สมเด็จพระสังฆราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
โพสโดย webmaster เมื่อ September 18 2009 18:24:31
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เนื่องจากมีผู้ถามว่า สมเด็จพระสังฆราชที่เป็นเจ้าในพระบรมวงศ์ นั้น มีกี่พระองค์ และเพราะอะไรบางพระองค์จึงเรียกว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
สมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเป็นเจ้านั้น ออกพระนามกันว่า 'สมเด็จพระสังฆราชเจ้า' ส่วนสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเป็นสามัญชน ออกพระนามว่า 'สมเด็จพระสังฆราช'
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เมื่อยังทรงเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ในรัชกาลที่ ๕
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ในกรุงรัตนโกสินทร์ มี ๕ พระองค์ คือ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ และองค์ที่ ๑๓
สามพระองค์แรก เมื่อประสูติเป็นพระองค์เจ้าชั้นพระเจ้าลูกยาเธอ จึงทรงได้รับถวาย 'มหาสมณุตตมาภิเษก เป็น 'สมเด็จพระมหาสมณเจ้า' และถวายเศวตฉัตร ๕ ชั้น สูงกว่า สมเด็จพระสังฆราชทั่วไปซึ่งทรงแต่ฉัตร ๓ ชั้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ๓ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี พระราชโอรสองค์ที่ ๒๘ ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งพระนิพนธ์กวีนิพนธ์เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่ายของพระองค์ เป็นที่รู้จักกันอย่างดียิ่ง
ทรงดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ระหว่าง พ.ศ.๒๓๙๔-๒๓๙๖ เพียง ๓ ปี
๒. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๘
พระนามเดิม พระองค์เจ้าฤกษ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๘ ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรม พระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (วังหน้าในรัชกาลที่ ๒) พระนามของพระองค์เป็นที่รู้จักกันดีในวงการพระเครื่องด้วยพระองค์เป็นผู้สร้าง 'พระกริ่งปวเรศ' ที่ลือชื่อว่าเป็นพระกริ่งชั้นยอด ทรงสร้างเป็นจำนวนจำกัด
ทรงดำรงสมเด็จพระสังฆราชระหว่าง พ.ศ.๒๓๙๖-๒๔๓๕
๓. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐
พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔๗ ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ระหว่าง พ.ศ.๒๔๔๒-๒๔๖๔
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เจ้านายในพระบรมวงศ์ อีก ๒ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๑
พระนามเดิม หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ (พระองค์เจ้าชมพูนุท พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์ที่ ๔ นับจากพระองค์ใหญ่) ทรงฉายพระรูปกับเจ้าพี่เจ้าน้อง เมื่อทรงพระเยาว์ นับจากพระองค์ใหญ่ เรียงลงไป
๑. พระองค์เจ้า (หญิง) ยิ่งเยาวลักษณ์อัครราชกุมารี
๒. พระองค์เจ้า (หญิง) พักตร์พิมลพรรณ
๓. พระองค์เจ้า (ชาย) เกษมสันต์โสภาคย์ (กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์)
๔. สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
๕. พระองค์เจ้า (หญิง) บัญจบเบญจมา
พระองค์ประสูติปีเดียวกันกับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แต่ทรงเยาว์ชันษากว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ๙ เดือน
ระหว่างทรงผนวช ในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศเป็นพระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต
ในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้ทรงกรมเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรศิริวัฒน์ ขณะนั้นทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง
พ.ศ.๒๔๖๔ ในรัชกาลที่ ๖ นั้น เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวชิรโรรสสิ้นพระชนม์ จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรศิริวัฒน์ ขึ้นเป็น
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ทรงดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ระหว่าง พ.ศ.๒๓๖๔-๒๔๘๐
หมายเหตุ พระนามท้าย 'ศิริวัฒน์' สะกดตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ซึ่งขณะพระองค์สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๔๘๐ รัฐบาลประชาธิปไตยในเวลานั้นยังไม่ทันได้เปลี่ยนแปลงตัวอักษรภาษาไทย (ให้ตัดอักษร ศ และ ษ ทิ้งเหลือเพียง ส ตัวเดียว) พระนามท้ายของพระองค์จึงมิได้ต้องพลอยเปลี่ยนเป็น 'สิริวัฒน์'
