ประวัติโดยสังเขป
 
 
ประวัติการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมยุคเริ่มต้น
 
  ๑. ประวัตินักธรรม ๗.  คำแนะนำการตอบปัญหาธรรมวิภาค
     
 
 
 
 
 
 
 
 
 
     
    ๑๓. ประกาศนียบัตรยุคต่าง ๆ
   
ประวัดนักธรรมโดยสังเขป
 

          การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือที่เรียกกันว่า นักธรรม เกิดขึ้นตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นการศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาไทย เพื่อให้ภิกษุสามเณรผู้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาสามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้สะดวกและทั่วถึง อันจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่สัมมาปฏิบัติ ตลอดจนเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไป

         การศึกษาพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณมา นิยมศึกษาเป็นภาษาบาลี ที่เรียกว่า การศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ยากสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป จึงปรากฏว่า ภิกษุสามเณรที่มีความรู้ในพระธรรมวินัยอย่างทั่วถึงมีจำนวนน้อย เป็นเหตุให้สังฆมณฑลขาดแคลนพระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยกิจการพระศาสนาทั้งในด้านการศึกษา การปครอง และการแนะนำสั่งสอนประชาชน ดังนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงได้ทรงพระดำริวิธีการเล่าเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทยขึ้น สำหรับสอนภิกษุสามเณรวัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งแรก นับแต่ทรงรับหน้าที่ปกครองวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นมา โดยทรงกำหนดหลักสูตรการสอนให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ทั้งด้านหลักธรรม พุทธประวัติ และพระวินัย ตลอดถึงหัดแต่งแก้กระทู้ธรรม

         เมื่อทรงเห็นว่า การเรียนการสอนพระธรรมวินัยเป็นภาษาไทยดังนี้ได้ผล ทำให้ภิกษุสามเณรมีความรู้กว้างขวางขึ้น เพราะเรียนรู้ได้ไม่ยาก จึงทรงดำริที่จะขยายแนวทางนี้ไปยังภิกษุสามเณรทั่วไปด้วย ประกอบกับใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ประเทศไทยเริ่มมีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ซึ่งภิกษุทั้งหมดจะได้รับการยกเว้น ส่วนสามเณร จะยกเว้นให้เฉพาะสามเณรผู้รู้ธรรม ทางราชการได้ขอให้คณะสงฆ์ช่วยกำหนดเกณฑ์ของสามเณรผู้รู้ธรรม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงกำหนดหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น ต่อมาได้ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมนั้นเป็น องค์นักธรรม สำหรับภิกษุสามเณรชั้นนวกะ (คือผู้บวชใหม่) ทั่วไป ได้รับพระบรมราชานุมัติ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ และโปรดให้จัดการสอบในส่วนกลางขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน โดยใช้วัดบวรนิเวศวิหาร วัดมหาธาตุ และวัดเบญจมบพิตร เป็นสถานที่สอบ การสอบครั้งแรกนี้ มี ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาคในนวโกวาท แต่งความแก้กระทู้ธรรม และแปลภาษามคธเฉพาะท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท

         พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมให้เหมาะสมสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไปจะเรียนรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยแบ่งหลักสูตรเป็น ๒ อย่างคือ อย่างสามัญ เรียนวิชาธรรมวิภาค พุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม และ อย่างวิสามัญ เพิ่มแปลอรรถกถาธรรมบทมีแก้อรรถ บาลีไวยากรณ์และสัมพันธ์ และวินัยบัญญัติที่ต้องสอบทั้งผู้ที่เรียนอย่างสามัญและวิสามัญ

         พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มหลักธรรมหมวดคิหิปฏิบัติเข้าในส่วนของธรรมวิภาคด้วย เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการครองชีวิตฆราวาส หากภิกษุสามเณรรูปนั้นๆ มีความจำเป็นต้องลาสิกขาออกไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี การศึกษาพระธรรมวินัยแบบใหม่นี้ ได้รับความนิยมจากหมู่ภิกษุสามเณรอย่างกว้างขวาง และแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว เพียง ๒ ปีแรกก็มีภิกษุสามเณรสมัครเข้าสอบสนามหลวงเกือบพันรูป เมื่อทรงเห็นว่าการศึกษานักธรรมอำนวยคุณประโยชน์แก่พระศาสนาและภิกษุสามเณรทั่วไป ในเวลาต่อมา จึงทรงพระดำริขยายการศึกษานักธรรมให้ทั่วถึงแก่ภิกษุทุกระดับ คือ ทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโท สำหรับภิกษุชั้นมัชฌิมะ คือ มีพรรษาเกิน ๕ แต่ไม่ถึง ๑๐ และนักธรรมชั้นเอก สำหรับภิกษุชั้นเถระ คือมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป ดังที่เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์สืบมาตราบถึงทุกวันนี้

         ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ ทรงพิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมมิได้เป็นประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรเท่านั้น แม้ผู้ที่ยังครองฆราวาสวิสัยก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษานักธรรมด้วย โดยเฉพาะสำหรับเหล่าข้าราชการครู จึงทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมสำหรับฆราวาสขึ้น เรียกว่า ธรรมศึกษา มีครบทั้ง ๓ ชั้น คือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ซึ่งมีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมของภิกษุสามเณร เว้นแต่วินัยบัญญัติที่ทรงกำหนดใช้เบญจศีลเบญจธรรมและอุโบสถศีลแทน ได้เปิดสอบธรรมศึกษาตรีครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และเปิดสอบครบทุกชั้นในเวลาต่อมา มีฆราวาสทั้งหญิงและชายเข้าสอบเป็นจำนวนมาก นับเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

         ปัจจุบัน การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมนี้ มี พระพรหมมุนี (พฺรหฺมคุตฺตเถร) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง เน้นการพัฒนาศาสนทายาทให้มีคุณภาพสามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี ทั้งถือว่าเป็นกิจการของคณะสงฆ์ส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งอดีตถึงปัจจุบัน

 
ประวัดินักธรรม
 
         การศึกษาของภิกษุสามเณรในประเทศไทยแต่โบราณมาคือการศึกษาภาษาบาลี ที่เรียกว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาในภาษาบาลีเพื่อให้รู้ภาษาบาลีสามารถอ่านพระคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาได้โดยสะดวกเพราะคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทดังที่นับถืออยู่ในประเทศไทยนั้น ล้วนจารึกไว้ด้วยภาษาบาลี ฉะนั้น ผู้ที่ประสงค์จะรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาให้แตกฉานจึงจำต้องศึกษาภาษาบาลีให้รู้แตกฉาน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยากไม่น้อยสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลีจึงพลอยไม่ค่อยรู้เรื่องคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างแจ้งชัดตามไปด้วย ทั้งเป็นเหตุให้ภิกษุสามเณรทั่วไปไม่ค่อยเอาใจใส่ที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาด้วยเพราะเรียนยาก รู้ยาก

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น ทรงพระปริวิตกถึงความเป็นไปของภิกษุสามเณรดังกล่าวมาข้างต้น จึงได้ทรงพระดำริหาทางจัดการเล่าเรียนเพื่อให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้พระธรรมวินัยได้สะดวกแล้วกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยได้ทรงริเริ่มสอนพระธรรมวินัยแก่ภิกษุสามเณรบวชใหม่เป็นภาษาไทยขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งแรก ในฐานะที่ทรงเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ ดังที่ทรงอธิบายไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า

         แต่ก่อนมา ภิกษุบวชได้กี่พรรษาก็ตาม ไม่สนใจแล้วไม่รู้ธรรมวินัยเลย นอกจากที่เคยปฏิบัติ จึงจัดสอนภิษุสามเณรบวชใหม่ในเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยเป็นการส่วนตัวในหน้าที่แห่งอุปัชฌายาจารย์ก่อน ต่อมาปลูกความนิยมออกไปถึงภิกษุสามเณรเก่าด้วย จนถึงจัดเป็นการเรียนเป็นพื้นวัดขึ้นได้ แลมีวัดธรรมยุตอื่นทำตามแพร่หลายออกไป

         นี้คือจุดเริ่มต้นของการศึกษาพระปริยัติธรรมแบบใหม่ที่เรียกว่า นักธรรม ในเวลาต่อมา หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า พระปริยัติธรรมแผนกธรรม คู่กับพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาของพระสงฆ์ไทยมาแต่โบราณ

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงเริ่มการสอนธรรมวินัยในภาษาไทยแก่ภิกษุสามเณรบวชใหม่ดังกล่าวมาข้างต้นขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทรงกล่าวไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร แต่เพียงว่า การสอนธรรมวินัยในภาษาไทยแก่ภิกษุสามเณรบวชใหม่ดังกล่าว เป็นการที่ได้ทรงจัดขึ้นเมื่อทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (นับแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นมา) จึงสันนิษฐานว่า คงทรงริเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อแรกทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ในฐานที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ซึ่งจะต้องให้การอบรมสั่งสอนสัทธิวิหาริกและภิกษุสามเณรที่อยู่ในความปกครอง

         ลักษณะการสอนธรรมวินัยในภาษาไทยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงสอนภิกษุสามเณรบวชใหม่นั้น ทรงสอนอย่างไร สังเกตจากสำเนาพระโอวาท ที่ประทานแก่นวกภิกษุปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่พระยาศรีปัญชา (ทวน ธรรมาชีวะ) ซึ่งเป็นนวกภิกษุในปีนั้น ได้จดบรรทึกไว้เป็นรายวันตามที่ทรงสอนปรากฏว่า เนื้อหาของพระโอวาทประกอบด้วยพระอธิบายเรื่องธรรม เรื่องพระพุทธประวัติ และเรื่องวินัย โดยทรงสอนไปตามลำดับ คือ ธรรม พุทธประวัติ และ วินัย

 
องค์นักธรรม
 
         ด้วยพระดำริดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้นใหม่ โดยจัดเป็น ๒ อย่าง ตามแนวพระดำริดังกล่าวแล้วคือ

                   (๑) อย่างสามัญ แบ่งเป็น ๒ ประโยค

                   ประโยค ๑ ธรรมวิภาค กับเรียงความแก้กระทู้ธรรม ไม่ต้องชักที่มา
                   ประโยค ๒ พุทธประวัติย่อ กับเรียงความแก้กระทู้ธรรม ชักที่มาในหนังสือไทย

                   (๒) อย่างวิสามัญ แบ่งเป็น ๒ ประโยค

                   ประโยค ๑ ถกถาธรรมบท มีแก้อรรถด้วย
                   ประโยค ๒ เพิ่มบาลีไวยากรณ์และสัมพันธ์

         อย่างสามัญ จะจัดทั่วไปเป็นแบบเดียวกันทั้งในกรุงในหัวเมือง ผู้สอบได้อย่างสามัญเพียงประโยค ๑ ได้รับยกเว้นเกณฑ์ทหาร สอบได้ทั้ง ๒ ประโยค เป็นนักธรรม ๒ ประโยค

         อย่างวิสามัญ จะจัดเฉพาะในกรุงเทพฯ ผู้สอบได้อย่างวิสามัญทั้ง ๒ ประโยค ได้เป็นเปรียญ ๒ ประโยค เทียบเปรียญปริยัติ (คือเปรียญบาลี) ๓ ประโยค (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑, หน้า ๑๑๙๑๒๔.)

         หลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมที่ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้อนุญาติให้สอบได้ทั้งภิกษุและสามเณร และทรงคาดหวังว่า ถ้าจัดอย่างนี้ การเรียนธรรมของภิกษุสามเณรจะเจริญทั้งในกรุงทั้งในหัวเมือง จะได้ผู้มีความรู้ช่วยกิจพระศาสนาอีกมากจัดการเรียนเฉพาะแต่ในมคธภาษา ถึงเป็นหลักก็จริง แต่แคบ ความรู้อันนี้ไม่แพร่หลายไปในหัวเมือง ภิกษุสามเณรในหัวเมืองไม่ได้เรียนในทางนี้แล้วยังซ้ำไม่ได้เรียนในทางอื่นด้วยด้วยเหตุนี้จึงหาพระสมควรเป็นเจ้าอาวาส เป็นอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะได้เป็นอันยาก แต่ผู้ทำหน้าที่เหล่านี้จำต้องมี เมื่อจัดสอนความรู้สามัญในหัวเมืองขึ้นแล้ว คงเปลื้องความขัดข้องข้อนี้ไปได้มาก เพียงแต่เท่าที่จัดมาแล้ว ยังให้ผลดีเห็นปรากฏอยู่ ถ้าได้จัดขยายออกไป ก็คงได้ประโยชน์มากออกไป (เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.)

         หลักสูตรที่ทรงปรับปรุงขึ้นใหม่นี้เรียกว่า องค์นักธรรม ได้รับพระบรมราชานุมัติ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ ภิกษุที่สอบองค์นักธรรมอย่างวิสามัญได้ทั้ง ๒ ประโยค ซึ่งเรียกว่า เปรียญธรรม ๒ ประโยคนั้น ต้องสอบวินัยบัญญัติในนวโกวาทได้ด้วย จะได้รับพระราชทานพัดอย่างเดียวกับเปรียญปริยัติ หรือเปรียญบาลี ๓ ประโยค สำหรับสามเณรที่สอบได้ชั้นนี้ ต้องรอไว้จนอุปสมบทแล้วและสอบวินัยบัญญัติได้แล้วจึงจะได้รับพระราชทานพัด

         ถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดให้เพิ่มคิหิปฏิบัติเข้าไปในส่วนของธรรมวิภาคด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้สอบได้องค์นักธรรม แล้วจำจะต้องสึกออกไปครองชีวิตฆราวาสมากยิ่งขึ้น (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗, หน้า ๔๔๗.)

 
องค์สามเณรรู้ธรรม
 

         พ.ศ. ๒๔๔๘ (ร.ศ. ๑๒๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารขึ้น ตามพระราชบัญญัตินี้ภิกษุทั่วไปได้รับการยกเว้น ส่วนสามเณรได้รับยกเว้นเฉพาะสามเณรที่รู้ธรรม ทางราชการจึงได้ขอให้คณะสงฆ์กำหนดองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ทหารถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในฐานะประธานเถรสมาคม โดยได้ทรงมีพระปรารภต่อที่ประชุมว่า

         เมื่อศก ๑๒๔ ได้มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ในนั้นยกเว้นภิกษุทั่วไป แต่สามเณรยกเว้นโดยเอกเทศ เฉพาะแต่สามเณรรู้ธรรมฯ การกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนี้ เจ้าน่าที่อื่นๆขอให้กระทรวงธรรมการเป็นผู้กำหนดให้ จึงเชิญท่านทั้งหลายมาเพื่อจะให้ช่วยกันกำหนดฯ เราไม่มีอำนาจที่จะออกความเห็นวินิจฉัยพระราชบัญญัติเมื่อตั้งขึ้นแล้ว เป็นน่าที่ของเราที่จะต้องอนุวัติตาม ประเพณีนี้ก็ได้มีเป็นอย่างมาในครั้งพระพุทธกาลแล้ว เช่นในมหาวรรควินัยว่า เมื่อภิกษุกำลังทำอุโบสถก็ดี ทำปวารณาก็ดี ค้างอยู่ มีพระราชาจะมาจับภิกษุนั้น ที่แปลว่าราชการจะเอาตัว ให้ขอผัดไว้ พอได้ทำกิจนั้นเสรจก่อนข้อนี้แปลว่าพระยอมอนุวัติราชการ ไม่ขัดขืน แลคนที่จะตั้งอยู่เป็นหมวดเป็นหมู่กันได้ ที่เรียกว่าบ้านเมือง ต้องมีคนช่วยกันทำธุระหลายหน้าที่ กล่าวตามบาลี ต้องมีวรรณะทั้งสี่ คือพวกขัตติยะเป็นผู้ป้องกันอันตรายภายนอกภายใน พราหมณ์เป็นผู้สอนให้คนมีความรู้แลความดี พวกเรานับเข้าอยู่ในหมวดนี้ เวสสะเป็นผู้ทำของที่เกิดแต่ฝีมือ หรือรับของเหล่านั้นมาจำหน่าย เพื่อบำรุงสุขของประชาชน สุททะ เป็นผู้รับการงารของผู้อื่นด้วยแรง เพื่อความสะดวกของมหาชน แต่น่าที่ของผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องการทำให้เต็มที่ เช่นเราเป็นพวกพระ ก็ต้องการจะได้คนมาฝึกสอนอบรม ฝ่ายพวกทหารก็ต้องการจะได้คนเข้าเป็นทหาร แต่คนทั้งปวงจะเป็นพระหรือเป็นทหารทั้งนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นเลยไม่ได้ ต้องแบ่งเป็นนั่นบ้าง เป็นนี่บ้างฯ ข้อที่จะกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนั้น ก็แปลว่า จะกำหนดว่าคนเช่นไรจะขอเอาไว้ คนเช่นไรจะยอมปล่อยให้เข้ารับราชการทหาร (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๒๑-๑๒๖)

         จากพระปรารภดังกล่าวและจากที่ได้สดับความคิดเห็นของที่ประชุมเถระสมาคม จึงได้ทรงสรุปแนวพระดำริในการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อที่ประชุมว่า

         เห็นควรเอาไว้แต่สามเณรที่จะเป็นคนเรียนรู้ แลทำประโยชน์ให้แก่พระศาสนาได้ การกำหนดต้องให้สมแก่นักเรียนอุดมศึกษา แลความรู้ต้องให้เวลาเรียนไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ที่เป็นกำหนดเกณฑ์รับราชการ เพราะฉนั้น ในส่วนรู้ภาษามคธทรงเห็นชอบตามที่พระเถระทั้งหลายกำหนดนั้น ส่วนรู้ธรรมเพียงแต่รู้ธรรมของสามเณร ทรงเห็นอ่อนไป แต่ยังทรงรู้สึกอยู่ว่า หลักสูตรที่วัดบวรนิเวศอยู่ข้างจะสูง แลเป็นกำหนดคราวแรกอ่อนไว้หน่อยก็ยังได้ ภายหลังจึงค่อยรัดเข้าฯ (เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.)

         และในที่สุดเถรสมาคมได้มีมติตามแนวพระดำริดังนี้

         ๑. กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ให้กำหนดตามสมควรแก่ความรู้ที่ต้องการในมณฑลนั้นๆ มุ่งเอาประโยชน์พระศาสนาเป็นที่ตั้ง

         ๒. องค์ของสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ นั้น รู้มคธภาษา กรรมการสอบเห็นว่าใช้ได้กับรู้ธรรมของสามเณรด้วย

         ๓. สามเณรที่ไม่มีประโยชน์แก่พระศาสนา คือว่า แม้สึกเข้ารับราชการก็ไม่เป็นเหตุเสื่อมการข้างวัด เช่น ขาดคนเล่าเรียน จะหาคนมีความรู้น้อย เป็นต้น สามเณรเช่นนั้นเมื่อต้องเรียก ก็ให้สึกเข้ารับราชการ (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑, หน้า ๑๓๖.)

