สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส : พระประวัติตรัสเล่า (๒)
โพสโดย webmaster เมื่อ September 18 2009 18:27:09



พระประวัติตรัสเล่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(เริ่มทรงพระนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘)

๓. คราวเป็นพระกุมาร

ล้นเกล้าล้นกระหม่อมไม่มีพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเจริญ ท่านทรงใช้พวกเราทั้งชายทั้งหญิง และทรงสนิทสนมเหมือนเดิม เพราะเหตุนี้กระมัง เราจึงได้เลิกเรียนมคธภาษาและไม่ได้อยู่วัดต่อไป ฯ ในพวกผู้ชาย ท่านทรงใช้เรากับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นมาก เมื่อกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงพระเจริญและเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังแล้ว เราสองคนได้ช่องตามเสด็จหัวเมืองเนืองๆ มา ราชการเป็นหน้าที่ประจำตัวเราคือเชิญหีบพระมหาสังข์ตามเสด็จ ในวันสมโภชสามวันและสมโภชเดือนพระเจ้าลูกเธอประสูติใหม่ที่ตำหนักข้างใน เราได้ทำเป็นครั้งที่สุด เมื่อสมโภชเดือนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี ฯ

เราในครั้งนั้นจะเรียกว่าเป็นเด็กไม่ซนทีเดียวดูเหมือนเกินไป แต่เราเคราะห์ดี ในคราวพี่น้องเกิดความออกช่องต่างๆ เผอิญเราติดราชการที่ต้องอยู่ประจำพระองค์บ้าง ไปไม่ทันบ้าง กำลังถูกพี่น้องโกรธไม่เล่นด้วยบ้าง รอดตัวทุกทีไป นี้เพิ่มคะแนนแห่งความดีของเราขึ้นทุกที กรมพระสมมตอมรพันธุ์พื้นของเธอเป็นผู้ไม่ซน แต่เคราะห์ร้ายมักพลอยถูกด้วย ฯ อีกอย่างหนึ่งเรารู้จักระวังตัว การอย่างใดยังไม่เห็นมีผู้ทำ หรือผู้ทำยังไม่เป็นที่วางใจได้ว่าจะไม่เกิดความ เราไม่ทำการอย่างนั้น ฯ ครั้งแรกแต่งตัวใช้เสื้ออย่างฝรั่งขึ้นใหม่ พวกผู้ชาย เรากับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ได้รับพระราชทานเครื่องแต่งตัวก่อน ฯ

ในคราวเสด็จประพาสเมืองต่างประเทศ เราไม่ได้ตามเสด็จ ได้กลับไปอยู่ตำหนักเสด็จป้ากรมหลวงวรเสรฐสุดาเป็นคราวๆ เรียนหนังสือไทย หัดอ่านโคลงและกลบทต่างๆบ้าง เรียนเลขอย่างไทยบ้าง เรียนดูดาวบ้าง ฯ แปลกอยู่ เสด็จป้าของเราได้รับความฝึกหัดในวิชาของผู้ชายเป็นพื้น ศิลปะของผู้หญิงเช่นเย็บ ปัก ถัก ร้อย ทำอาหาร ที่สุดจนเจียนหมากจีบพลู เรายังไม่เคยเห็นท่านทำเองเลย เขาว่าท่านทำไม่เป็นด้วย ถึงคราวสมโภชพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาปีใหม่ ท่านทรงรับทำตาข่ายดอกไม้สดแขวนบุษบกพระครั้งนั้น ๕ ที่ คนร้อยดอกไม้เต็มหอกลางตำหนัก เราก็ได้เข้าหัดร้อยแต่จำไม่ได้ว่าท่านได้ร้อยด้วย และความนิยมของท่าน ก็ไม่เป็นไปในสิ่งที่ผู้หญิงชอบ มีดอกไม้เป็นต้น ทรงนิยมในทางทรงหนังสือธรรม ตำนาน และเรื่องของจินตกวี ฯ

