ตำนานการแปลพระปริยัติธรรม ในรัชกาลที่ ๕
โพสโดย webmaster เมื่อ September 18 2009 18:34:08
ตำนานการแปลพระปริยัติธรรม ในรัชกาลที่ ๕


ก่อนที่จะกล่าวถึงการแปลพระปริยัติธรรมในมหามกุฎราชวิทยาลัย จะต้องอธิบายถึงวิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเก่าเสียก่อน เพื่อจะได้ทราบลักษณะการว่าวิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเก่า กับวิธีแปลพระปริยัติธรรมในมหามกุฎราชวิทยาลัยผิดกันอย่างไร วิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเก่าในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ เป็นมาดังนี้

ครั้งที่ ๑ แปลพระปริยัติธรรมที่พระมหาปราสาท เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ ชั้นนักเรียนที่แปลธรรมบทกำหนดให้แปลหนังสือ ๓ ลาน คือ ๓๐ บรรทัด ชั้นนักเรียนที่แปลประโยคสูงตั้งแต่ประโยค ๔ ขึ้นไปแปล ๒ ลาน คือ ๒๐ บรรทัด ประโยค ๙ คงแปล ๑๐ บรรทัดตามเดิม กำหนดนักเรียนที่เข้าแปลวันละ ๕ รูป ลงมือแปลแต่เวลาราวบ่าย ๑๕.๐๐ นาฬิกาไปจนเวลามืดก็จุดเทียนสัญญาณที่ตั้งไว้ในสนาม พอเทียนหมดเป็นเลิกการสอบพระปริยัติธรรมในวันนั้น ถ้ายังมีพระภิกษุสามเณรแปลค้างอยู่กี่รูปก็ตกหมด วิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมนี้ เฉพาะนักเรียนที่แปลชั้นธรรมบทมีความลำบากอยู่อย่างหนึ่ง คือถ้าแปลได้ประโยค ๑ ตกประโยค ๒ หรือแปลประโยค ๒ ได้ ตกประโยค ๓ ถึงคราวหน้าต้องตั้งต้นแปลประโยค ๑ ไปใหม่ ต้องแปลให้ได้ ๓ ประโยคในคราวเดียว จึงนับเป็นได้เป็นดังนี้ ตลอดมาจนถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ แปลพระปริยัติธรรมที่พระอุโบสถวัดสุทัศน์ฯ ครั้งที่ ๑๑ จึงยอมให้แปลประโยคไหนได้แล้วก็เป็นได้ ไว้ตามมหามกุฎราชวิทยาลัย ถึงคราวหน้าก็แปลต่อประโยคที่ได้ไว้แล้วทีเดียว วิธีนี้ใช้มาจนสิ้นรัชกาลที่ ๕

คราวที่ ๒ แปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ คราวนี้ชั้นนักเรียนที่แปลธรรมบทลดหนังสือลง ๑๐ บรรทัด คงให้แปลแต่ ๒๐ บรรทัด เป็นจบประโยค ด้วยเห็นว่าแปลทางบรรทัดนั้นยาวนัก ถ้าสอบอย่างกวดขันนักเรียนไม่ใคร่สามารถจะแปลให้จบประโยคได้ทันกำหนดเวลา

คราวที่ ๓ แปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เมื่อปีมะเมียพ.ศ. ๒๔๒๕ คราวนี้กำหนดเวลาในตอนต้นๆ ยังใช้เทียนสัญญาณตามแบบเดิม แต่ตกมาในตอนปลายเปลี่ยนเป็นใช้นาฬิกาแทน เห็นจะเป็นเพราะเหตุที่ใช้เทียนสัญญาณนั้น มักเกิดลำบากแก่ผู้แปลและผู้ไล่เนืองๆ ที่ลำบากแก่ผู้แปลนั้น คือในวันที่มีพระภิกษุสามเณรแปลค้างอยู่จนค่ำหลายรูปด้วยกัน บางรูปจวนจบประโยค แต่บางรูปแปลหนังสือไปได้น้อย รูปที่ยังแปลได้น้อยก็ตั้งหน้าพยายามจะแปลให้จบประโยคก่อนเทียนหมด ฝ่ายรูปที่แปลได้มากก็ไม่มีโอกาสจะเข้าไปแปลได้ จนเทียนหมดก็พากันตกทั้งหมด ดังนี้มีเนืองๆ ผู้แปลต้องผ่อนผันกันเอง บางทีถ้าเกิดคั่งกันเช่นว่า นักเรียนที่ใจอารีต้องยอมหนีเสีย ให้เพื่อนกันได้โอกาสจึงแปลได้จบประโยค

