะแนน ตกเรียงความทั้ง ๓ คะแนนก็ยังเป็นใช้ได้ ถ้าได้ธรรมวิภาค ๓ คะแนน วินัยบัญญัติ ๒ คะแนน เรียงความต้องตกเพียง ๒ คะแนน ได้ ๑ จึงเป็นใช้ได้ ถ้าตกทั้ง ๓ เป็นอันตก ถ้าได้ธรรมวิภาคและวินัยบัญญัติ เพียงอย่างละ ๒ คะแนน ต้องได้เรียงความด้วยอย่างน้อย ๒ คะแนน จึงจะใช้ได้
๒. การคิดเฉลี่ยคะแนนนี้ จักคิดเฉพาะความรู้ที่สอบในคราวเดียวกัน ประโยคที่ส่งขอให้ตรวจก็ดี ที่ได้ไว้ในสนามคราวหลังก็ดี จะเอามาคิดเฉลี่ยด้วยไม่ได้ เช่น สามเณรได้องค์นักธรรมประโยค ๑ ไว้แล้ว คือได้เรียงความกับธรรมวิภาคแล้ว ครั้นอุปสมบทเป็นภิกษุขึ้น ต้องเข้าสอบวินัยบัญญัติเพิ่ม เช่นนี้ ต้องเป็นประโยคที่ได้ คือได้อย่างน้อย ๒ คะแนนจึงใช้ได้
แจ้งความไว้ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๕๖
กรม-วชิรญาณวโรรส
*(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๒๙๘-๒๙๙.)
วิธีลดคะแนน*
ในปัญหาอันหนึ่ง ๆ มีกำหนดว่า ๗ ข้อ ให้ผิดได้ ๒ ข้อเป็นอย่างมาก ปัญหาหนึ่งมี ๒๑ ข้อ ข้อผิดจึงมีได้ ๖ ข้อ
แต่โดยมาก ตอบไม่ผิดทั้งข้อก็มี เพราะฉะนั้น จึงต้องคิดเป็นคะแนนสำหรับลด ข้อหนึ่ง ๑๔ คะแนน ๖ ข้อเป็น ๘๔ คะแนน นี้เป็นทุนเดิม ถ้าต้องลด พอหมดทุน แต่ไม่ต้องเป็นหนี้ จัดเอาเป็นได้ ยิ่งเหลือทุนมากเพียงใดยิ่งดี
ถ้าผิดเต็มข้อ ลด ๑๔ คะแนน ถ้าผิดไม่เต็มข้อ ถ้าข้อความแบ่งเป็นสองได้ ผิดแต่ในส่วนหนึ่งเช่นนี้ลด ๗ คะแนน ถ้าข้อความแบ่งเป็น ๓ ผิด ๒ ส่วน เช่นนี้เอา ๓ หาร ๑๔ เศษทิ้งเสีย ได้ลัพธ์ ๔ เอา ๒ คูณ เป็น ๘ ลดเพียงเท่านี้ ๑ ใน ๔ หรือ ๓ ใน ๔ ก็เทียบเหมือนดังนี้
วิธีใช้อักษรและคำพูดและเรียงความ สังเกตตามพื้นคน ถ้าไม่ได้เคยเล่าเรียนมา หรือผู้ตรวจเข้าใจว่าเป็นเพราะพลั้งเผลอ ยกให้ ถ้าคนเรียนมีพื้นมา แต่เขลาในที่บางแห่ง เช่นนี้ลดคะแนน ๑ บ้าง ๒ บ้าง ตามน้ำหนักแห่งอักษรหรือถ้อยคำที่ใช้ผิด ทำเปรอะเปื้อนปฏิกูล ผิดวิสัยของคนเขียนหนังสือเป็น ลดแห่งละ ๑ หรือ ๒ ตามน้ำหนักแห่งความเปรอะเปื้อน วางหน้ากระดาษผิด ลด ๕ คะแนน
ถ้าตอบดีได้ความชัดเจน เรียงข้อความกะทัดรัด หรือข้อความเฉียบแหลม เช่นนี้ ควรได้เพิ่มคะแนนเฉพาะข้อนั้น อย่างสูง ๑๔ คะแนนเต็มข้อ ลดลงมาตามสมควรจนถึง ๓ คะแนนเป็นที่สุด คะแนนเพิ่มนี้ บวกเข้ากับทุนเดิม สำหรับเป็นทุนเพื่อผิดในข้ออื่นได้มากกว่ากำหนด หรือไว้เป็นทุนเหลือสำหรับได้รับรางวัล