๒. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๓
เดิมทรงมีศักดิ์เป็น หม่อมราชวงศ์ พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ โอรสของหม่อมเจ้าถนอม นพวงศ์
หม่อมเจ้าถนอม นพวงศ์ เป็นโอรสของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ (พระองค์เจ้านพวงศ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ประสูติตั้งแต่ก่อนสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงผนวช)
ก่อนทรงได้รับสถาปนา เป็นสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกนิกาย
พ.ศ. ๒๔๘๘ ในรัชกาลที่ ๘ ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์สกลมหาสังฆปรินายก
พ.ศ.๒๔๘๙ ในรัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามสมเด็จพระสังฆราชเจ้า จารึกพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อทรงผนวชเป็นพระองค์เจ้าพระ ในรัชกาลที่ ๕
ทรงเป็นพระราชอุปัชฒาจารย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวช วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙
ทรงดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๘-๒๕๐๑
มีข้อสังเกตอันค่อนข้างประหลาดอยู่ว่าเจ้านายในพระบรมวงศ์ ที่ทรงผนวช และทรงได้รับตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช นั้น ๓ พระองค์ ต่างก็ทรงมีพระนามที่แปลว่า 'นาค' คือ พระองค์เจ้าวาสุกรี พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ (พระองค์นี้ทรงพระนามว่า นาค ตรงๆเลยทีเดียว) และหม่อมเจ้าภุชงค์
สำหรับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นั้น ทรงเล่าไว้ในเรื่อง "พระประวัติตรัสเล่า" ซึ่งทรงลิขิตเองไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘
ทรงเล่าถึงเมื่อพระองค์ประสูติว่า
"ได้ฟังผู้ใหญ่เล่าว่าพอเราประสุตแล้ว อากาศที่กำลังสว่าง มีเมฆตั้ง ฝนตกใหญ่ จนน้ำฝนขังนองชาลาตำหนัก ทูนกระหม่อมของเรา ทรงถือเอานิมิตต์นั้น ว่าแม้นกับคราวที่พระพุทธเจ้าเสดจประทับณะควงไม้ราชายตนพฤกษ์ ฝนตกทั้งสิ้นเจ็ดวัน มุจลินทนาคราช เอาขนดกายเวียนพระองค์ และแผ่พังพานเหนือพระเศียรเพื่อมิให้ฝนตกถูกพระองค์ ครั้นฝนหายแล้ว จึงคลายขนดจำแลงกายเป็นมาณพหนุ่มเข้ามายืนเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ จึงพระราชทานนามเราว่า 'มนุษยนาคมานพ' "
(ตัวสะกดการันต์คัดตามต้นฉบับ)
เรื่อง "พระประวัติตรัสเล่า" นี้ ทรงเล่าเรื่องราวส่วนพระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จนกระทั่งทรงผนวช และทรงได้รับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เมื่อทรงโสกันต์แล้ว ทรงฉลองพระองค์อย่างฝรั่งตามที่นิยมอยู่ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕
ที่ทรงลิขิตไว้นั้น นอกจากเป็นความรู้ต่างๆ ทั้งทางโลกทางธรรมแล้ว ตลอดจนเรื่องราวบางเรื่องของเจ้านายแล้ว ตอนที่ประทับใจที่สุดเป็นตอนที่พระองค์ท่านทรงตัดสินพระทัยว่า จะทรงผนวชไม่สึก ด้วยเหตุผลดังที่ทรงเล่าไว้ดังนี้
"ถึงน่าเข้าพรรษา ล้นเกล้าฯ (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง-จุลลดาฯ) เสดจถวายพุ่มที่วัดนี้ ตามเคยเสดจทรงประเคนพุ่มพระเจ้าน้องยาเธอ ผู้ทรงผนวชใหม่ถึงตำหนักอันเป็นการทรงเยือนด้วย เสดจกุฎีเราทรงประเคนพุ่ม เราเห็นท่านทรงกราบด้วยเคารพอย่างเปนพระ แปลกจากพระอาการที่ทรงแสดงแก่พระภิกษุองค์อื่นเพียงทรงประคองอัญชลี (พนมมือไหว้-จุลลดาฯ) เรานึกสลดใจว่า โดยฐานเปนพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็เปนเจ้าของเรา โดยฐานเนื่องในพระราชวงศ์เดียวกัน ท่านก็เปนพระเชษฐาของเรา โดยฐานเปนผู้แนะราชการพระราชทาน ท่านก็เป็นครูของเรา เหนท่านทรงกราบ แม้จะนึกว่าท่านทรงแสดงเคารพแก่ธงชัยพระอรหัตต่างหาก ก็ยังวางใจไม่ลง ไม่ปรารถนาจะให้เสียความวางพระราชหฤทัยของท่าน ไม่ปรารถนาจะให้ท่านทอดพระเนตรเหนเรา ผู้ที่ท่านทรงกราบแล้วถือเพศเปนคฤหัสถ์อีก ตรงคำที่เขาพูดกันว่า กลัวจัญไรกิน เราจึงตกลงใจว่าจะไม่สึกในเวลานั้น แต่หาได้ทูลท่านไม่ฯ
อ้างอิง : บทความ-สารคดี โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์ นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2752 ปีที่ 53 ประจำวัน อังคาร ที่ 17 กรกฎาคม 2550