แต่บางทีก็เกิดลำบากตรงกันข้าม เช่นวันใดนักเรียนที่เข้าแปล แปลจบไปเสียบ้าง หนีไปเสียบ้าง เหลืออยู่จนเวลาค่ำแต่ผู้ที่แปลปลกเปลี้ยรูปเดียว จะแปลให้จบก็ติดแปลไปไม่ได้ จะออกแก้ไขตริตรองก็ไม่ได้ด้วยไม่มีตัวเปลี่ยน ถ้าผู้แปลไม่หนี ผู้ไล่ก็เลิกไม่ได้ ด้วยเทียนยังไม่หมด บางทีในวันนั้นต้องเสียเวลาเปล่านานๆ ทีเดียว จึงเลิกวิธีใช้เทียนสัญญาณ เปลี่ยนเป็นใช้นาฬิกาแทน กำหนดเวลาให้แก่นักเรียนแปลพระธรรมบทรูปละ ๙๐ นาทีเสมอกันทุกรูป แต่บางครามกรรมการเห็นว่าหนังสือที่แปลนั้นยาก เพิ่มเวลาให้อีก ๓๐ นาทีเป็นพิเศษก็มีบ้าง

คราวที่ ๔ แปลพระปริยัติธรรมที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ คราวนี้ชั้นนักเรียนที่แปลธรรมบทแยกเป็น ๒ กอง เรียกว่า กองขวากอง ๑ กองซ้ายกอง ๑ ผู้แปลต้องจับฉลากกอง แต่จับฉลากเมื่อแปลประโยค ๑ คราวเดียว ประโยค ๒ – ๓ ก็เวียนไปไม่ต้องจับ คือ ถ้าประโยค ๑ ถูกกองขวา ประโยค ๒ ก็ต้องเวียนไปกองซ้าย ประโยค ๓ กลับมาแปลกองขวาอีก ต่อถึงตอนแปลประโยคสูงตั้งแต่ ๔ ขึ้นไป จึงรวมเป็นกองเดียวตามแบบเดิม

คราวที่ ๕ แปลพระปริยัติธรรมที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ คราวนี้เพิ่มนักเรียนชั้นแปลธรรมบทขึ้นอีกวันละ ๓ รูป แบ่งแปลในกองขาว ๔ รูป กองซ้าย ๔ รูป คงจับฉลากกองอย่างคราวที่ ๔ ต่อประโยค ๔ ขึ้นไปจึงรวมเป็นกองเดียว แปลวัน ๕ รูปตามเดิม

วิธีแปลพระปริยัติธรรมในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ก่อนตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัยรวม ๕ คราว เป็นดังกล่าวมานี้

ครั้นถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสถานที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานนามศึกษาสถานนั้นว่า “มหามกุฎราชวิทยาลัย” ทรงพระราชอุทิศในพระบรมนามาภิไธยแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้ทรงประดิษฐานและทำนุบำรุงธรรมยุตินิกายมาแต่ก่อน มีคำปรารภการตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย และการจัดระเบียบการศึกษา และระเบียบการสอบพระปริยัติธรรม พิมพ์ไว้ในหนังสือธรรมจักษุ ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ซึ่งได้คัดมาลงไว้ดังต่อไป


การตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย

พระพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระบรมศาสดาของเราทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกแล้ว ทรงแนะนำสั่งสอนประชุมชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ให้ได้ดวงตาคือปัญญาเห็นสิ่งผิดสิ่งชอบแล้ว ปฏิบัติเว้นสิ่งที่ผิดเสีย ดำเนินในสิ่งที่ชอบด้วยกายวาจาใจ ได้บรรลุประโยชน์ทั้งสามคือประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ภายภาคหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพานซึ่งเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวงแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดุจดวงอาทิตย์อันอุทัยส่องโสลกให้ชัชวาลแล้วอัสดงคตแล้ว ฉะนั้น ช้านานประมาณได้ถึง ๒๔๓๗ ปีเศษแล้ว ยังได้นำสืบๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ แม้เราทั้งหลายที่เกิดในภายหลัง ยังได้ยินได้ศึกษาได้รู้ได้ปฏิบัติตาม ทราบความผิดและชอบ ก็เพราะท่านแต่ปางก่อนได้สั่งสอนกันเป็นลำดับสืบมา