ผู้ที่ควรได้รับรางวัลนั้น ต้องมีคะแนนเหลือกว่าครึ่งขึ้นไป ถ้าไล่คราวหลัง ๆ ต้องมีคะแนนเหลือมากกว่าผู้ที่ตอบได้รางวัลไว้ในศกนั้นแล้วด้วย
*(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๓๐๐-๓๐๑)
พระดำรัสสั่ง*
เรื่องเฉลี่ยคะแนนได้ตกสำหรับสอบความรู้ในสนามหลวง
ที่ ๑/๒๔๕๖
คำนึงถึงภิกษุสามเณร ผู้เข้าสอบความรู้องค์นักธรรมในสนามหลวง เราเห็นว่ายังเสียเปรียบผู้เข้าสอบตามวัดอยู่ ผู้เข้าสอบตามวัด สอบได้เป็นอย่าง ๆ ครบกำหนดแล้ว ส่งมาขอให้สนามหลวงตรวจ เพื่อรับเป็นนักธรรมของสนามหลวงได้ ฝ่ายผู้เข้าสอบในสนามหลวงทีเดียว ความรู้ในประโยคอันเดียว ต้องได้ครบทุกอย่าง แม้ในสนามหลวงเองสอบประโยค ๒ สามเณรผู้ยังไม่ต้องสอบวินัย ยังได้เปรียบภิกษุอยู่ นอกจากนี้ ผู้เข้าสอบบางรูปมีความรู้ดีบางอย่าง กรรมการให้ครบ ๓ คะแนน ได้ชมว่าดีบ้างก็มี เมื่อตกความรู้อย่างอื่น ความรู้ที่ดีนั้นก็เป็นต้องตกไปตามกัน เอามาช่วยความรู้ที่หย่อนไม่ได้ มีประสงค์จะแก้ข้อบกพร่องเหล่านี้ จึงตั้งวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกไว้ดังนี้ :
๑. คะแนนสำหรับความรู้อย่างหนึ่งเป็น ๓ ได้เพียง ๒ เป็นให้เฉพาะความรู้อย่างนั้น เสียตั้งแต่ ๒ เป็นไม่ให้ ในประโยคที่สอบความรู้กว่าอย่างหนึ่ง ให้รวมคะแนนได้ตกเฉลี่ยกันได้ เช่นในบัดนี้ องค์นักธรรมประโยค ๑ สอบความรู้ ๒ อย่าง คะแนนได้ตั้งแต่ ๔ ขึ้นไปถึง ๖ ต่างว่าแก้กระทู้ธรรมได้ ๓ คะแนน ตอบปัญหาธรรมวิภาคเสีย ๒ คะแนน ได้แต่เพียงคะแนนเดียว เช่นนี้ รวมทั้งประโยคคงได้ ๔ คะแนน เสีย ๒ คะแนน ประโยคนี้เป็นอันได้ อีกอย่างหนึ่ง ต่างว่าสอบรวมกันทั้ง ๒ ประโยค ความรู้ ๔ อย่าง คะแนนได้ตั้งแต่ ๘ ขึ้นไปถึง ๑๒ ต่างว่าแก้กระทู้ธรรมได้ ๒ คะแนน ตอบปัญหาธรรมวิภาคได้ ๓ คะแนน ตอบปัญหาวินัยได้ ๑ คะแนน ตอบปัญหาพุทธประวัติได้ ๒ คะแนน ทั้งประโยครวมเป็นได้ ๘ คะแนน เป็นใช้ได้
๒. สอบความรู้มากอย่างเข้า ความได้ประโยชน์เพราะเฉลี่ยคะแนนก็มากขึ้น อาจจะทำให้นักเรียนสะเพร่า ไม่เอาใจใส่ในความรู้บางอย่างได้ เช่น สอบความรู้ ๔ อย่างนั้น ได้ ๓ อย่าง ๆ ละ ๓ คะแนนเต็ม รวมเป็น ๙ เป็นเกณฑ์ได้อยู่แล้ว อาจจะทำสะเพร่าละเลยความรู้อีกอย่าง ๑ เสีย เพราะฉะนั้น ในประโยคใด เสียคะแนนเพราะความรู้อย่าง ๑ เต็ม ๓ เช่นนี้ จะเอาคะแนนสำหรับความรู้อย่างอื่น มาเฉลี่ยด้วยไม่ได้ ประโยคนั้นเป็นอันตก จะเฉลี่ยได้เพราะความรู้มีคะแนนได้อยู่ ๑