ท่านประพฤติพระองค์เป็นหลักไม่หยุมหยิม ที่เราดูหมิ่นท่านไม่ได้ แต่คนอื่นเขาว่าท่านดุ เราเห็นท่านเพียงเฉียบขาด แปลกอีกอย่างหนึ่ง ไม่เคยเห็นท่านทรงพระสรวลจนเอาไว้ไม่ไอยู่ หรือแสดงเสียพระหฤทัยจนวิการ เขาเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถ ผู้ทรงเมตตาท่านมากสวรรคต ท่านมิได้ทรงกันแสง เราได้เห็นเมื่อครั้งคุณยายสมศักดิ์ถึงอสัญกรรม ท่านไม่ได้ทรงกันแสง แต่คุณยายสมศักดิ์แก่แล้วอายุถึง ๗๕ ก็พอจะกลั้นอยู่ เมื่อน้องหญิงบันจบเบญจมาสิ้นพระชนม์ เธอเป็นผู้ที่ท่านเลี้ยงมาจนสิ้นพระชนม์จากไป ท่านก็กลั้นได้ไม่ทรงกันแสง แต่พระอาการเศร้าโศกปรากฏมี เห็นอะไรของน้อง ไม่สบายพระหฤทัยเป็นต้น ดูท่านสมสมกับคุณยายสมศักดิ์เจ้าจอมมารดาของท่านจริงๆ เขาสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างๆ บางทีท่านจะได้อย่างมาไม่มากก็น้อย ได้รับเลี้ยงดูและฝึกหัดในสำนักอาจารย์เช่นนี้ เป็นลาภเป็นเกียรติของเราฯ

เริ่มที่ล้นเกล้าฯ จะทรงทำนุบำรุงพวกเราให้ได้ความรู้ ทรงตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษขึ้นที่ตึกแถวริมประตูพิมานไชยศรีด้านขวามือหันหน้าออก มีนายฟรานสิสยอช แปตเตอสันเป็นครูสอน อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ครั้งยังเป็นนายราชาณัตยานุหารว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ เช้าสอนเจ้านายพวกเรากับหม่อมเจ้าบ้าง บ่ายสอนข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เราได้เข้าเรียนมาตั้งแต่เปิดโรงเรียน ครั้งนั้นเราอายุราว ๑๒ ปี ฯ ครูพูดไทยไม่ได้ สอนอย่างฝรั่งเจี๊ยบ หนังสือเรียนใช้แบบฝรั่ง ที่สุดจนแผนที่ก็ใช้แผนที่ยุโรปสำหรับสอน เรารู้จักแผนที่ของเมืองฝรั่งก่อนของเมืองไทยเราเอง หัดพูดหัดอ่านแนะให้เข้าใจความเอาเอง ไม่ได้หัดให้แปล แต่พวกเราก็พยายามเข้าใจความได้ถึงพงศาวดารอังกฤษ สิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้คือไวยากรณ์ คิดเลขก็ใช้มาตราอังกฤษ แต่เราทำเลขไทยเป็นมาแล้ว เราคงรู้จักมาตราไทยมาก่อน แต่ผู้อื่นที่รู้จักมาตราอังกฤษก่อนมีบ้างกระมัง ฯ

แต่ความรู้เหล่านี้มาช่วยเราเมื่อโตแล้ว ให้รู้จักเอามาใช้ในทางข้างไทยเรา ด้วยไม่พักต้องเรียนใหม่ เราได้รู้นิสัยของฝรั่งจากหนังสือเรียน ดีกว่าเรียนแบบที่เขาจัดสำหรับคนไทยในภายหลัง เป็นการเหมาะแก่เราผู้ไม่มีช่องจะได้ไปเรียนที่เมืองฝรั่ง ถ้าเวลานั้นเป็นโอกาสเหมือนในชั้นหลัง เราคงจะได้รับพระมหากรุณาโปรดให้ออกไปเรียนด้วยผู้หนึ่ง เป็นลาภของกรมหลวงสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ พระองค์แรกผู้ได้สบโอกาสนี้ ฯ นอกจากนี้เรายังได้รับคำแนะนำในการบ้านเมืองอีกที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ทางเมืองฝรั่ง และเป็นเวลาเกิดเหตุการณ์เนืองๆ เป็นต้นว่าเยอรมันตีเมืองฝรั่งเศสได้ ราชาธิปไตยฝรั่งเศสล่มกลายเป็นประชาธิปไตย เรากระหยิ่มใจว่าเราได้ความรู้ดีกว่านักเรียนชั้นหลัง ที่เรียนเฉพาะในเมืองไทยที่เราได้เคยพบ ฯ