จึงควรเห็นว่าการเล่าเรียนศึกษาพระคัมภีร์ เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนา สามารถจะนำพระพุทธศาสนาให้เป็นไปนานได้ เมื่อยังมีผู้ศึกษาเข้าใจแล้วปฏิบัติตามอยู่เพียงใด พระพุทธศาสนาก็ยังเป็นอยู่เพียงนั้น แม้ถึงพระพุทธเจ้า เมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า อานนท์สักหน่อยท่านทั้งหลายจะคิดว่าศาสนามีพระศาสดาล่วงไปแล้ว บัดนี้พระศาสดาของเราทั้งหลายไม่มี ดังนี้ ข้อนี้ ท่านทั้งหลายไม่ควรเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใดที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น เมื่อเราล่วงไปแล้ว จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย ดังนี้ การเล่าเรียนคัมภีร์ของภิกษุสามเณรจึงเป็นธุระสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรจะทำนุบำรุงให้เจริญ

อีกประการหนึ่ง เหล่าชนที่นับถือพระพุทธศาสนา แม้ถึงมีมาก แต่จะหาผู้ที่เข้าใจชัดเจนในศาสนาที่ตนนับถืออยู่ได้โดยยากยิ่งนัก เพราะไม่ค่อยจะมีหนังสือแสดงคำสั่งสอน ซึ่งเป็นเครื่องจะชักนำให้เข้าใจชัดเจนดีเหมือนหนังสือสอนศาสนาอื่นๆ จะเข้าใจชัดเจนดีก็แต่ผู้ที่มีกำลังที่จะสะสมหนังสือไว้อ่านได้ กับคนที่ได้ไปมาหาสู่สนทนากับท่านผู้รู้และฟังธรรมเทศนาในวัดนั้นๆ คนสามัญนอกจากนี้ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจให้ชัดเจนได้ เป็นแต่นับถือไปตามกันเท่านั้น การแนะนำสั่งสอนประชุมชน ให้เข้าใจพุทธศาสนาชัดเจนจึงเป็นธุระสำคัญที่ควรจะเอาใจใส่

อีกประการหนึ่ง เป็นธรรมเนียมมาในประเทศของเราว่า วัดเป็นที่เล่าเรียนศึกษาวิชาหนังสือไทย และเลขของเด็กชาวเมืองทั้งหลาย บิดามารดาญาติผู้ใหญ่ของเด็ก เมื่อเห็นเด็กมีอายุสมควรเรียนหนังสือและเลขได้แล้ว ก็พาไปฝากพระในวัดนั้นๆ เพื่อให้ฝึกสอน แต่การฝึกสอนนั้น ต่างครูต่างอาจารย์กัน ถ้าครูที่เข้าใจในการฝึกสอนและเอาใจใส่ ทั้งเด็กก็เป็นเด็กฉลาดมีอุตสาหะก็เรียนรู้ได้ดี ถ้าครูไม่ฉลาดในการสอน หรือไม่เอาใจใส่ก็ดี เด็กเป็นคนโง่หรือเกียจคร้านก็ดี ก็รู้ไม่ได้ดี ข้อนี้ควรจัดการฝึกสอนเด็กชาวเมืองให้เป็นหลักฐาน เด็กทั้งหลายจะได้มีความรู้ดี ตามสมควรแก่ปัญญาและอุตสาหะของตน

เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ทั้งสามที่กล่าวมานี้ สำเร็จบริบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นผู้บำรุงพระพุทธศาสนา ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นที่วัดนิเวศวิหาร พระราชทานนามศึกษาสถานนั้นว่า มหามกุฎราชวิทยาลัย ทรงพระราชอุทิศในพระบรมนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าสยาม สมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐานและทำนุบำรุงธรรมยุติกนิกายมาแต่ก่อน และทรงบริจาคพระราชทานทรัพย์สำหรับบำรุงวิทยาลัยให้เป็นไปด้วย

พระเถระในธรรมยุติกนิกาย ได้เปิดมหามกุฎราชวิทยาลัย ให้เป็นที่ศึกษาของภิกษุสามเณรในคณะธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ซึ่งเป็นมหามงคลวารนับแต่กาลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบบรมขัติยราชสันตติวงศ์มาได้ ๒๕ ปีบริบูรณ์