๓. ส่วนการสอบความรู้บาลี ของภิกษุสามเณรผู้สอบองค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญได้แล้ว ให้ได้รับเฉลี่ยคะแนนตามนัยนั้น ส่วนของภิกษุสามเณรผู้สอบแต่ลำพังบาลี หรือได้องค์นักธรรมเพียงประโยค ๑ ยังไม่ให้ใช้วิธีเฉลี่ยคะแนน ให้ตรวจได้ตกเฉพาะประโยคไปก่อนกว่าจะได้จัดให้เข้ารูป
เมื่อได้ตั้งวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกขึ้นเช่นนี้แล้ว จึงอนุญาตให้ภิกษุสามเณรผู้สอบองค์นักธรรมประโยค ๑ สามัญ ได้อย่าง ๑ ตกอย่าง ๑ แต่เฉลี่ยคะแนนได้เป็น ๔ ให้เป็นอันได้ประโยคนั้น
แจ้งความไว้ ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖
(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส
*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๒๑-๕๒๓.)
ที่ ๒/๒๔๕๖
ประกาศ
สอบความรู้คิหิปฏิบัติ ในแผนกธรรมวิภาค*
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ ตรัสประกาศไว้ว่า ภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบความรู้องค์นักธรรม ยังมีคติจะสึกโดยมาก แม้หากจะอยู่ยั่งยืนไป ก็ยังควรเข้าใจคิริปฏิบัติ เพื่อจะได้สั่งสอนคฤหัสถ์บริษัทในธรรมของเขา เพื่อชักนำให้ได้ศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนา แม้สมเด็จพระบรมศาสดาของเราก็ได้ตรัสสอนสิงคาลมาณพเป็นต้นมาเป็นแบบ ครั้นจะทรงจัดเข้าในหลักสูตรมาแต่แรก ภิกษุสามเณรทั้งหลายยังไม่ทันเห็นประโยชน์แห่งการเรียนธรรม ก็จักคิดเห็นไปว่าทรงน้อมไปในทางโลกจัดนัก บัดนี้ความเข้าใจประโยชน์แห่งการเรียนธรรมแพร่หลายออกไป จนมีผู้เข้าสอบองค์นักธรรมเป็นหลายร้อย และได้ก็มาก เป็นเวลาสมควรจะสอบความรู้คิหิปฏิบัติด้วย ครั้นจะสอบเฉพาะอย่าง ข้อธรรมอันเป็นหลักสูตรก็น้อย จึงจะรวมเข้าในธรรมวิภาค เป็นแต่ถามปัญหาเปิดออกไปถึงคิหิปฏิบัติด้วย คงจำนวนข้อไว้เท่าเดิม และคงเรียกว่าปัญหาธรรมวิภาคตามเดิม ตั้งแต่ศกหน้า จักจัดตามนี้
ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖
*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๒๓-๕๒๔.)