         เกณฑ์ดังกล่าวนี้ กระทรวงกลาโหมก็ยอมรับ จึงเป็นอันใช้ได้ ครั้นเดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงโปรดให้จัดการสอบในส่วนกลางขึ้นเป็นครั้งแรก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร วัดมหาธาตุ วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดเบญจมบพิตร โดยทรงกำหนดหลักสูตรสำหรับสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ ดังนี้

          - ภาษามคธ เพียงท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท
          - ธรรมของสามเณร คือธรรมวิภาคในนวโกวาท
          - แต่งความแก้กระทูธรรม

         ในการสอบองค์สามเณรรู้ธรรมครั้งแรกในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลา พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) มีสามเณรเข้าสอบ ๑๗๙ รูป สอบได้ ๑๓๙ รูป ตก ๔๐ รูป

         ผลการสอบองค์สามเณรรู้ธรรมครั้งนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเห็นว่า ทำให้สามเณรมีความรู้ดีขึ้น แต่ยังแคบเพราะใช้ได้แต่ในกรุงเทพฯ หรือเฉพาะวัดที่มีเรียนปริยัติ ในหัวเมืองจะจัดตามนี้ไม่ได้ แต่ก็ทรงเห็นว่าหากได้ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กว้างขวาง เพราะการเรียนการสอบธรรมวินัยในภาษาไทยอย่างนี้ พระองค์ได้ทรงทำเป็นการส่วนพระองค์มานานแล้ว และเกิดผลดีแก่ภิกษุสามเณรที่เรียน ทั้งที่ยังบวชอยู่และสึกออกไป ฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระดำริที่จะปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ให้เป็นการศึกษาธรรมวินัยสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป ซึ่งจะเป็นทางให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ธรรมวินัยทั่วถึง ดังที่พระองค์ได้ทรงอธิบายแก่เถรสมาคมในครั้งนั้น ปรากฏในรายงานการประชุมเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ ว่า

         ความรู้ธรรมอย่างสามัญนั้น ได้ทรงเริ่มจัดมานานแล้ว ตรัสเล่าจำเดิมแต่เหตุปรารภแต่งนวโกวาทขึ้น และได้ใช้ฝึกสอนในสำนักของพระองค์เอง และวัดอื่นได้รับใช้ตามอย่างได้ผลดีทั้งผู้ยังบวชอยู่แลผู้สึกไปแล้ว เมื่อกำหนดองค์สามเณรรู้ธรรมทรงเห็นว่า จะขยายความรู้ธรรมถึงชั้นนี้ได้ จึงได้ทรงหลักสูตรขึ้นดังนั้น กำหนดเอาความรู้ในมคธภาษานั้น เป็นการหนักแก่สามเณรผู้จะเรียนให้ทันเวลา ทั้งไล่ได้แล้วจะจัดว่าเป็นผู้มีความรู้ก็ยังไม่ได้ และจะจัดในหัวเมืองก็ไม่ได้ทั่วไป เมื่อเสด็จไปหัวเมืองเหนือคราวนี้เอง ได้ทรงปรารภถึงการเรียนของพระสงฆ์หัวเมือง ทรงเห็นวาได้รับบำรุงเข้า คงดีขึ้นกว่าปล่อยให้เป็นอยู่ตามลำพัง เมื่อได้จัดให้แพร่หลายแล้ว จะเป็นประโยชน์กว้างขวาง ดีกว่าจะมัวบำรุงในทางมคธภาษาอย่างเดียว แม้ว่าการรู้ภาษามคธเป็นหลักแห่งการรู้ปริยัติ จึงได้ทรงจัดเป็นระเบียบเป็น ๒ อย่าง อย่างสามัญไม่เกี่ยวกับมคธภาษา สำหรับภิกษุสามเณรทั้งในกรุงแลหัวเมือง อย่างวิสามัญนั้น สำหรับภิกษุสามเณรในสำนักที่สามารถสอนมคธภาษาได้ด้วย ต่อไปทรงแสดงพระดำริจะจัดการนี้ให้เข้ารูปอย่างไร ทรงอาศัยหลักในพระวินัยที่จัดภิกษุเป็น ๓ จำพวก คือ เถระ ๑ มัชฌิมะ ๑ นวกะ ๑ หลักสูตรที่ตั้งขึ้นทั้ง ๒ ประโยค ทั้งสามัญและวิสามัญนั้น จัดเป็นนวกภูมิ์ เป็นความรู้นวกภิกษุเป็นภูมิ์ต้น ต่อไปจะคิดขยายให้ถึงมัชฌิมภูมิ์ และเถรภูมิ์ บำรุงความรู้ให้ลึกโดยลำดับ แลจะให้เข้ากันได้กับหลักสูตรปริยัติที่ใช้อยู่บัดนี้ (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑, หน้า ๑๒๗๑๒๘.)

         จากพระดำริที่ทรงแสดงแก่ที่ประชุมเถรสมาคมดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า สมเด็จมหาสมณเจ้าฯ ทรงเห็นว่าการศึกษาปริยัติธรรมที่เน้นมคธภาษานั้น ไม่ช่วยให้การศึกษาธรรมวินัยแพร่หลายถึงภิกษุสามเณรทั่วไป เพราะหาผู้สอนยากทั้งเรียนรู้ได้ยาก จึงได้ทรงทดลองจัดการเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นการส่วนพระองค์ก่อน ปรากฏว่าได้รับผลดีมีผู้นิยมเรียนกันมาก ทั้งภิกษุสามเณรบวชใหม่และภิกษุสามเณรเก่า และแพร่หลายไปถึงภิกษุสามเณรในวัดอื่นๆด้วย จึงทรงเห็นว่า การศึกษาปริยัติธรรมในภาษาไทยเท่านั้นที่จะช่วยให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้ธรรมวินัยได้สะดวกขึ้นและสามารถจัดให้แพร่หลายไปได้ทั่วทั้งในกรุงทั้งในหัวเมือง ฉะนั้น จึงได้ทรงนำเอาแนวพระดำริที่ทรงจัดขึ้นในวันบวรนิเวศวิหารนั้น มาจัดเป็นหลักสูตรองค์ของสามเณรรู้ธรรม และทรงพระดำริจะจัดการเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยอย่างที่ทรงจัดเป็นหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมนั้น ให้ลุ่มลึกกว้างขวางขึ้นโดยลำดับเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต้นหรือนวกภูมิ ชั้นกลางหรือชั้นมัชฌิมภูมิ และชั้นสูงหรือชั้นเถรภูมิ ทั้งจะจัดการศึกษาธรรมวินัยในภาษาไทยดังกล่าวให้เชื่อมโยงกับการศึกษาปริยัติธรรมในมคธภาษาที่มีมาแต่เดิมด้วย

 
หลักสูตรนักธรรม
 

         นับแต่ได้มีการตั้งหลักสูตรนักธรรมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ หลักสูตรได้มีการปรับปรุงเรื่อยมาเป็นระยะ ทั้งในด้านเนื้อหาวิชาและตำราที่ใช้เป็นหลักสูตรหรือแบบเรียนในชั้นนั้นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้สอบนักธรรมได้ในชั้นนั้นๆ มีความรู้สมกับภูมิ เพราะวัตถุประสงค์สำคัญในการที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริจัดตั้งการศึกษานักธรรมขึ้นนั้น ก็เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ธรรมวินัยสมกับภูมิของตน กล่าวคือ

    • นักธรรมชั้นตรี เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งยังอยู่ในภูมินวกะ มีพรรษาหย่อน ๕ มีความรู้ธรรมวินัยพอรักษาตัวได้
    • นักธรรมชั้นโท เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งอยู่ในภูมิมัชฌิมะมีพรรษาเกิน ๕ มีความรู้ธรรมวินัยละเอียดกว้างขวางออกไปถึงขั้นพอช่วยแนะนำผู้อื่นได้
    • นักธรรมชั้นเอก เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งอยู่ในภูมิเถระ มีพรรษาเกิน ๑๐ มีความรู้ธรรมวินัยละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงขั้นสามารถเป็นหลักในสังฆกรรม และเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ดูแลสั่งสอนผู้อื่นได้

         เมื่อทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมขึ้นแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงพระนิพนธ์หนังสือต่างๆ สำหรับใช้เป็นแบบเรียนของนักธรรมชั้นนั้นๆด้วย หนังสือบางเรื่องที่ยังทรงพระนิพนธ์ไม่เสร็จ ก็ทรงใช้หนังสืออื่นๆที่ใกล้เคียงกันเป็นตำราหรือแบบเรียนไปพลาง แม้นักธรรมชั้นเอกที่ตั้งขึ้นหลังจากพระองค์ชิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์ก็ได้ทรงพระนิพนธ์ตำราสำหรับใช้เป็นหลักสูตรเตรียมไว้เกือบครบทุกวิชา

         หลักสูตรนักธรรมทุกชั้น ซึ่งได้ปรับปรุงมาโดยลำดับนั้นมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงเป็นอันยุติได้ ดังนี้

         หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี

    • เรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต
    • ธรรมวิภาค ใช้หนังสือนวโกวาท
    • ตำนาน (พุทธประวัติ) ใช้หนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๑-๓ หนังสือปฐมสมโพธิ ของสมเด็จพระสังฆราช (สา)
    • วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือนวโกวาท

         หลักสูตรนักธรรมชั้นโท

    • เรียงควาแก้กระทูธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต
    • ธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิภาค ปริจเฉทที่ ๒
    • ตำนาน (อนุพุทธประวัติ) ใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือพุทธานุพุทธประวัติ เฉพาะประวัติพระสาวก หนังสือสังคีติกถาและ หนังสือปฐมสมโพธิ
    • วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือวินัยมุขเล่ม ๑๒

         หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก

    • เรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต และหนังสือธรรมอื่นๆ มีมงคลวิเสสกถา เป็นต้น
    • ธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิจารณ์ หนังสือสมถกรรมฐาน หนังสือมหาสติปัฏฐานสูตร และคิริมานนทสูตร แปล
    • ตำนาน (พุทธานุพุทธประวัติ) ใช้หนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑-๓ หนังสือปฐมสมโพธิหนังสือพุทธานุพุทธประวัติ หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือสังคีติกถา
    • วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือวินัยมุขเล่ม ๓ (หลักสูตรนักธรรมและเปรียญสำหรับใช้ในการศึกษาและสอบไล่ธรรมวินัย ของพระภิกษุสามเณร. พระยาภักดีนฤเบศร์ รวบรวม, ฉบับพิมพ์ครั้งแรก, พ.ศ. ๒๔๖๙. หน้า ก-ข.)

         ถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการปรับปรุงในส่วนของวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมอีกครั้งหนึ่ง คือสำหรับนักธรรมชั้นโท กำหนดหัวข้อธรรมที่ต่างกัน ๒ ข้อ ให้นักเรียนแต่งเป็นทำนองเทศน์เชื่อมความ ๒ ข้อนั้นให้ต่อเนื่องกันสนิท และให้ชักภาษิตในที่อื่นมาอ้าง ๒ แห่ง อย่าให้ซ้ำกัน

         สำหรับนักธรรมชั้นเอก กำหนดหัวข้อธรรมต่างกัน ๓ ข้อ ให้นักเรียนแต่งเป็นทำนองเทศน์ เชื่อมความ ๓ ข้อนั้น ให้ต่อเนื่องกันสนิท และชักภาษิตในที่อื่นมาอ้าง ๓ แห่ง อย่าให้ซ้ำกัน

         และในศกเดียวกันนี้ ได้เพิ่มเติมหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก คือให้สอบพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ อีกส่วนหนึ่ง และถือว่าเป็นวิชาสำคัญ ถ้าสอบวิชานี้ตกวิชาอื่นในชั้นเป็นอันตกไปด้วยกัน

         หลักสูตรนักธรรมชั้นโทและชั้นเอกที่ปรับปรุงใหม่ดังกล่าวนี้ เริ่มใช้แต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นไป (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. หน้า ๑๕๙๑๖๐.)