ครูของเราแกเป็นฝรั่ง แกตั้งตัวแกเป็นครูเต็มที่ พวกเราต้องรู้จักฟังบังคับ ได้คุณสมบัติเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง แต่เฉพาะเรา คุณครูนกทำพื้นมาดีแล้ว ไม่พักลำบาก เรากับกรมพระดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ที่ครูชอบใจ เอาไว้กินอาหารกลางวันด้วยกัน แล้วให้เรียนเวลาบ่ายอีกด้วย ครูชักนำให้รู้จักฝรั่งอื่นผู้เป็นเพื่อน ฯ ผลที่ได้จากการเรียนภาษาอังกฤษนอกจากกล่าวแล้ว เขียนหนังสือและแต่งหนังสือเป็น ในการเรียนต้องหัดลายมือและเขียนตามคำบอก พวกเราที่ร่านเอามาใช้ในภาษาไทย เขียนจดหมายถึงกันและกันบ้าง แปลเรื่องฝรั่งบ้าง จดบันทึกเรื่องอย่างอื่นบ้าง เขยิบขึ้นไปตามอายุ จนถึงแต่งจดหมายเหตุราชการ ที่ได้รับพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำในทางราชการโดยลำดับมา ฯ

นิสัยของพวกเรา เห็นใครเขาทำอะไร พอใจจะทำบ้าง นี้เป็นเหตุให้ได้ความรู้จิปาถะ แม้ไม่ได้เรียนเป็นล่ำสัน ความรู้เช่นนี้ก็เป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน เมื่อโตขึ้น ฯ สิ่งที่ขัน ในพระวินัยกล่าวถึงเรื่องชนิดแห่งดอกไม่ร้อยที่ห้ามไม่ให้ภิกษุทำ พระอรรถกถาจารย์ไม่เข้าใจเสียเลีย แก้ถลากไถลไป เจ้าคุณอมราภิรักขิต (เกิด) วัดบรมนิวาส ผู้รจนาบุพพสิกขาวัณณนาก็อีกแล ไม่เข้าใจเหมือนกัน เราพบก็เข้าใจ เช่นดอกไม้ร้อยชนิดที่เรียกว่า "ปูริมํ" แปลตามพยัญชนะว่า "ของที่ทำให้เต็ม" โดยความว่า "ของที่ทำให้เป็นวง" พระอรรถกถาจารย์แก้ว่า เอาตาข่ายวงธรรมาสน์ให้รอบเป็นอาบัติ วงไม่ทันรอบส่งให้ภิกษุอื่นทำต่อได้ อันที่จริง "ปูริมํ" นั้นได้แก่พวงมาลัย ที่ร้อยสวมดอกไม่ก็ตาม แทงก้านก็ตาม แล้วเอาปลายเงื่อนทั้งสองผูกบรรจบเข้าเป็นวง นั่นเองที่ห้ามไม่ให้ภิกษุทำ ฯ

เมื่อเราอายุได้ ๑๓ ปี ล้นเกล้าฯ โปรดให้ตั้งพิธีโสกันต์เรากับเจ้าน้องอีก ๔ พระองค์ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ฯ เราเป็นต้น กรมพระสมมตอมรพันธุ์เป็นที่ ๒ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เป็นที่ ๓ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาเป็นที่ ๔ น้องหญิงนงคราญอุดมดีเป็นสุดท้าย ฯ ๔ ข้างต้นอายุ ๑๓ ที่สุด ๑๑ ฯ ฟังสวด ๓ วัน โสกันต์วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ ตรงวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๕ ฯ