ที่ ๓/๒๕๕๖
ประกาศ
รวมองค์นักธรรมประโยค ๑ ประโยค ๒
เข้าเป็นองค์นักธรรมชั้นตรี*
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ ตรัสประกาศไว้ว่า ในศกนี้ มีภิกษุสามเณรเข้าสอบองค์นักธรรมเกือบถึง ๖๐๐ เข้าสอบประโยค ๒ เกือบถึง ๒๐๐ มีจำนวนผู้สอบได้ก็มาก การเล่าเรียนพระธรรมวินัยแพร่หลายออกไป ทั้งในเวลานี้ก็ได้ตั้งวิธีคิดเฉลี่ยคะแนนได้ตกขึ้น เป็นอันผ่อนลงให้ได้สะดวกเข้าแล้ว เป็นเวลาสมควรจะจัดให้เข้าระเบียบได้อยู่ ตั้งแต่ศกหน้า สนามหลวงจะสอบความรู้ธรรมของภิกษุสามเณร พร้อมคราวเดียวกันทั้ง ๒ ประโยค เป็นความรู้สำหรับภิกษุ ๔ อย่าง สำหรับสามเณร ๓ อย่าง (ยกวินัยไว้พลาง) ได้หรือตกก็พร้อมกัน ไม่มีพักเป็นประโยคดุจเดิม สอบได้แล้ว เป็นนักธรรมชั้นตรี ได้แก่ นวกภูมิ ส่วนสามเณรอุปสมบทแล้ว ต้องสอบวินัยเพิ่มให้ได้ก่อน จึงจะได้รับประกาศนียบัตรเป็นนักธรรมชั้นนั้น ส่วนนักธรรมประโยค ๑ อนุญาตให้สอบเพิ่มประโยคได้ เหมือนในศกนี้ฯ
ฝ่ายนักธรรมของวัดทั้งหลาย ที่วัดเหล่านั้นจะขอโอนเป็นนักธรรมของสนามหลวง ให้โอนได้ต่อเมื่อได้ครบองค์ของนักธรรมชั้นตรี และองค์เหล่านั้น ต้องสอบได้ในระยะกาลไม่ห่างกว่า ๓ เดือนในระหว่าง ต้องเป็นองค์ที่สอบได้ทั้งนั้น
ส่วนในหัวเมือง พึ่งเริ่มจัดขึ้น อนุญาตให้การสอบความรู้องค์นักธรรม ที่ทำในหัวเมืองนั้น ๆ เอง พักเป็นประโยค ๑ ประโยค ๒ ได้เหมือนเดิม กว่าจะจัดให้เข้ารูปได้ แต่สำหรับเฉพาะภิกษุสามเณรผู้อยู่ในเมืองนั้นเอง ฯ
ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖ ฯ
*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๒๔-๕๒๕)
ที่ ๔/๒๔๕๖
ประกาศ
จัดหลักสูตรแห่งเปรียญบาลี ๓ ประโยค
เข้ากับองค์นักธรรมประโยค ๒
เป็นเปรียญธรรม ชั้นตรี*
สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ ตรัสประกาศไว้ว่า การสอบความรู้บาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ให้แปลธัมมปทัฏฐกถา เป็นความไทยอย่างเดียวกันทั้ง ๓ ประโยค ไม่ค่อยจะได้เปรียญมีความรู้ดี เพราะผู้เข้าสอบโดยมากด้วยกัน ไม่รู้จักสัมพันธ์และไม่แตกฉานในทางไวยากรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเรียนบาลีจึงยังตกต่ำ มีพระประสงค์จะทรงบำรุงให้เจริญขึ้น จึงจะทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแก้ไขหลักสูตรเปรียญบาลี ๓ ประโยค ให้คงแปลธัมมปทัฏฐกถา เพียงประโยคเดียว อีก ๒ ประโยคนั้นเปลี่ยนเป็นสอบความรู้สัมพันธ์ เพื่อให้รู้จักชักศัพท์เชื่อมถึงกัน ประโยค ๑ สอบความรู้บาลีไวยากรณ์ส่วนวจีวิภาค เพื่อเข้าใจผูกศัพท์ ประโยค ๑ ฯ วิธีสอบสัมพันธ์ จักวางแบบให้ไว้ ส่วนวิธีสอบไวยากรณ์เคยกันมาแล้ว ทั้ง ๓ นี้ รวมเป็นหลักสูตรบาลี เป็นองค์อันหนึ่งของเปรียญธรรม ชั้นตรี ฯ