ธรรมศึกษาตรี

         การศึกษานักธรรมในครั้งนั้น เป็นที่นิยมและเป็นที่ยกย่องทั้งในวงการคณะสงฆ์และในทางราชการ ผู้ที่สอบได้ประโยคนักธรรม เมื่อลาสิกขาออกไป ก็สามารถรับราชการเป็นครูสอนตามโรงเรียนต่างๆ เมื่อมีการสอบเลื่อนวิทยฐานะครู ผู้สอบได้ประโยคนักธรรมก็ได้รับสิทธิพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องสอบ ๑ ชุดวิชา เพราะประโยคนักธรรมชั้นตรีจัดเป็นชุดวิชาหนึ่งสำหรับการเลื่อนวิทยฐานะ

         ต่อมาคณะสงฆ์ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมก็เป็นประโยชน์แม้แก่ผู้ที่มิใช่ภิกษุสามเณร โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการครู ดังนั้น คณะสงฆ์จึงอนุญาตให้ครูทั้งหญิงและชายเข้าสอบประดยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวงได้ โดยได้ตั้งหลักสูตรประโยคนักธรรมสำหรับฆราวาส เรียกว่า "ธรรมศึกษาตรี" ซึ่งประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวิชาวินัยบัญญัติ ใช้เบญจศีล เบญจธรรม และอุโบสถศีลแทน

         ธรรมศึกษาตรี เปิดสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ปรากฏว่ามีฆราวาสทั้งชายและหญิงสมัครสอบกันเป็นจำนวนมาก (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๕๘.)

ธรรมศึกษาโท

         เมื่อเห็นว่าฆราวาสสนใจศึกษาและสมัครสอบธรรมศึกษาตรีกันเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ คณะสงฆ์จึงได้จัดตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาโทขึ้น เพื่อเป็นการขยายการศึกษานักธรรมสำหรับฆราวาสให้กว้างขวางและแพร่หลายยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง หลักสูตรธรรมศึกษาโทประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือธรรมวิภาค อนุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นโทสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติธรรมศึกษาโทสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๕๙.)

ธรรมศึกษาเอก

         พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะสงฆ์ได้ตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาเอกและอนุญาตให้ฆราวาสสอบได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นไป (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒๓ อ้างใน รายงานเรื่องศึกษาของคณะสงฆ์ไทย. (เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม). ฝ่ายวิจัย กองแผนงาน กรมศาสนา, พ.ศ. ๒๕๑๖. หน้า ๒๓.) หลักสูตรนักธรรมชั้นเอกก็ประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาค พุทธานุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติ

         การศึกษานักธรรม อันเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนา หรือธรรมวินัยในภาษาไทย ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น ได้พัฒนามาโดยลำดับ ทั้งในด้สนหลักสูตร การเรียนและการสอน เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในธรรมวินัย ตลอดถึงความเป็นมาของพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึง พอแก่การที่จะเป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ สามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี การศึกษานักธรรมได้เป็นที่นิยมนับถือของคณะสงฆ์และได้รับการจัดให้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของภิกษุสามเณรในประเทศไทยควบคู่ไปกับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีนับแต่เริ่มต้นมาจนบัดนี้ การศึกษานักธรรมที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯได้ทรงตั้งขึ้นนี้ จึงนับว่ามีคุณประโยชน์ต่อการพระศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

         นอกจากนี้ การศึกษานักธรรมยังได้แผ่ประโยชน์ไปยังพุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสด้วย ดังที่ฆราวาสจำนวนมากก็สนใจศึกษาและสอบธรรมศึกษากันเป็นจำนวนมากตลอดมาดังที่กล่าวแล้ว การที่พุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมวินัย นับว่ามีประโยชน์ต่อการที่จะช่วยส่งเสริมและดำรงรักษาพระศาสนาให้เจริญมั่นคงได้ทางหนึ่ง

         หลักสูตรพุทธานุพุทธประวัติ ใช้หนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๑, เล่ม ๓ หนังสือปฐมสมโพธิ หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือสังคีติกถา

 
นักธรรมชั้นตร
 

         จากพระดำริที่จะส่งเสริมการศึกษาธรรมวินัยให้แพร่หลายไปสู่ภิกษุสามเณรอย่างทั่งถึงทุกระดับชั้นดังกล่าวแล้ว พ.ศ. ๒๔๕๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยรวมองค์นักธรรมประโยค ๑ และประโยค ๒ เข้าด้วยกันเป็น นักธรรมชั้นตรี และกำหนดหลักสูตรสอบความรู้ภิกษุสามเณรเป็น ๔ อย่างคือ

                   - เรียงความแก้กระทู้ธรรม
                   - ธรรมวิภาค
                   - ตำนาน (พุทธประวัติ)
                   - วินัยบัญญัติ

         สำหรับสามเณร เว้นวินัยบัญญัติไว้ก่อนจนกว่าอุปสมบทแล้วจึงสอบวินัยบัญญัติ และการสอบไม่มีการพักเป็นประโยค ๑ ประโยค ๒ ดังแต่ก่อน สอบพร้อมกันทั้ง ๒ ประโยค ได้ตกพร้อมกันทั้ง ๒ ประโยค (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑, หน้า ๕๒๙.)

         และในศกเดียวกันนี้ ทรงจัดหลักสูตรเปรียญบาลี ๓ ประโยคเข้ากับองค์นักธรรมประโยค ๒ เป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ทั้งนี้โดยทรงมีพระปรารภว่า การสอบความรู้บาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ให้แปลธัมมปทัฏฐกถาเป็นความไทยอย่างเดียวกันทั้ง ๓ ประโยคไม่ค่อยจะได้เปรียญมีความรู้ดี เพราะผู้เข้าสอบโดยมากด้วยกันจะไม่รู้จักสัมพันธ์และไม่แตกฉานในทางไวยากรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเรียนบาลีจึงตกต่ำ (เล่มเดียวกัน, หน้า๕๓๑.)

         จากพระปรารภดังกล่าวแล้ว จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแก้ไขหลักสูตรเปรียญบาลี ๓ ประโยค ให้คงแปลธัมมปทัฏฐกถา เพียงประโยคเดียวอีก ๒ ประโยคนั้น เปลี่ยนเป็นสอบความรู้สัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้จักชักศัพท์เชื่อมถึงกัน ประโยค ๑ สอบความรู้บาลีไวยากรณ์ ส่วนวจีวิภาคเพื่อเข้าใจยกศัพท์ ประโยค ๑ วิธีสอบสัมพันธ์ จักวางแบบให้ไว้ ส่วนวิธีการสอบไวยากรณ์เคยกันมาแล้วฯ ทั้ง ๓ นี้ รวมเป็นหลักสูตรบาลี เป็นองค์อันหนึ่งของเปรียญธรรมชั้นตรีฯ (เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน) และ

         ภิกษุสามเณรที่จะสอบบาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ต้องสอบได้องค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญมาก่อนแล้ว เมื่อสอบบาลีได้อีกองค์หนึ่ง จักเป็นเปรียญชั้นตรี ได้แก่ นวกภูมิ หรือเรียกนับประโยคว่า เปรียญธรรม ๓ ประโยค ก็ได้ฯ

         เปรียญธรรมชั้นตรี หรือเปรียญธรรม ๓ ประโยคนี้เรียกย่อว่า ป.ธ. ๓ หลักสูตรนักธรรมชั้นตรีและเปรียญธรรมชั้นตรี ที่ทรงปรับปรุงใหม่นี้ เริ่มสอบตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา

         หลักสูตรนักธรรม ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงจัดขึ้นนั้น ได้รับความนิยมจากภิกษุสามเณรอย่างรวดเร็วและแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง เพียง ๒ ปีแรกที่จัดสอบ ก็มีภิกษุสามเณรสมัครเข้าสอบในสนามหลวงเกือบพันรูป ในปีต่อๆมา จึงโปรดให้มีการจัดสอบขึ้นในสนามมณฑลต่างๆด้วย เพื่อบรรเทาความแออัดในการสอบ ภิกษุสามเณรที่สอบได้ในสนามวัดหรือสนามมณฑลมีความรู้เข้าเกณฑ์ของสนามหลวง สนามหลวงก็รับโอนเป็นนักธรรมของสนามหลวง ต่อมาทรงกำหนดให้มีการสอบสนามวัดก่อนที่จะส่งเข้าสอบสนามหลวงต่อเมื่อสอบผ่านสนามวัดนั้นๆ ได้แล้ว จึงทรงอนุญาติให้ส่งเข้าสอบในสนามหลวง ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้ผู้มีความรู้ไม่ถึงขั้นเข้าสอบในสนามหลวง อันเป็นการเพิ่มภาระให้แก่สนามหลวงโดยไม่จำเป็น

         การสอบองค์นักธรรมและนักธรรมตรีในระยะแรกนั้นสามเณรต้องมีอายุ ๑๙ ปีขึ้นไป จึงอนุญาติให้เข้าสอบได้

         สำหรับการสอบนักธรรมชั้นตรี สอบโดยวิธีเขียน (ขณะนั้นการสอบพระปริยัติธรรม หรือสอบบาลีสนามหลวงยังใช้วิธีแปลปากอยู่) ข้อสอบแต่ละวิชามี ๒๑ ข้อ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงลดลงมาเป็น ๑๔ ข้อ (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. คณาจารย์มหามกุฏราชวิทยาลัย (เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม), หน้า ๑๓๙.) ส่วนกำหนดเวลาสอบในระยะแรกยังไม่มีการกำหนดเวลาเป็นชั่วโมง แต่กำหนดว่า ถ้ายังมีผู้นั่งสอบอยู่ด้วยกัน ๖ รูป ยังไม่หมดเวลา ต่อมาแก้ไขเป็น ถ้ายังมีผู้สอบเหลืออยู่ด้วยกัน ๓ รูป ถือว่ายังไม่หมดเวลา (แต่ไม่พบหลักฐานว่าแก้ไขเมื่อปีใด) (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗ หน้า ๕๒๘.) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา จึงมีการกำหนดเวลาสอบเป็นชั่วโมง คือ ๓ ชั่วโมงครึ่ง (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. หน้า ๑๓๙.)