เมื่อได้เปิดวิทยาลัยแล้วอย่างนี้ พระเถรานุเถระซึ่งเป็นผู้จัดการ ได้ดำริจะจัดการ ๓ ข้อข้างต้นนั้น โดยลำดับดังต่อไปนี้

๑. การเล่าเรียนของภิกษุสามเณรนั้น ประเพณีเดิมเคยเรียนมูลปกรณ์ก่อนแล้ว จึงเรียนอรรถกถาธรรมบท มังคลัตถทีปนี สารัตถสังคหะ เป็นต้น ถึงกำหนดสามปี มีการสอบพระปริยัติธรรมครั้ง ๑ บางคราวขัดข้อง ก็เลื่อนออกไปถึงหกปีครั้ง ๑ หนังสือสำหรับสอนนั้นมีสองอย่าง สำหรับฝ่ายไทยอย่าง ๑ สำหรับฝ่ายรามัญอย่าง ๑ สำหรับฝ่ายไทยนั้นจัดเป็น ๙ ชั้น อรรถกถาธรรมบทแบ่งเป็นสามชั้น คือชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ชั้นที่ ๓ มังคลัถทีปนีบั้นต้นชั้นที่ ๔ สารัตถสังคหะชั้นที่ ๕ มังคลัตถทีปนีบั้นปลายชั้นที่ ๖ ปฐมสมันปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยชั้นที่ ๗ วิสุทธิมรรคชั้นที่ ๘ สารัตถทีปนีฎีกาพระวินัยชั้นที่ ๙

ภิกษุสามเณรผู้จะสอบความรู้ จับประโยคแล้ว รับหนังสือตามประโยคมาดูเสร็จแล้ว เข้าไปแปลในที่ประชุมพระราชาคณะด้วยปากตามเวลาที่กำหนดให้ ถ้าแปลได้ตลอดประโยคในเวลาที่กำหนดไว้นั้นจัดเป็นได้ ถ้าครบกำหนดเวลาแล้ว ยังแปลไม่ตลอดประโยคจัดเป็นตก ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่ชั้นที่สามขึ้นไปนับว่าเป็นเปรียญ แม้สอบชั้นที่ ๑ ที่ ๒ ได้แล้ว ถ้าตกชั้นที่สามก็นับว่าตก ถึงคราวหน้าจะเข้าแปลใหม่ ต้องแลตั้งแต่ชั้นที่ ๑ไปอีก

ฝ่ายรามัญนั้นจัดเป็น ๔ ชั้น บาลีมหาวิภังค์คือ อาทิกรรม หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะเลือก เป็นชั้นที่ ๑ บาลีมหาวรรค หรือจุลวรรค อย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะเลือก เป็นชั้นที่ ๒ บาลีมุตวินับวินิจฉัยเป็นชั้นที่ ๓ ปฐมสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัยเป็นชั้นที่ ๔ แปลเป็นภาษารามัญ แต่ต้องบอกสัมพันธ์ด้วย ถ้าแปลได้ตั้งแต่ชั้นที่ ๒ ขึ้นไปจึงนับว่าเป็นเปรียญเปรียญเหล่านั้น ถ้ายังไม่ได้แปลถึงชั้นที่สุด หรือยังไม่ได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะ แม้ถึงจะมีพรรษายุกาลมาก ก็ยังนับว่ายังมีหน้าที่จะต้องแปลชั้นสูงขึ้นไปอีก ต่อเมื่อแปลถึงชั้นที่สุดแล้วก็ดี ได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะในระหว่างนั้นก็ดี จึงนับว่าสิ้นเขตที่จะแปลหนังสืออีก

ภิกษุสามเณรผู้เริ่มเรียน กว่าจะเรียนจบมูลปกรณ์ก็ช้านาน มักเป็นที่ระอาเบื่อหน่ายแล้วละทิ้งเสีย แม้ถึงเรียนตลอดบ้าง ก็ไม่เข้าใจตลอดไปได้ เพราะธรรมดาคนเรียนไม่อาจเข้าใจฉบับเรียนที่พิสดารให้ตลอดไปได้ จะกำหนดจำได้ก็แต่เพียงพอแก่สติปัญญา เหมือนเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่ป้อนอาหารคำโตกว่าปากขึ้นไป รับบริโภคได้พอประมาณปากของตนฉะนั้น ท่านผู้ชำนาญในวิธีสอนบางท่านจึงได้คิดวิธีสอนผู้เริ่มเรียนใหม่เรียกว่า บทมาลา ย่อบ่างพิสดารบ้างตามความประสงค์ของท่าน สำหรับสอนแทนมูลปกรณ์ เพื่อจะให้เวลาเรียนเร็วขึ้น