เป็นประเพณีที่ถือกันมาในวงศ์ของทูลกระหม่อม ตามพระดำรัสห้ามของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัยยิกาของเรา ว่าพระชันษายังไม่ถึง ๓๐ ห้ามไม่ให้ตัดจุก ฯ นี้มาสมเข้ากับธรรมเนียมในพระวินัยว่า มีพรรษายังไม่ครบ ๑๐ (ที่นับอายุว่า ๓๐) ห้ามมิให้เป็นอุปัชฌายะ และธรรมเนียมข้างวัดอังกฤษว่า ผู้จะเป็นบิชอบคือเจ้าคณะ ต้องมีอายุได้ ๓๐ แล้ว ฯ ตามธรรมเนียมนี้ คงถือว่าคนที่จัดว่าเป็นผู้ใหญ่แท้ อายุถึง ๓๐ แล้ว ฯ ล้นเกล้าฯ พระชนม์ยังไม่ถึง ๓๐ จึงยังไม่ทรงตัดจุก เป็นแต่พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ แล้วโปรดให้เจ้านายผู้ใหญ่ ที่เราจำได้ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงตัด ฯ




สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญรอด)

พระฉายาสาทิสลักษณ์ที่จิตรกรวาดขึ้นจากเค้าพระพักตร์ พระราชโอรสธิดา ผสมผสานจินตนาการ


คราวเราโสกันต์ ฤกษ์เช้าย่ำรุ่งแล้ว เสด็จอาผู้เคยทรงตัดเสด็จมาไม่ทันสักพระองค์ โปรดให้กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์พระเจ้าบวรวงศ์เธอครั้งนั้น ที่เปลี่ยนมาเป็นพระเจ้าราชวงศ์เธอครั้งนี้ ชั้นที่ ๒ ทรงตัดพระองค์เดียว ท่านตัดเรา กรมพระสมมตอมรพันธุ์ และพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์แล้ว กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ และสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงเสด็จมา ทันตัดกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาและน้องหญิงนงคราญอุดมดี ฯ กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ทรงตัดเจ็บมาก บางทีจะเป็นเพราะกรรไกรดื้อ แต่ความรู้สึกว่าไม่เทียมหน้าพี่น้องผู้โสกันต์ไปแล้ว นำให้โทษว่าท่านทรงตัดไม่เป็น เราไม่เคยเห็นท่านทรงตัดที่ในวัง เราก็สำคัญว่าท่านไม่เคย แต่โดยที่แท้ท่านคงเคยในที่อื่นมามากแล้ว ฯ

ครั้งนั้นมีแห่กระบวนน้อยทางข้างใน มีรายการแจ้งในโคลงวิวิธมาลีโสกันต์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ นั้นแล้ว แต่รายการที่กล่าวถึงในโคลงนั้น โสกันต์คราวปีมะแม ก่อนนี้ปีหนึ่ง ฯ แห่อย่างนี้จัดขึ้นคราวแรกเมื่อปีมะเมีย ครั้งโสกันต์เจ้าพี่กาพย์กระนกรัตน์ และกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ เปรียบกับแห่โสกันต์ทางนอกครั้งรัชกาลที่ ๔ แปลกกันมาก แต่หากจะโปรดให้มีแห่เหมือนอย่างนั้น ก็คงไม่ครึกครื้นเหมือน เพราะผิดเวลาใครเขาจะมาเอาใจใส่จอดอยู่ด้วย ทั้งท่านผู้ออกงานก็จะหานางสะและข้าหลวงหญิงชายตามไม่ได้ง่าย และการโสกันต์ยังจะมีติดกันไปทุกปีอย่างไรก็ต้องกร่อย จะให้ลำบากแก่คนมากและเปลืองเงินมากเพื่ออะไร ล้นเกล้าฯ ทรงเลิกแห่นอกเสียนั้นสมควรแท้ ได้รู้มาว่า ครั้งรัชกาลที่ ๓ พระเจ้าน้องเธอ พระเจ้าลูกเธอ โสกันต์ในพิธีตรุษเป็นพื้น มีแห่เฉพาะบางครั้ง พระเจ้าลูกเธอดูเหมือนไม่ได้แห่เลย เทียบกับครั้งนั้นก็ยังได้ออกหน้ากว่า ต่อมาถึงคราวพระเจ้าลูกเธอโสกันต์ โปรดให้แห่ทางในโดยมาก เห็นพระราชนิยมชัด ฯ เป็นธรรมเนียมของเจ้านายผู้ชายจะออกจากพระบรมมหาราชวังชั้นใน ต่อเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร เราโสกันต์แล้วจึงยังอยู่ในวังต่อมา ฯ