 
นักธรรมชั้นเอก
 

         พ.ศ.๒๔๖๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์ นักธรรมชั้นเอกที่ทรงพระดำริไว้ จึงยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระประสงค์ในยุคของพระองค์ การศึกษานักธรรมจึงจัดได้เพียง ๒ ชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี กับนักธรรมชั้นโท

         แต่ในปีที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สิ้นพระชมม์นั้นเอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สิ้นพระชนม์นั้นเอง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ผู้ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกสืบมา ก็ได้ทรงจัดตั้งนักธรรมชั้นเอกขึ้น ตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้น นักธรรมชั้นเอกภูมิเถระ สำหรับภิกษุผู้ใหญ่พ้นพรรษา ๑๐ แล้ว หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก มีดังนี้

         ๑.เรียงความแก้กระทู้ธรรม จะให้หัวข้อธรรม ๓ ข้อ ที่ต่างกัน ต้องแต่งทำนองเทศนา เชื่อมความ ๓ ข้อนั้น ให้สนิท

         ๒.แก้ปัญหาธรรม โดยปรมรรถเทศนา

         ๓.แก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ กับข้อธรรมในท้องเรื่องนั้น

         ๔.แก้ปัญหาวินัยบัญญัติมีสังฆกรรมเป็นต้น

         หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงพระนิพนธ์เตรียมไว้แล้วเกือบจะครบถ้วน ดังนี้

         - หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต และหนังสือธรรมอย่างอื่นมีมงคลวิเสสกถาเป็นต้น เป็นหลักสูตรสำหรับเรียงความแก้กระทู้ธรรม

         - หนังสือธรรมวิจารณ์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นหลักสูตรสำหรับแก้ปัญหาธรรมวิภาค

         - หนังสือพุทธสมัยเล่มที่ ๒ ปริเฉทที่ ๔,๕,๖ ในธรรมสมบัติหมวด ๓ (รวมพระสูตรแปล) เป็นหลักสูตรสำหรับแก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ

         เปรียญธรรมชั้นโท จะสอบบาลีประโยค ๗ ต้องสอบได้นักธรรมชั้นเอกก่อน เมื่อสอบบาลีประโยค ๗,๘,๙ ได้แล้วนับเป็นเปรียญธรรมชั้นเอก

 
คำแนะนำในการตอบปัญหาธรรมวิภาค
 

         ๑. พึงรู้จักความแห่งคำที่เรียกทับศัพท์ ตลอดถึงชื่อแห่งข้อและหมวดธรรม เช่น นิวรณ์ อคติ เบญจขันธ์เป็นต้น และเช่น อัตตสัมมาปณิธิ บุพเพกตปุญญตา จักร ๔ พละ ๕ เป็นต้น เพราะเกื้อกูลแก่การฟังเข้าใจ การจำเป็นหลัก และการเรียกสะดวก

         ๒. พึงรู้ความประสงค์แห่งการแสดงข้อธรรมเหล่านั้น เช่น ภยาคติ อัตตสัมมาปณิธิ โลกธรรม เป็นต้น

         ๓. พึงรู้จักอนุโลมข้อธรรมที่แก้ไว้สูง พึงรู้จักผ่อนให้ต่ำลงมา เช่น สัมมาสมาธิ ที่แก้ว่า เจริญฌาณ ๑ ที่แก้ไว้ต่ำ พึงรู้จักเขยิบขึ้นให้สูง เช่น อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์

         ๔. พึงรู้จักถือเอาความแห่งข้อหนึ่ง เพราะมีข้ออื่นบ่งเช่นปฏิรูปเทศ เป็นตัวอย่าง

         ๕. พึงรู้จักศัพท์อันเดียวแต่หมายความต่าง ๆ เช่น อินทริยและจาคะ เป็นต้น

         ๖. พึงกำหนดข้อธรรมอันเดียวแต่มาในหมวดต่าง ๆ หลายหมวด เช่น ศรัทธาและปัญญาเป็นตัวอย่าง

         ๗. พึงเข้าใจเรียงความบางหมวดให้เกี่ยวเนื่องเป็นเหตุและผลของกัน เช่น วุฒิ ๔ จักร ๔ โพชฌงค์ ๗ เป็นตัวอย่าง

         ๘. พึงเทียบหมวดธรรมอันละม้ายคล้ายคลึงกัน เช่น อริยทรัพย์ และสัปปปุริสธรรมเป็นตัวอย่าง

         ๙. พึงเทียบธรรมที่เห็นว่าน่าแย้งกัน เช่น คณสังคณิกาและหมั่นประชุม

         ๑๐. พึงรู้จักอรรถที่ตรงกันข้าม ที่เรียกว่าฝ่ายขาวฝ่ายดำ เช่น องค์แห่งมรรค ๘ เป็นฝ่ายขาว คือส่วนดี พึงรู้จักองค์อันเป็นฝ่ายดำ คือส่วนชั่ว ดุจเดียวกัน มละเป็นฝ่ายดำ พึงรู้จักฝ่ายขาวด้วย

         ๑๑. พึงรู้จักความกว้างความแคบ เช่น สิกขาและสิกขาบท สังขาร และเวทนา เป็นตัวอย่าง

         ๑๒. พึงรู้จักย่นข้อธรรมอันเป็นอันมากให้น้อย เช่น นามขันธ์และโลกธรรมเป็นตัวอย่าง

         ๑๓. พึงรู้จักศัพท์อันมีความเป็นอันเดียวกัน เช่น บุญ กุศล สุจริต และบาป อกุศล ทุจริต และเหตุ ปัจจัย มูล เป็นตัวอย่าง

         ๑๔. พึงอ่านหนั่งสือต่างๆ เช่น พุทธสมัยและวรรณนาเป็นต้น เพื่อได้ความรู้เข้ามาประกอบ

         ๑๕. พึงใส่ใจลำดับแห่งข้อธรรมและหมวดธรรม นี้เป็นอุปการะแก่การจำแม่นไม่ตกหล่น และนึกถึงได้คล่อง ๆ

         ๑๖. พึงพิจารณาปัญหาและตอบตามหลัก ดังต่อไปนี้

         ก.พึงเข้าใจแห่งปัญหานั้นก่อน ถ้าเข้าใจผิดตอบย่อมผิดตาม

         ข.ถ้าเป็นปัญหาถามเพื่อสอบความจำ พึงตอบตามแบบให้บริบูรณ์ เป็นแต่ประกอบคำตอบให้สมรูปปัญหา

         ค.ถ้าเป็นปัญหาให้ออกความคิด พึงตอบตามความเห็นของตน

         ฆ.ถ้าเป็นปัญหาจะให้ตอบตามหลัก เช่น ถามถึงลักษณะสัตบุรุษ พึงตอบอาศัยสัตบุรุษธรรมเป็นตัวอย่าง

 
คำแนะนำในการแต่งปัญหาวินัยบัญญัติ
 

         ๑.ให้รู้จักสังเกตคำถามว่า ระบุลักษณะมีเจตนาเป็นต้นชัดเจนหรือเคลือบคลุม เช่น ถามว่าภิกษุดื่มน้ำมีตัวสัตว์ต้องอาบัติอะไร เช่นนี้เป็นคำถามอันเคลือบคลุม ไม่ได้ระบุเจตนาและไม่ได้ระบุชนิดสัตว์ อันจะปรับเป็นปาจิตตียได้ ต่อเมื่อได้ความว่าเป็นสัตว์ที่อาศัยน้ำ และภิกษุรู้ว่าในน้ำนั้นมีสัตว์ชนิดนั้น

         ๒.ให้รู้จักเทียบเคียงสิกขาบทอันละม้ายกัน มีอนิยตสองเป็นตัวอย่าง

         ๓.ให้รู้จักสังเกตว่า บางสิ่งบางอย่าง กล่าวในหลายสิกขาบท เช่น การทำจีวร เป็นเหตุให้ได้รับยกเว้นต่าง ๆ

         ๕.ให้รู้จักใช้ความจำ เช่นลำดับแห่งสิกขาบทเป็นต้น

         ๖.ให้รู้จักยันหลักของตนให้มั่น อย่าให้น้อมใจไปตามคำถาม

         ๗.ให้รู้จักวางบทตัดสิน

         ๘.ให้รู้จักสันนิษฐานความให้เข้าหลัก เช่น อย่างไร เป็นมุสาวาท อย่างไร เป็นฆ่าสัตว์

         ๙.ให้รู้จักสันนิษฐานว่าถึงที่สุดหรือยัง

         ๑๐.ให้รู้จักความมุ่งหมายเป็นเหตุบัญญัติสิกขาบท

         ๑๑.ให้รู้จักกำหนดสิกขาบทอันเป็นเหตุสมมุ่งหมาย หรืออันกลายไปเสียแล้ว

 
ข้อแนะนำเกี่ยวกับนักธรรมชั้นโท

 

         โดยที่ทรงเห็นว่า นักธรรมชั้นโทต้องศึกษาในเรื่องของธรรม ตำนาน (คืออนุพุทธประวัติ) วินัยบัญญัติ รวมทั้งการเรียงความแก้กระทู้ธรรม ละเอียดลุ่มลึกขึ้นยิ่งกว่านักธรรมชั้นตรี ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่เข้าใจในการเรียนการสอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงได้ทรงประทานพระอธิบายแนะนำ ในวิธีการเรียนการสอบ สำหรับทั้งครูและกรรมการผู้สอบ และสำหรับนักเรียนผู้จะต้องสอบ ไว้อย่างละเอียด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รับประโยชน์การการเรียนการสอบตามภูมิชั้นแห่งการศึกษานักธรรมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ พระอธิบายแนะนำดังกล่าวนี้ ยังศึกษา และควรทำความเข้าใจในประเด็นใด ในแแง่มุมใดบ้าง จึงจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ได้อย่างถ่องแท้ จึงนับว่าเป็นพระอธิบายแนะนำที่มีประโยชน์ไม่เฉพาะแก่ผู้ศึกษานักธรรมเท่านั้น ฉะนั้น จึงได้นำมาบันทึกไว้ในที่นี้ด้วย ดังนี้