ส่วนการเรียนนั้น สถานหนึ่งก็มีครูคนหนึ่งสอนนักเรียนทุกชั้นไม่ได้ปันเป็นแผนก จึงหาครูที่มีความรู้พอจะสอนได้ตลอดเป็นอันยาก ทั้งเป็นที่ลำบากของครูผู้จะสอนนั้นด้วย ส่วนกำหนดเวลาสอบความรู้สามปีครั้งหนึ่ง หรือหกปีครั้งหนึ่ง นั้นเป็นกาลนาน ผู้ที่เรียนมีความรู้พอจะสอบได้ แต่ยังไม่ถึงสมัยที่จะสอบ หรือผู้ที่สอบตกแล้วมักสิ้นความหวังที่จะคอยคราวสอบข้างหน้าอีก และนักเรียนคนหนึ่งสอบคราวหนึ่ง ก็จะไม่ได้กี่ชั้นนัก จึงไม่ใคร่จะมีเปรียญประโยคสูง เมื่อไม่มีเปรียญประโยคสูง จะหาครูที่สอนหนังสือชั้นสูงๆ ได้ก็ยากเข้าทุกที ถึงจะมีผู้ที่สอนหนังสือชั้นสูงๆ ได้ก็ยากเข้าทุกที ถึงจะมีผู้ที่สอบชั้นสูงได้บ่าง ก็คงได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะเสียในระหว่างยังไม่ทันได้สอบชั้นสูง ด้วยเหตุจำเป็นมีจะต้องเป็นเจ้าอาวาสเป็นต้น เมื่อเป็นฉะนี้ ก็ไม่ค่อยมีนักเรียนที่สอบได้ถึงชั้นที่สุด ตามแบบที่ตั้งไว้

ส่วนการแปลด้วยปากนั้น สอบวันหนึ่งได้ไม่กี่รูป กว่าจะจบเวลาสอบคราวหนึ่งถึงสามเดือน เมื่อเป็นเช่นนี้ จะกำหนดการสอบให้เร็วก็ไม่ได้อยู่เอง และเปรียญที่ได้สอบความรู้ได้ถึงชั้นนั้นๆ แล้ว ก็มีความรู้พออ่านหนังสือเข้าใจได้เท่านั้น ผู้สอบยังทราบไม่ได้ว่า เป็นผู้ทรงธรรมทรงวินัยสมควรจะปกครองหมู่คณะแล้วหรือไม่ อาศัยเหตุผลที่กล่าวมานี้ การเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณร จึงนับว่าเจริญดีแล้วยังไม่ได้

เพื่อจะคิดแก้ไขให้การเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณรเจริญดีขึ้น ทันเวลาที่เป็นไปอยู่บัดนี้ วิทยาลัยจึงได้จัดวิธีสอนและสอบความรู้ดังนี้ ในเบื้องต้นให้เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์ ซึ่งเป็นหนังสือชนิดเดียวกับบทมาลา แล้วจึงขึ้นคัมภีร์ต่อไป แบบที่สำหรับสอบความรู้นั้น บาลีไวยากรณ์ชั้นนักเรียนที่ ๓ อรรถกถาธรรมบทความนิทานชั้นเรียนที่ ๒ แก้คถาธรรมบทบั้นปลายเป็นชั้นนักเรียนที่ ๑ แก้คถาธรรมบทบั้นต้น เป็นชั้นเปรียญที่ ๓ (ต่อไปถ้ามีกำลังจะพิมพ์มังคลัตถทีปนีได้ จะใช้เป็นแบบสำหรับสอบชั้นเปรียญที่ ๓) บาลีพระวินัยมหาวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์ กับบาลีบางเล่มเป็นชั้นเปรียญที่ ๒ บาลีพระวินัยมหาวรรคและจุลวรรค กับบาลีพระอภิธรรมบางเล่มเป็นชั้นเปรียญที่ ๑ กำหนดการสอบไล่ทุกปี วิธีสอบไล่นั้นใช้เขียน แต่ยอมให้ผิดได้ไม่เกินกว่ากำหนด ถ้าได้ชั้นไหนแล้วเป็นอันได้ วิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาติให้สอบไล่ได้โดยวิธีจัดนี้เป็นส่วนพิเศษ