วิธีสอบ ไม่สอบเป็นประโยค ๆ ไปเหมือนเดิม สอบคราวเดียวกันทั้ง ๓ ประโยค คิดเฉลี่ยคะแนนแล้ว ได้หรือตกก็พร้อมกันทั้ง ๓ อย่าง ฯ
และในศกนี้ มีภิกษุสามเณรเข้าสอบองค์นักธรรมประโยค ๑ เกือบถึง ๖๐๐ เข้าสอบประโยค ๒ เกือบ ๒๐๐ มีจำนวนผู้สอบได้ก็มาก การเล่าเรียนพระธรรมวินัยแพร่หลายออกไป เปรียญและนักเรียนบาลีก็เข้าสอบอยู่โดยมากด้วยกันแล้ว เป็นเวลาสมควรจะจัดให้เข้าระเบียบกับการเรียนบาลีตลอดไปได้แล้ว ตั้งแต่ศกหน้า ภิกษุสามเณรผู้จะเข้าสอบบาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ต้องสอบได้องค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญมาก่อนแล้ว เมื่อสอบบาลีได้อีกองค์หนึ่ง จัดเป็นเปรียญธรรม ชั้นตรี ได้แก่นวกภูมิ หรือเรียกนับประโยคว่า เปรียญธรรม ๓ ประโยคก็ได้ฯ
ฝ่ายภิกษุสามเณรผู้ได้บาลีประโยค ๒ ไว้แล้ว ให้สอบองค์นักธรรมชั้นตรีสามัญได้แล้ว ให้เป็นเปรียญธรรม ฝ่ายผู้ได้บาลีประโยค ๑ ที่เป็นนักธรรมชั้นตรี ให้แปลธัมมปทัฏฐกถาอีก ๑ ประโยค กับสอบสัมพันธ์และไวยากรณ์ส่วนวจีวิภาค ผู้ที่ยังไม่ได้องค์นักธรรมชั้นตรี ต้องให้ได้ก่อน จึงจะเข้าสอบอย่างนั้นได้ฯ
ตรัสประกาศให้อาจารย์และนักเรียนทราบไว้พลาง เพื่อจะได้เตรียมสอน เตรียมเรียนให้เข้าระเบียบ ถ้าได้รับพระบรมราชานุญาต จักจัดตามนี้ ฯ
ฝ่ายเปรียญ ๓ ประโยค ผู้จะแปลประโยค ๔ ขึ้นไปในคราวหน้า ต้องได้องค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญมาก่อนแล้ว ฯ
ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖ ฯ
*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๒๖-๕๒๘.)
เรื่องแก้ไขหลักสูตรและจัดระเบียบการสอบไล่
พระปริยัติธรรม ในสนามหลวง*
ด้วยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหาสมณศาสนไปยังกระทรวงธรรมการ ทรงพระปรารภการเรียนธรรมในบัดนี้ว่า แพร่หลายขึ้น จนได้ประกาศรวมประโยค ๑ กับ ประโยค ๒ สอบคราวเดียวกัน ไม่มีพักในระหว่าง มีพระดำริว่า ในการสอบบาลีชั้นต่ำเพียงธัมมปทัฏฐกถา ในคราวหน้า จะอนุญาตให้เข้าสอบได้ เฉพาะแต่ผู้เป็นนักธรรมชั้นตรีแล้วเท่านั้น ฯ