คำแนะนำในการแต่งปัญหาธรรมวิภาค

         ๑.ให้รู้จักถือเอาความเข้าใจข้อธรรมอันย่อ เช่น อัตตสัมมาปณิธิ ทำอย่างไรเรียกว่า ตั้งตนไว้ชอบ

         ๒.ให้รู้จักสังเกตว่าธรรมชื่อนั้น เช่น ศรัทธา วิริยะ ปัญญา มาในประเภทแห่งธรรมชื่ออะไรบ้าง

         ๓.ให้รู้จักสังเกตศัพท์ว่า ศัพท์นั้นเป็นชื่อแห่งธรรมอย่างนั้นบ้าง เช่น อินทรีย์เป็นชื่อของทวารมีจักษุเป็นต้นก็มี เป็นชื่อของธรรมมีศรัทธาเป็นต้นก็มี

         ๔.ให้รู้จักสันนิษฐานว่า ธรรมนั้นได้ชื่ออย่างนั้น เพราะอรรถอย่างไร เช่น ธรรมได้ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่ในกิจของตน ๆ

         ๕.ให้รู้จักสังเกตว่า ธรรมชื่อเดียวเรียกเป็นหลายอย่างก็มี เช่นจักษุ เรียกว่าอายตนะภายในก็ได้ เรียกว่าอินทรีย์ก็ได้ เรียกว่าทวารก็ได้

         ๖.ให้รู้จักใช้ความจำ เช่น ถามถึงประเภทธรรมชื่อนั้นมีเท่าไร อะไรบ้าง และยกขึ้นแต่ลำดับข้อ เช่น อปริหานิยธรรมข้อ ๔ อย่างไร จึงเป็นที่ตั้งแห่งความเจริญ

         ๗.ให้รู้จักถือเอาความตรงกันข้าม เช่นทางชอบมีแล้วอย่างไรเป็นความผิด

         ๘.ให้รู้จักวางบทตัดสิน เช่น การบนต่อวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนาอนุมัติหรือไม่ มีธรรมข้ออะไรเป็นเครื่องอ้าง

         ๙.ให้รู้จักสันนิษฐานความให้เข้าหลัก เช่น ปฏิรูปเทศในจักร ๔ อาจอธิบายไปได้หลายทาง แต่ในที่นี้ มีสัปปรุสูปสังเสโวอยู่ในลำดับ แก้ว่าประเทศมีสัตบุรุษอยู่ เป็นปฏิรูปเทศ

         ๑๐.ให้รู้จักโยงข้อธรรมในประเภทเดียวกันให้เนื่องถึงกัน เช่น วุฒิ ๔ เป็นอาทิ

         ๑๑. ให้รู้จักลักษณะต่างแห่งธรรมอันแม้นกัน เช่น สติกับสัมปชัญญะ

 
ระเบียบการสอบองค์นักธรรม
 
         องค์สามเณรรู้ธรรมและองค์นักธรรมที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพระดำริจัดขึ้นนั้น นอกจากทรงจัดหลักสูตรแล้ว ยังได้ทรงกำหนดระเบียบการสอบ ซึ่งประกอบด้วย จำนวนข้อปัญหา วิธีการเขียนตอบปัญหา วิธีการตรวจ วิธีการให้คะแนน การตัดสินได้-ตก ไว้อย่างละเอียด ซึ่งขอนำมาบันทึกไว้ ดังนี้

         ๑. จะมีกรรมการเป็นผู้สอบ อย่างน้อย ๓ รูป

         ๒. หลักสูตรสำหรับสอบ คือ

         แปลมคธเป็นไทย ใช้อรรธกถาธรรมบท เขียน (แต่ในคราวต้นแปลด้วยปากก็ได้) ประมาณ ๒ หน้าสมุดพิมพ์
         เขียนตอบปัญหาธรรมวิภาคในนวโกวาท ๒๑ ข้อ ข้อนี้เป็นพิเศษ
         เรียงความแก้กระทู้ธรรมในพุทธศาสนสุภาษิต ๑ ข้อ ตามแต่จะเรียงได้อย่างไร แม้ข่อนี้ก็เป็นพิเศษ

         ๓. วิธีตรวจนั้น ดังนี้

         ประโยคแปล เป็นแต่อ่านดูเท่านั้น ไม่มีลดคะแนน (ถ้าแปลปากก็ฟัง ไม่มีทัก) แล้วลงสันนิษฐานว่า ใช้ได้หรือไม่ได้
ตอบปัญหาธรรมวิภาค ยอมให้ผิดได้ ๖ ข้อเต็มหรือให้คะแนน ๘๔ ผิดข้อหนึ่งลด ๑๔ คะแนน ผิดกึ่งข้อลด ๗ บกพร่องเล็กน้อยแบ่งลดลงมาตามควร หมดคะแนนเป็นใช้ไม่ได้ ยังเหลือจึงใช้ได้
เรียงความแก้กระทู้ธรรม อ่านตรวจแล้วลงสันนิษฐาน

         ๔. ในประโยคอันหนึ่งๆ กรรมการทั้งนั้นหรือโดยมากเห็นว่าใช้ได้ จัดเป็นได้ เห็นว่าใช้ไม่ได้ จัดเป็นตก

         ๕. ผู้เข้าสอบจะสอบเพียงแปลมคธก็ได้ แต่ถ้าตก เป็นอันตกทีเดียว ถ้าได้ ต้องสอบสามเณรานุสิกขา ตอบข้อถามด้วยปากกากว่าจะได้ จัดเป็นชั้นตรี

         ๖. ถ้าสอบทั้งสามข้อ ตกแปลมคธ แต่ได้ธรรมวิภาคและเรียงความรวม ๒ อย่าง จัดเอาเป็นได้ชั้นตรีเหมือนกัน

         ๗. ถ้าแปลมคธได้แล้ว ได้ธรรมวิภาคหรือเรียงความเพิ่มขึ้น ๑ อย่าง รวมเป็น ๒ อย่าง จัดเป็นชั้นโท

         ๘. ถ้าแปลมคธได้แล้ว ได้ทั้งธรรมวิภาคทั้งเรียงความรวมเป็น ๓ อย่าง จัดเป็นชั้นเอก

         ๙. ผู้เข้าสอบทั้ง ๓ อย่าง ไม่ต้องสอบสามเณรานุสิกขา (ประมวลพระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส การศึกษา. ในงานมหาสมณานุสรณ์ครบ ๕๐ ปีแต่วันสิ้นพระชนม์ฯ พ.ศ. ๒๕๑๔, หน้า ๒๐๕๒๐๖.)

         สำหรับวิธีการให้คะแนนโดยวิธีเฉลี่ยคะแนนนั้น ได้ทรงตั้งเกณฑ์การเฉลี่ยคะแนนไว้ ดังนี้

         ๑. ความรู้อย่างหนึ่ง มีกรรมการตรวจ ๓ รูป อย่างน้อยให้ ๒ รูป จึงเป็นอันได้ ตามนัยนี้ จัดคิดเฉลี่ยคะแนนตามความรู้ที่สอบอย่างละ ๒ คะแนน ถ้ามีคะแนนได้เท่านั้นหรือยิ่งกว่านั้น จึงเป็นอันได้ หย่อนกว่านั้นเป็นอันตก ตัวอย่างเช่น สอบคราวนี้ ความรู้ที่สอบ ๓ อย่าง ๖ คะแนนเป็นอย่างน้อย จึงเป็นอันได้ เช่น ได้ธรรมวิภาค ๓ คะแนน วินัยบัญญัติ ๓ คะแนน ตกเรียงความทั้ง ๓ คะแนน ก็ยังเป็นใช้ได้ ถ้าได้ธรรมวิภาค ๓ คะแนน วินัยบัญญัติ ๒ คะแนน เรียงความต้องตกเพียง ๒ คะแนน ได้ ๑ จึงเป็นใช้ได้ ถ้าตกทั้ง ๓ เป็นอันตก ถ้าได้ธรรมวิภาคและวินัยบัญญัติเพียงอย่างละ ๒ คะแนน ต้องได้เรียงความด้วยอย่างน้อย ๒ คะแนน จึงจะใช้ได้

         ๒. การคิดเฉลี่ยคะแนนนี้ จักคิดเฉพาะความรู้ที่สอบในคราวเดียวกัน ประโยคที่ส่งขอให้ตรวจก็ดี ที่ได้ไว้ในสนามคราวหลังก็ดี จะมาเอาคิดเฉลี่ยด้วยไม่ได้ เช่น สามเณรได้องค์นักธรรมประโยค ๑ ไว้แล้ว คือได้เรียงความกับธรรมวิภาคแล้ว ครั้นอุปสมบทเป็นภิกษุขึ้น ต้องเข้าสอบวินัยบัญญัติเพิ่ม เช่นนี้ต้องเป็นประโยคที่ได้ คือได้อย่างน้อย ๒ คะแนนจึงใช้ได้ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๒๙๘๒๙๙.)