๒.การที่ประชุมชนจะเข้าใจในพระพุทธศาสนาให้ชัดเจนมีอยู่ ๓ ทาง คือ ด้วยได้ฟังพระธรรมเทศนา ด้วยได้สนทนาธรรม ด้วยได้อ่านหนังสือที่เป็นคำสั่งสอน การเทศนานั้น มีที่วัดตามกำหนดวันพระนั้น จะได้ฟังก็แต่คนที่เข้าวัด ส่วนเทศนาในโรงธรรมนั้น ตั้งขึ้นที่ไหนก็มีแต่คนในจังหวัดนั้น และมักจะเทศน์แต่เรื่องนิทานนิยายอะไรต่างๆ ไม่เป็นทางที่จะเข้าใจในพระพุทธศาสนาดีขึ้น การเทศนาด้วยกิจนิมนต์ในมังคลามังคลสมัยนั้น ก็มักมีแบบไว้สำหรับพิธีนั้น ใครเคยฟังเรื่องใดก็ฟังเรื่องนั้นซ้ำๆ อย่างนั้น ไม่ค่อยจะได้ฟังเรื่องที่แปลกจากนั้น ส่วนการสนทนาธรรมนั้น เป็นทางที่จะเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจน เพราะผู้ฟังถามข้อที่ตัวไม่เข้าใจหรือสงสัยอยู่ได้ แต่จะหาผู้ที่เข้าใจในการสนทนานี้ยากยิ่ง ส่วนการอ่านหนังสือที่เป็นคำสั่งสอนนั้น เป็นที่เข้าใจพระพุทธศาสนาได้ดีกว่าฟังเทศนา เพราะอ่านเองมีเวลาที่จะกำหนดตรึกตรองได้ตามชอบใจ และถ้าจำได้แล้วและลืมเสียกลับดูอีกก็ได้ แต่หนังสือที่สำหรับจะอ่านเช่นนั้นยังไม่มีแพร่หลายพอที่ประชุมชนจะแสวงหาไว้อ่านได้ หนังสือที่มีอยู่แล้วก็ยังไม่ได้แสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาให้สิ้นเชิง เป็นแต่แสดงบางข้อตามความประสงค์ของผู้แต่งหนังสือนั้นๆ ความยินดีในธรรมของคนก็ต่างกัน บางคนยินดีในธรรมที่ลึกซึ้ง บางคนยินดีในธรรมที่ไม่ลึกซึ้ง ถ้าถูกอัธยาศัยก็พอใจอ่าน ถ้าไม่ถูกอัธยาศัยก็ไม่พอใจอ่าน หนังสือที่สำหรับสั่งสอนประชุมชนควรจะมีหลายอย่างตามอัธยาศัยของคนต่างๆ กัน

ในการที่จะแนะนำให้ประชุมชนเข้าใจพระพุทธศาสนาชัดเจนดีขึ้น เป็นกิจที่วิทยาลัยควรจัด ๒ ย่างคือ มีธรรมเทศนาที่วัดตามกำหนดวันพระอย่างหนึ่ง การจัดพิมพ์หนังสือแสดงคำสั่งสอนอย่างหนึ่ง การมีเทศนากำหนดวันพระนั้น ได้เคยมีเป็นประเพณีของวัดมาแล้ว ส่วนการพิมพ์หนังสือแสดงคำสั่งสอนนั้น วิทยาลัยจะจัดขึ้นตามกำลังที่จะจัดขึ้นได้

๓. การฝึกสอนเด็กชาวเมืองนั้น วิทยาลัยจะจัดให้มีโรงเรียนสอนหนังสือไทยและเลข และฝึกกิริยาเด็กให้เรียบร้อย สอนให้รู้จักดีและชั่วตามสมควร

ใน ๓ ข้อที่กล่าวมาแล้วนี้ การเล่าเรียนของภิกษุสามเณร วิทยาลัยได้จัดแล้ว ส่วนอีกสองข้อนั้น อาจจัดได้เมื่อใด ก็จะจัดเมื่อนั้นตามลำดับ