อายุเราได้ ๑๔ ปี ถึงกาลกำหนดบรรพชา แต่ปีนั้นเดือนเจ็ดต่อกับเดือนแปดเกิดโรคป่วงชุกชุม ที่ห่างมานานตั้งแต่ปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ พรือ พ.ศ. ๒๓๙๓ มีพระราชดำรัสสั่งให้เลื่อนไปบวชต่อเมื่อเดือนเก้า ฯ ในเวลานั้นยังว่าขาดนาคเป็นทำนอง ต้องหัดกันแต่เนิ่นลำบากไม่ใช่น้อย พระราชครูมหินธร (ชู) ครั้งยังเป็นหลวงญาณภิรมย์นายด่านกรมราชบัณฑิต มีหน้าที่เป็นผู้หัด แกเห็นจะเป็นนักร้องดีกระมัง แต่เราทนแกไม่ไหว ว่าอย่างไรแกก็ติตะบึงไปว่าไม่ถูกๆ จนไม่รู้จะว่าอย่างไร เลยร้องไห้ฉุนแกขึ้นมาบ้าง ไม่ยอมหัดกับแกอีก นิสัยของแกคงชอบยั่วให้ศิษย์เจ็บใจและมีอุตสาหะทำให้ได้ ส่วนนิสัยของเราชอบปลอบชอบพูดเอาใจ ต่างกันเช่นนี้ อาจารย์เปี่ยมของเราเคยสอนมคธภาษามาก่อน แกคงรู้ดี แกรับหัดสำเร็จ ฯ มีการทรงผนวชสมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยวันหนึ่ง ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนเก้า ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ ตรงวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ พร้อมด้วยกรมพระสมมตอมรพันธุ์ และกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งยังเป็นกรมมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เป็นพระอุปัชฌายะ หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดาเป็นผู้ประทานสรณะและศีลแก่เรา เป็นคราวแรกที่เราได้เข้าในที่ประชุมสงฆ์ ทั้งขานนาคมีบทที่ยืนว่า คืออุกาสะด้วย ประหม่าเป็นอย่างใหญ่ จนถึงตัวสั่นเสียงสั่น ฯ พวกเราผนวชเณรแปลกจากธรรมเนียมสามัญ ครองผ้ามีสังฆาฏิและขอนิสัยด้วย ฯ การทรงผนวชพวกเรา ไม่มีแห่เหมือนครั้งแผ่นดินทูลกระหม่อม ขึ้นเสลี่ยงกั้นกลดเท่านั้น พวกผู้หญิงไม่ค่อยรู้สึกเหมือนโสกันต์ ฯ

บวชแล้วมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารทั้งสามองค์ ล้นเกล้าฯ เสด็จส่งด้วยหรือไม่ จำไม่ได้ ถ้าไม่ได้เสด็จก็มีรถหลวงส่ง ฯ ที่วัดมีกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ และกรมขุนสิริธัชสังกาศ ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ รวมพวกเราเข้าด้วย ในพรรษานั้นจึงมีพระองค์เจ้าสามเณร ๕ พระองค์ เกือบเท่าครั้งปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่ทีถึงเจ็ดพระองคืเจ้า ฯ เราอยู่ตำหนักเดียวกับกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ หลังที่เรียกว่าโรงพิมพ์ ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะเมื่อครั้งทูลกระหม่อมยังทรงผนวชเป็นที่ตีพิมพ์หนังสืออริยกะ ทูลกระหม่อมได้เคยประทับกลางวันครั้งรื้อท้องพระโรงสร้างตำหนักเดิมเดี๋ยวนี้ ฯ เวลาหัวค่ำขึ้นฟังสั่งสอนที่เสด็จพระอุปัชฌายะ ท่านทรงสั่งสอนด้วยศีลและวัตรของสามเณร ฟังเข้าใจได้ ฯ ครั้งนั้นยังมีบิณฑบาตเวร คือจัดพระสงฆ์ในพระอารามหลวงให้ผลัดกันเข้าไปรับบัณฑบาตในพระบรมมหาราชวังชั้นใน วันพฤหัสบดีเป็นเวรของพระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารและวัดธรรมยุตอื่น ถึงกำหนดเราเข้าไปบิณฑบาต ใช้เสลี่ยงไปจากวัด ลงเดินที่ในวัง พวกเณรธรรมยุตก็ใช้ห่มดองคาดประคตอกสะพายบาตร เหมือนเณรมหานิกาย แต่ในที่อื่นแม้เมื่อเข้าไปหรือกลับออกมาแล้ว ก็ห่มคลุม เข้าทางประตูดุสิตศาสดา ที่เป็นทางข้างในออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระองค์เจ้าออกทางประตูสนามราชกิจ ที่เรียกว่าประตูย่ำค่ำ หม่อมเจ้าได้ยินว่าออกประตูอนงค์ลีลา หรืออะไรที่ออกฉนวชตำหนักน้ำท่าราชวรดิฐ พระสามัญออกประตูยาตราสัตรี ที่เรียกว่าประตูดิน ฯ