         สำหรับวิธีการตัดคะแนนหรือลดคะแนน ก็ได้ทรงกำหนดเกณฑ์ไว้ ดังนี้

ในปัญหาอันหนึ่ง ๆ มีกำหนดว่า ๗ ข้อ ให้ผิดได้ ๒ ข้อ เป็นอย่างมาก ปัญหาหนึ่งมี ๒๑ ข้อ ข้อผิดจึงมีได้ ๖ ข้อ

         แต่โดยมาก ตอบไม่ผิดทั้งข้อก็มี เพราะฉะนั้น จึงต้องคิดเป็นคะแนนสำหรับลดข้อหนึ่ง ๑๔ คะแนน ๖ ข้อเป็น ๘๔ คะแนน นี้เป็นทุนเดิม ถ้าต้องลดพอหมดทุน แต่ไม่ต้องเป็นหนี้จัดเอาเป็นได้ ยิ่งเหลือทุนมากเพียงใดยิ่งดี

         ถ้าผิดเต็มข้อลด ๑๔ คะแนน ถ้าผิดไม่เต็มข้อ ถ้าข้อความแบ่งเป็นสองได้ ผิดแต่ในส่วนหนึ่งเช่นนี้ลด ๗ คะแนน ถ้าข้อความแบ่งเป็น ๓ ผิด ๒ ส่วน เช่นนี้เอา ๓ หาร ๑๔ เศษทิ้งเสีย ได้ลัภ ๔ เอา ๒ คูณ เป็น ๘ียงเท่านี้ ๑ ใน ๔ หรือ ๓ ใน ๔ ก็เทียบเหมือนดังนี้

         วิธีใช้อักษรและคำพูดและเรียงความ สังเกตตามพื้นคน ถ้าไม่ได้เคยเล่าเรียนมา หรือผู้ตรวจเข้าใจว่าเป็นเพราะพลั้งเผลอยกให้ ถ้าคนเรียนมีพื้นมา แต่เขลาในที่บางแห่ง เช่นนี้ลดคะแนน ๑ บ้าง ๒ บ้าง ตามน้ำหนักแห่งอักษรหรือถ้อยคำที่ใช้ผิด ทำเปรอะเปื้อนปฏิกูล ผิดวิสัยของคนเขียนหนังสือเป็น ลดแห่งละ ๑ หรือ ๒ ตามน้ำหนักแห่งความเปรอะเปื้อน วางหน้ากระดาษผิด ลด ๕ คะแนน

         ถ้าตอบดีได้ความชัดเจน เรียงข้อความกระทัดรัด หรือข้อความเฉียบแหลมเช่นนี้ ควรได้เพิ่มคะแนนเฉพาะข้อนั้นอย่างสูง ๑๔ คะแนนเต็มข้อ ลดลงมาตามสมควรจนถึง ๓ คะแนนเป็นที่สุด คะแนนเพิ่มนี้บวกเข้ากับทุนเดิม สำหรับเป็นทุนเพื่อผิดในข้ออื่นได้มากกว่ากำหนด หรือไว้เป็นทุนเหลือสำหรับได้รับรางวัล

         ผู้ที่ควรได้รับรางวัลนั้น ต้องมีคะแนนเหลือกว่าครึ่งขึ้นไป ถ้าไล่คราวหลังๆ ต้องมีคะแนนเหลือมากกว่าผู้ที่ตอบได้รางวัลไว้ในศกนั้นแล้วด้วย (เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๐๐๓๐๑.)

         ต่อมาได้ทรงปรับปรุงแก้ไขวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกสำหรับสอบความรู้องค์นักธรรมในสนามหลวงเพื่อความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งดังนี้

         คำนึงถึงภิกษุสามเณร ผู้เข้าสอบความรู้องค์นักธรรมในสนามหลวง เราเห็นว่ายังเสียเปรียบผู้เข้าสอบตามวัดอยู่ ผู้เข้าสอบตามวัด สอบได้เป็นอย่างๆ ครบกำหนดแล้ว ส่งมาขอให้สนามหลวงตรวจ เพื่อรับเป็นนักธรรมของสนามหลวงได้ ฝ่ายผู้เข้าสอบในสนามหลวงทีเดียว ความรู้ในประโยคอันเดียว ต้องได้ครบทุกอย่าง แม้ในสนามหลวงเองสอบประโยค ๒ สามเณรผู้ยังไม่ต้องสอบวินัย ยังได้เปรียบภิกษุอยู่ นอกจากนี้ ผู้เข้าสอบบางรูปมีความรู้ดีบางอย่าง กรรมการให้ครบ ๓ คะแนน ได้ชมว่าดีบ้างก็มี เมื่อตกความรู้อย่างอื่น ความรู้ที่ดีนั้นก็เป็นต้องตกไปตามกัน เอามาช่วยความรู้ที่หย่อนไม่ได้ มีประสงค์จะแก้ข้อบกพร่องเหล่านี้ จึงตั้งวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกไว้ดังนี้:

         ๑. คะแนนสำหรับความรู้อย่างหนึ่งเป็น ๓ ได้เพียง ๒ เป็นให้เฉพาะความรู้อย่างนั้น เสียตั้งแต่ ๒ เป็นไม่ให้ ในประโยคที่สอบความรู้กว่าอย่างหนึ่ง ให้รวมคะแนนได้ตกเฉลี่ยกันได้ เช่นในบัดนี้ องค์นักธรรมประโยค ๑ สอบความรู้ ๒ อย่าง คะแนนได้ตั้งแต่ ๔ ขึ้นไปถึง ๖ ต่างว่าแก้กระทู้ธรรมได้ ๓ คะแนน ตอบปัญหาธรรมวิภาคเสีย ๒ คะแนน ได้แต่เพียงคะแนนเดียว เช่นนี้ รวมทั้งประโยคคงได้ ๔ คะแนน เสีย ๒ คะแนน ประโยคนี้เป็นอันได้ อีกอย่างหนึ่ง ต่างว่าสอบรวมกันทั้ง ๒ ประโยค ความรู้ ๔ อย่าง คะแนนได้ตั้งแต่ ๘ ขึ้นไปถึง ๑๒ ต่างว่าแก้กระทู้ธรรมได้ ๒ คะแนน ตอบปัญหาธรรมวิภาคได้ ๓ คะแนน ตอบปัญหาวินัยได้ ๑ คะแนน ตอบปัญหาพุทธประวัติได้ ๒ คะแนน ทั้งประโยครวมเป็นได้ ๘ คะแนน เป็นใช้ได้

         ๒. สอบความรู้มากอย่างเข้า ความได้ประโยชน์เพราะเฉลี่ยคะแนนก็มากขึ้น อาจจะทำให้นักเรียนสะเพร่า ไม่เอาใจใส่ในความรู้บางอย่างได้ เช่น สอบความรู้ ๔ อย่างนั้น ได้ ๓ อย่างๆละ ๓ คะแนน เต็มรวมเป็น ๙ เป็นเกณฑ์ได้อยู่แล้ว อาจจะทำเพราะสะเพร่าละเลยความรู้อีกอย่าง ๑ เสีย เพราะฉะนั้นในประโยคใด เสียคะแนนเพราะความรู้อย่าง ๑ เต็ม ๓ เช่นนี้จะเอาคะแนนสำหรับความรู้อย่างอื่น มาเฉลี่ยด้วยไม่ได้ ประโยคนั้นเป็นอันตก จะเฉลี่ยได้เพราะความรู้มีคะแนนได้อยู่ ๑

         ๓. ส่วนการสอบความรู้บาลี ของภิกษุสามเณรผู้สอบองค์นักธรรมเพียงประโยค ๑ สามัญได้แล้ว ให้ได้รับเฉลี่ยคะแนนตามนัยนั้น ส่วนของภิกษุสามเณรผู้สอบแต่ลำพังบาลี หรือได้องค์นักธรรมเพียงประโยค ๑ ยังไม่ให้ใช้วิธีเฉลี่ยคะแนน ให้ตรวจได้ตกเฉพาะประโยคไปก่อนกว่าจะได้จัดให้เข้ารูป

         เมื่อได้ตั้งวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกขึ้นเช่นนี้แล้ว จึงอนุญาติให้ภิกษุสามเณรผู้สอบองค์นักธรรมประโยค ๑ สามัญ ได้อย่าง ๑ ตกอย่าง ๑ แต่เฉลี่ยคะแนนได้เป็น ๔ ให้เป็นอันได้ประโยคนั้น (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑, ๕๒๖๕๒๘.)

         วิธีการเขียนในการสอบ ก็ได้ทรงมีพระอธิบายแนะนำและวางเกณฑ์ไว้อย่างละเอียด ดังนี้

         เมื่อคราวสอบประโยค ๑ ได้ทราบว่าภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบไม่เข้าใจระเบียบในการเขียน ทำให้ช้าเวลาไปมากกว่าที่ควรจะเป็น ในคราวสอบประโยค ๒ นี้ จึงตั้งระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

         ๑. กระดาษที่เขียนนั้นให้ประทับตรา จะจ่ายให้คราวแรกแต่รูปละ ๑ แผ่น ถ้าไม่พอ ให้ผู้สอบมาขอต่อเจ้าหน้าที่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ จงตรวจดูกระดาษเดิมก่อน เห็นว่าไม่พอด้วยการเขียนโดยปรกติ จึงจ่ายเติมให้อีกคราวละแผ่น ถ้าได้ความว่า กระดาษหมดไป เพราะเอาไปใช้เป็นกระดาษร่างก็ดี เขียนเสียๆก็ดี ให้บอกเรา ถ้าเราไม่อยู่ ให้เรียนพระธรรมวโรดมรองแม่กอง สุดแล้วแต่จะสั่ง ให้งดเสียถือเอาเป็นไม่รู้จักเขียน หรือจะให้จ่ายให้

         ๒. ถ้ากระดาษไม่ซึมจนอ่านไม่ออก ผู้เข้าสอบจงเขียนทั้งสองหน้า อย่าทำลักลั่นให้เสียระเบียบ ถ้าขืนทำ จะเอาไว้เป็นเครื่องวินิจฉัยตรวจประโยค

         ๓. คราวนี้ยังจักไม่กำหนดเวลาลงว่าให้เขียนได้กี่นาฬิกา แต่ตั้งให้มีจำกัดไว้ว่า ถ้ามีผู้เข้าสอบเขียนยังไม่แล้ว ๖ รูป ยังเปิดให้เขียนอยู่ ถ้ารูปหนึ่งเขียนแล้วและส่งประโยคเสร็จ เหลือไม่แล้วแต่ ๕ รูป ให้เลิกการเขียน ประโยคของผู้เขียนไม่จบ เราจะตรวจดู ถ้าเหลือแต่เล็กน้อย จะส่งให้กรมการตรวจ ถ้าเหลือมาก จะตัดสินว่าเขียนไม่ทัน เอาเป็นตก เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เข้าสอบควรรีบเขียน พึงตั้งใจแล้วก่อนเหลือ ๖ รูป

         ๔. เขียนเสร็จแล้วจะตรวจประโยค ให้เวลาอย่างช้า ๑๕ มินิต พ้นนั้นต้องส่งแก่เจ้าหน้าที่ ห้ามมิให้นั่งอยู่ต่อไป

         เจ้าหน้าที่และผู้เข้าสอบ จงทำตามระเบียบที่จัดให้ไว้นี้ (ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา, หน้า ๒๑๒๒๑๓.)