เมื่อได้จัดระเบียบการศึกษาและการสอบไล่พระปริยัติธรรมขึ้นที่มหามงกุฎราชวิทยาลัยแล้ว การแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเก่าก็ยังให้คงแปลอยู่ตามเดิม ได้เริ่มการสอบไล่พระปริยัติธรรมที่สนามหมามกุฎราชวิทยาลัยตั้งแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๓ รวม ๘ คราวก็งด รวมนักเรียนที่ศึกษาในมหามกุฎราชวิทยาลัยมาสอบในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตามแบบเดิม จนสิ้นรัชกาลที่ ๕

การสอบไล่พระปริยัติธรรมในมหามกุฎราชวิทยาลัยครั้งแรก นับเป็นครั้งที่ ๖ แห่งการแปลพระปริยัติธรรมในรัชกาลที่ ๕ จำนวนเปรียญที่สอบไล่ได้ในมหามกุฎราชวิทยาลัย ๘ คราวซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ ปีใดพ้องกับการแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเก่า ได้จดจำนวนเปรียญฝ่ายนั้นมารวมไว้ด้วย ดังต่อไปนี้

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๖ (ครั้งที่ ๑ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นคราวที่พึ่งเริ่มเปิดสนามมหามกุฎราชวิทยาลัยใหม่ๆ มีนักเรียนสอบไล่ได้เป็นนักเรียนเอก เทียบเท่า ๓ ประโยคแต่รูปเดียวเท่านั้น

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๗ (ครั้งที่ ๒ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗ คราวนี้มีการแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามพ้องด้วย วิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมคราวนี้ คงใช้วิธีอย่างคราวที่ ๕ ทั้งสิ้น รวมเปรียญทั้ง ๒ สนาม เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๒๙ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๓๗ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๘ (ครั้งที่ ๓ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๓๘ เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๕ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๑๔ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๙ (ครั้งที่ ๔ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๙ เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๑๓ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๒๗ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๑๐ (ครั้งที่ ๕ ในหมามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๔๐ เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๒๒ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๑๐ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๑๑ (ครั้งที่ ๖ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ คราวนี้มีการแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมที่ในพระอุโบสถวัดสุทัศน์พ้องด้วย วิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมครั้งนี้ ชั้นนักเรียนที่แปลธรรมบทกำหนดให้แปลหนังสือเพียง ๑๐ บรรทัดเป็นจบประโยค กำหนดเวลาให้ ๕๐ นาที ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ว่า ยอมให้นักเรียนชั้นแปลธรรมบทได้ประโยค ๑ ตกประโยค ๒ ได้ประโยค ๒ ตกประโยค ๓ ไม่ต้องทวนมาแปลประโยค ๑ ต่อไปใหม่ในคราวหน้า ให้แปลต่อประโยคที่ได้ไว้แล้วทีเดียว รวมเปรียญทั้ง ๒ สนาม เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๓๕ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๗๘ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๑๒ (ครั้งที่ ๗ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ คราวนี้มีการแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมที่พระอุโบสถวัดสุทัศน์พ้องด้วย แต่สนามวัดสุทัศน์แปลได้เพียง ๓ วัน ไม่ทันนักเรียนที่แปลได้เป็นเปรียญก็งด ด้วยสมเด็จพระวันรัตผู้เป็นกรรมการชี้ขาดอาพาธ จึงมีแต่เปรียญในมหามกุฎราชวิทยาลัย เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๖ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๑๒ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๑๓ (ครั้งที่ ๘ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ คราวนี้มีการแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามพ้องด้วย การแปลพระปริยัติตามแบบเดิมครั้งนี้ ชั้นนักเรียนผู้แปลธรรมบทเฉพาะประโยค ๓ เพิ่มหนังสือที่แปลเป็น ๒๐ บรรทัด กำหนดเวลาแปล ๙๐ นาทีอย่างเดิม รวมเปรียญทั้ง ๒ สนาม เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๒๗ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๔๑ รูป

นามเปรียญที่แปลได้ใน ๘ คราว มีแจ้งอยู่ในบัญชีหนังสือเรื่อง เปรียญรัชกาลที่ ๕ ภาค ๒

...............................................................................................


คัดจาก
ประชุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

อ้างอิง : รัตนโกสินทร์ ๒๒๕