ประโยชน์ที่ได้จากการบวชเณร หัดประพฤติตัวกวดขันกว่าก่อน เริ่มรู้จักเพื่อจะทรงตัวเอง และรู้จักเพื่อจะอ่อนน้อมผู้อื่นตามภาวะของเขา ฯ เราแม้ไม่ใช่เด็กซุกซนจัด แม้ได้รับฝึกหัดในทางมรรยาทมาบ้างแล้ว แต่ไม่กวดขันเหมือนในเวลาบวช หรือได้รับฝึกหัดไปทีละอย่างโดยไม่รู้ตัว มาบวชได้รับสั่งสอนประดังกันวันละหลายอย่าง ทั้งเป็นมรรยาทที่แปลกออกไปก็มี จึงรู้สึกว่ากวดขัน ฯ เราเป็นเด็กที่ร่านอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้นยังต้องอาศัยผู้ใหญ่ทำให้หลายประการ ตั้งแต่แต่งตัวเป็นต้นไป มาบวชเป็นเณรจะต้องทำสำหรับตัวเองเป็นพื้น ตั้งแต่ครองผ้าเป็นต้นไป ฯ คฤหัสผู้ใหญ่ ที่มิใช่เจ้าเขาอ่อนน้อมแก่พวกเรา ที่สุดอาจารย์เปี่ยมของเรา แกก็ทำอย่างนั้น แต่พวกพระที่สุดสามเณรด้วยกัน ผู้บวชก่อน ท่านไม่ลงให้เราอย่างนั้น ท่านลงพอเป็นทีตามความนิยมของบ้านเมืองเท่านั้น เราก็ต้องลงบางประการ ฯ

เมื่อจวนออกพรรษา ล้นเกล้าฯ ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับที่พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม เสด็จพระอุปัชฌายะเสด็จเข้าไปอยู่เป็นเพื่อน พระเถรานุเถระอื่นผลัดกันเข้าไปอยู่ ฯ พวกเรา ๕ องค์ได้เข้าไปสมทบทำวัตรสวดมนต์และบิณฑบาต แต่ไม่ได้อยู่รับใช้ คงเป็นเพราะพระภิกษุใหม่มีสามเณรไว้อุปถากไม่ควร ฯ บิณฑบาตห่มคลุม อุ้มบาตร เหมือนอย่างนอกวัง ในบริเวณพระที่นั่งภานุมาสจำรูญองค์เดิม ที่พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์เข้าไปรับครั้งทูลกระหม่อม ฯ ยังไม่ได้บวชก็ร่านจะบวช จะได้ออกจากวัง ดูค่อยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้น ครั้นบวชแล้วจวนออกพรรษาก็อยากสึก จะได้เที่ยวไปไหนๆ เหมือนปลาต้องการออกไปหาน้ำลึก แต่ไม่รู้ว่าอันตรายมีอย่างไร นอกจากนี้ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์จะทรงลาผนวชเมื่อคราวออกพรรษานั้นด้วย ชวนให้เราอยากสึกขึ้นอีกมาก ฯ