         การสอบองค์นักธรรมนั้น ให้มีการสอบพักเป็นประโยคได้ คือจะสอบทีละประโยค หรือจะสอบทีเดียว ๒ ประโยคก็ได้ เมื่อสอบได้ครบทั้ง ๒ ประโยค จึงนับว่าเป็นนักธรรมชั้นนั้นๆ

         จากพระอธิบายในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวมาแต่ต้นจะเห็นได้ว่า แนวพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ในการจัดตั้งหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรม ซึ่งต่อมาทรงปรับปรุงเป็นองค์นักธรรมนั้นสรุปได้ว่า

         หลักสูตร คือเรื่องที่กำหนดให้ภิกษุสามเณรเรียนนั้น คือธรรม ได้แก่คำสอนของพระพุทธศาสนา ตำนาน คือประวัติหรือความเป็นมาของพระพุทธศาสนา วินัยบัญญัติ คือสิกขาบทที่ภิกษุสามเณรจะพึงรู้และพึงปฏิบัติ เรียงความแก้กระทู้ธรรม คือการหัดอธิบายธรรมให้คนอื่นเข้าใจอย่างมีที่ไปที่มา อันเป็นการฝึกการเทศนาสำหรับที่จะสั่งสอนคนอื่นต่อไป การแปลท้องนิทานในธรรมบท ก็เพื่อให้สามารถอ่านภาษาบาลีได้ตามควรแก่ภูมิชั้นของตน

         วัตถุประสงค์ของหลักสูตรก็คือ เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในพระพุทธศาสนาทั้งในด้านคำสอนประวัติความเป็นมาและสิกขาวินัยที่จะต้องปฏิบัติ ตลอดถึงสามารถอธิบายสั่งสอนผู้อื่นในเรื่องของพระพุทธศาสนาได้ตามควรแก่ชั้นภูมิชั้นของตน

         ส่วนวิธีการสอบความรู้ ก็ใช้วิธีการเขียนและตรวจโดยวิธีการให้คะแนน ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการใหม่ที่ทรงพระดำริขึ้นในวงการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย เพราะในครั้งนั้น การสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวง ที่เรียกว่าการแปลพระปริยัติธรรมยังใช้วิธีการสอบด้วยการแปลปาก (เลิกการสอบพระปริยัติธรรมด้วยวิธีแปลปาก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘) สำหรับเวลาในการสอบ ในระยะแรกยังไม่ทรงกำหนดเวลาเป็นชั่วโมง เพราะทรงเห็นว่าภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบส่วนมากยังไม่ชำนาญในการเขียนหนังสือจึงทรงกำหนดเอาจำนวนผู้สอบเป็นเกณฑ์ คือยังมีผู้นั่งสอบอยู่ ๖ รูป ถือว่ายังไม่หมดเวลา ต่อเมื่อมีผู้นั่งสอบอยู่ไม่ถึง ๖ รูป ถือว่าหมดเวลาเขียน และหลังจากเขียนเสร็จแล้ว ให้นำส่งกรรมการสอบอย่างช้าไม่เกิน ๑๕ นาที

         หลักสูตรและวิธีการเรียนการสอบที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงกำหนดขึ้นเป็นหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมและต่อมาทรงปรับปรุงเป็นหลักสูตรองค์นักธรรมดังกล่าวนี้ นับเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมแบบใหม่ที่ทรงพระดำริขึ้น ซึ่งเป็นแนวพระดำริที่สืบเนื่องมาจากวิธีเล่าเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยที่ได้ทรงพระดำริทดลองใช้ขึ้นในสำนักวัดบวรนิเวศวิหารก่อนเป็นครั้งแรก แต่เมื่อแรกทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารต่อมาก็ทรงนำมาปรับปรุงใช้กับหลักสูตรการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓) การศึกษาพระปริยัติธรรมแบบใหม่ที่ทรงดำริขึ้นนี้ ในระยะแรกแพร่หลายอยู่เฉพาะในวัดธรรมยุตทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมือง ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้ธรรมวินัยง่ายขึ้น เพราะภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาบาลี ฉะนั้น เมื่อได้รับพระบรมราชานุมัติให้จัดตั้งหลักสูตรองค์นักธรรมขึ้นดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงเห็นเป็นทางที่จะส่งเสริมการศึกษาธรรมวินัยให้แพร่หลายไปสู่ภิกษุสามเณรทั่วไปในระดับนวกะ ระดับมัฌชิมะ และระดับเถระ ดังที่ได้ทรงมีพระปรารภไว้แต่เบื้องต้น และจากแนวพระดำริดังนี้เอง จึงได้ทรงพัฒนาหลักสูตรองค์นักธรรมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็น ๓ ชั้น เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก โดยแต่ละชั้นกำหนดหลักสูตรเป็นแนวเดียวกันและศึกษาต่อเนื่องการ แต่มีความละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามภูมิชั้น

 
การจัดหลักสูตรนักธรรมเชื่อมหลักสูตรบาล
 
         หลังจากได้จัดตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโทขึ้นแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงจัดระเบียบชั้นเปรียญใหม่ให้เชื่อมโยงกับการศึกษานักธรรม ดังนี้

         ๑.พระนักธรรมแปลบาลีประโยค ๓ ได้แล้ว เป็นเปรียญธรรมชั้นตรี จักได้รับพระราชทานพัดยศและประกาศนียบัตรทรงตั้งคราวหนึ่ง

         ๒.เปรียญธรรมชั้นตรี ต้องเป็นนักธรรมชั้นโทก่อน จึงจะแปลบาลีประโยคอื่นได้ แปลได้ประโยค ๔,๕ นับว่าเป็นเปรียญธรรมชั้นโท แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานพัดเปลี่ยนและประกาศนียบัตร เพราะเป็นเพียงการเลื่อนประโยค ต่อเมื่อแปลบาลีประโยค ๖ได้แล้วจึงนับว่าเป็นเปรียญธรรมชั้นโทเต็มที่ จักได้รับพระราชทานเลื่อนยศเปลี่ยนและประกาศนียบัตรทรงตั้งอีกคราวหนึ่ง

         ๓.ในเวลาที่ยังไม่ได้ตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกเปรียญธรรมชั้นโทแปลบาลีประโยค ๗,๘ ได้แล้ว นับเป็นเปรียญบาลีชั้นเอก แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานพัดเปลี่ยนและประกาศนียบัตรทรงตั้ง เพราะเป็นเพียงการเลื่อนประโยค ต่อเมื่อแปลบาลีประโยค ๙ ได้แล้ว นับเป็นเปรียญชั้นเอกเต็มที่ จักได้รับพระราชทานพัดยศเปลี่ยนและประกาศนียบัตรทรงตั้งอีกคราวหนึ่ง

         เมื่อตั้งหลักสูตรนักธรรมขึ้น จะจัดเข้าในชั้นนี้ ผู้สอบได้เป็นเปรียญธรรมชั้นเอก (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ , หน้า ๓๗๕)

 
พัดนักธรรม
 

         เมื่อแรกตั้งนักธรรมชั้นตรีขึ้นนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้โปรดให้ทำพัดรอง มีตราคณะสงฆ์ (ตราธรรมจักร) ประทานแก่ผู้สอบนักธรรมชั้นตรีได้ เพื่อเป็นการยกย่องนักธรรม ครั้นการสอบนักธรรมแพร่หลายไป มีผู้สอบนักธรรมชั้นตรีได้มากขึ้น ผู้ได้รับประทานพัดนักธรรมไม่รู้สึกว่าเป็นเกียรติยศ จึงไม่ค่อยนิยมถือกัน

         ถึง พ.ศ.๒๔๖๐ หลังจากตั้งนักธรรมมาได้ ๖ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงพระดำริจัดเรื่องพัดนักธรรมใหม่ คือพัดนักธรรมไม่ประทานแก่ผู้สอบได้ทั่วไป ทังนักธรรมชั้นตรี และนักธรรมชั้นโท แต่พระราชทานเฉพาะที่มีพรรษาพ้น ๕ แล้ว และมีหน้าที่ทางการพระศาสนา เช่น เป็นครูสอน เป็นต้น และทรงกำหนดให้พระนักธรรมถือพัดนักธรรมในพิธีทางราชการ เช่นเดียวกับพระมีฐานันดรถือพัดยศ

         ถึง พ.ศ.๒๔๖๓ ทรงจัดระเบียบเรื่องพัดยศเปรียญและพัดนักธรรมอีกครั้งหนึ่ง สำหรับพัดนักธรรมนั้น เลิกประทานพัดนักธรรมชั้นตรี เพราะส่วนใหญ่สอบเลื่อนเป็นนักธรรมชั้นโทแล้ว ส่วนพระนักธรรมชั้นตรีที่ไม่สอบเลื่อนเป็นนักธรรมชั้นโท และมีหน้าที่ทางการพระศาสนา ยังคงได้รับประทานอยู่ ส่วนพัดนักธรรมชั้นโทนั้น ก็ประทานเฉพาะแก่ผู้สอบได้นักธรรมชั้นโท ที่มีพรรษาพ้น ๕ แล้ว สำหรับผู้ที่สอบได้แต่พรรษายังไม่ถึง ๕ ต้องรอจนกว่าพรรษาครบ ๕ แล้ว จึงจะได้รับประทานพัด (ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา.หน้า ๓๗๐-๓๗๑.)

         การสอบนักธรรมชั้นโทในระยะแรก มารวมสอบในสนามหลวง กรุงเทพฯ เพราะยังมีจำนวนผู้สอบไม่มากและส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพฯ หรือในปริมณฑลใกล้เคียง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๕ เป็นต้นไป สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้ทรงประกาศให้จัดสอบนักธรรมชั้นโทในสนามต่างจังหวัดได้ โดยใช้ข้อสอบของสนามหลวง และสอบในวันเวลาเดียวกันกับสนามหลวงในกรุงเทพฯ

ภาพใบประกาศนียบัตรยุคต่าง ๆ
 
พ.ศ. ๒๔๔๓ พ.ศ. ๒๔๕๑
พ.ศ. ๒๔๖๐ พ.ศ. ๒๔๖๑
พ.ศ. ๒๔๘๔ พ.ศ. ๒๔๙๐
พ.ศ. ๒๕๐๒ พ.ศ. ๒๕๐๒

สถิติผู้คลิกเปิดเข้าชมหน้านี้
จำนวนการคลิกเปิด 35760 ครั้ง