อีกประการหนึ่ง ได้ทรงสังเกตเห็นผู้แปลบาลีโดยมากขาดความรู้สัมพันธ์ คือเชื่อมศัพท์เข้ากับศัพท์ และอ่อนทางความรู้บาลีไวยากรณ์ส่วนวจีวิภาค จนกลายเป็นผู้แปลหนังสือไม่มีหลัก ในการสอบความรู้บาลี ๓ ประโยคเบื้องต้น คือชั้นธัมมปทัฏฐกถา ในกาลต่อไป ทรงพระดำริว่าควรจะแก้หลักสูตรดังนี้ คงให้แปลธัมมปทัฏฐกถาเป็นความไทย ๑ ประโยค อีก ๒ ประโยค เปลี่ยนเป็นแปลสัมพันธ์ (ใช้เรื่องในธัมมปทัฏฐกถานั้นเอง) ๑ ประโยค ให้ตอบปัญหาบาลีไวยากรณ์ส่วนวจีวิภาค ๑ ประโยค สอบในคราวเดียวกัน ได้หรือตกก็พร้อมกัน ผู้เข้าสอบเป็นนักธรรมชั้นตรีมาแล้วแปลบาลีได้ เป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ตรงกับเปรียญธรรมนวกภูมิ หรือเรียกเรียงประโยคว่า เปรียญ ๓ ประโยค ฯ
อีกอย่างหนึ่ง หลักสูตรสำหรับแปลบาลีประโยค ๕ ที่แล้วมาเคยใช้ปกรณ์ ชื่อสารัตถสังคหะ ปกรณ์นี้รจนาไม่เรียบร้อยในทางไวยากรณ์ และข้อความที่ชักมากล่าว อาจทำให้เสียผลได้ก็มี เช่น กล่าวว่าตัดฟันต้นโพเป็นบาปนัก ตามวัดจึงปล่อยให้ต้นโพเล็ก ๆ ขึ้นบนของก่อสร้างจนถึงทำให้เป็นอันตราย อาศัยเหตุเช่นนี้ สมเด็จพระมหาสมณะ จึงทรงเห็นว่าไม่ควรใช้เป็นแบบแผน มีพระดำริว่า หลักสูตรสำหรับสอบบาลีประโยค ๕ ในคราวหน้า ควรใช้ปกรณ์บาลีมุตตกวินัย วินิจฉัยว่าด้วยวินัย แทนปกรณ์สารัตถสังคหะ ฯ
ทั้งนี้ กระทรวงธรรมการได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว แต่ ณ วันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ จึงแจ้งความให้ครูและนักเรียนปริยัติธรรมทราบไว้ ฯ
*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๕๗-๕๕๘.)
ต้นแบบประกาศนียบัตรนักธรรมชั้นตรี
ที่
โดยพระบรมราชูปถัมภ์แห่งสมเดจบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์. สมเดจพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ธรรมิก
มหาราชาธิราชเจ้า เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก สมเดจพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตั้งพระ..............................เป็นแม่กอง
พร้อมด้วยกรรมการให้เปิดสนาม..............................สอบประโยคนักธรรมชั้นตรี
ประจำ พ.ศ. ๒๔... า
พระ ...........ชื่อฉายา ...........อายุ .. พรรษา .. สำนักเรียนวัด .......จังหวัด.... สอบได้
ประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนาม .................นี้
ขออำนวยพรให้เจริญมั่นคงในพระพุทธศาสนา เทอญ า
มอบให้ไว้ณะวันที่ .. เดือน.......... พ.ศ.๒๔..
...........
แม่กอง
คะแนน
นักธรรม เปรียญธรรม เปรียญบาฬี
นักธรรม
ชั้นเอก ได้ทุกอย่าง แคนนเต็ม ๑๒
ชั้นโท " " ตั้งแต่ ๙
ชั้นตรี " " ต่ำกว่า ๙
นอกชั้น ต้องเฉลี่ยแคนน แต่สูงกว่าแคนนจำกัด
เปรียญธรรม
ชั้นเอก ได้ครบทุกอย่าง แคนนเต็ม ๙
ชั้นโท " " ๘
ชั้นตรี " " ๗ หรือ ๖
นอกชั้น ต้องเฉลี่ยแคนน
เปรียญบาฬี
แปลปาก ปรึกษา มีชั้นตรี
แปลเขียน
ชั้นเอก แคนน ๓
ชั้นโท ." ๒
ชั้นตรี ไม่มี