เป็นประเพณีของเจ้านายผู้ทรงผนวชจะหัดเทศน์มหาชาติ เพื่อถวายในฤดู แต่เราเข็ดพระราชครูมหิธรมาแล้วครั้งหัดขานนาค จึงไม่ขอหัด และไม่ได้ถวาย รีบชิงสึกเสียก่อน เพื่อมิใช่ออกช่อง ฯ เราบวชเป็นสามเณรอยู่ ๗๘ วัน สึกเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนสิบสอง ขึ้นสามค่ำ ปีนั้น ตรงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ไม่มีพิธีหลวง จัดเอาเอง สึกแล้วไปอยู่วังกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ตามลำพัง ยายออกมาอยู่ที่นั่น อยู่เรือนเดียวกับยาย แต่คนละห้อง ภายหลังจึงออกมาอยู่ที่ปั้นหยาริมประตูวัง เมื่อกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์เสด็จขึ้นอยู่บนตำหนักใหญ่แล้ว ฯ

อ้างอิง : รัตนโกสินทร์ ๒๒๕ และ พระประวัติตรัสเล่า ๑ ในหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน และ หนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

หมายเหตุ หนังสือ พระประวัติตรัสเล่า เป็น พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส(เริ่มทรงพระนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ )หนังสือเล่มนี้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ใน "โครงการคัดเลือกหนังสือดี ๑๐๐ ปี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน" ประเภท "ศาสนาและปรัชญา" เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑

พระประวัติตรัสเล่าเล่มนี้ ทรงนิพนธ์ไว้เพื่อทรงสอนศิษย์ให้ละชั่วและประพฤติดี ทรงแสดงถึงเหตุชั่วและเหตุดี ที่ทรงประสพมาแล้วโดยยกพระองค์ขึ้นเป็นนิทัสนอุทาหรณ์ประทานโอวาทแก่ศิษยานุศิษย์ปรากฏในหนังสือตลอดทั้งเล่ม ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางประพฤติปฏิบัติมา นอกจากนี้ยังทรงเล่าถึงระเบียบการ ราชประเพณี ขนบธรรมเนียมของเจ้านายและเหตุการณ์ทั่วไปๆ ไปของบ้านเมืองทรงเทียบเคียงประเพณีของเจ้านายกับประเพณีทางพระพุทธศาสนาเป็นต้น เมื่อพูดถึงราชาศัพท์แล้ว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่อำนวยประโยชน์ทั้งทางด้านจารีตประเพณี ด้านประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์และความรู้ทั่วไป

หนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" นี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ไว้ ตามลายพระหัตถ์ที่เป็นต้นฉบับว่า "เริ่มทรงนิพนธ์ไว้ ตามลายพระหัตถ์ที่เป็นต้นฉบับว่า "เริ่มทรงนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๕๘" เป็นปีที่ ๕๖ แห่งพระชนมายุ พระองค์ทรงเล่าตั้งแต่ประสูติจนถึงทรงรับพระสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่นฯและเป็นพระราชาคณะ คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๓ ถึง พ.ศ.๒๔๒๔ รวม ๒๒ ปี คือทรงนิพนธ์ไว้เพียงพระชนมายุ ๒๒ ปีเท่านั้น หลังจากนั้นมาจนถึง พ.ศ.๒๔๖๔ ซึ่งเป็นปีสิ้นพระชนม์อีก ๔๑ ปี ไม่ได้ทรงนิพนธ์ไว้

การจัดพิมพ์ หนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" เล่มนี้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ในงานเสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกมนุษยนาควิทยาทาน ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๙๔ และพิมพ์ครั้งนี้เป้นครั้งที่ ๓ ซึ่งจัดพิมพ์และจำหน่ายโดย มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หนังสือเล่มนี้มีขนาด ๒๑ x ๒๙.๕๐ เซนติเมตร ความหนา ๑๒๐ หน้า พิมพ์สี่สี มีภาพเก่าหายากมากถึง ๑๐๕ ภาพ ประกอบตลอดทั้งเล่ม