การประชุมสัมมนาครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ประจำปี ๒๕๕๒
โพสโดย webmaster เมื่อ September 18 2009 18:36:25
การประชุมสัมมนาครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ประจำปี ๒๕๕๒
ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติร่วมกับ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ได้ดำเนินการจัดการประชุมสัมมนาครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ประจำปี ๒๕๕๒ โดยได้อาราธนาครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ทั่วประเทศ จำนวน ๓,๑๙๒ รูป เข้าร่วมประชุมสัมมนาตามเขตปกครองคณะสงฆ์ภาคต่าง ๆ จำนวน ๑๐ ครั้ง ในระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน ๒๕๕๒ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนและเทคนิค วิธีการสอนสมัยใหม่ และเพื่อเป็นการทบทวนบทบาทและภาระหน้าที่ของครูสอนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงเพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยใช้งบประมาณโครงการเงินอุดหนุนพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาจำนวน ๓,๙๗๖,๕๐๐ บาท (สามล้านเก้าแสนเจ็ดหมื่นหกพันห้าร้อยบาทถ้วน) สรุปผลการจัดประชุมสัมมนาโดยสังเขป ดังนี้
๑. มีครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เข้าร่วมประชุมสัมมนาทั้งหมด จำนวน ๒,๗๖๓ รูป คิดเป็นร้อยละ ๘๙.๑๓ จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ (เป้าหมายที่กำหนดไว้คือ ๓,๑๐๐ รูป)
๒. กำหนดประเด็นหลักการประชุมสัมมนาเพื่อหาข้อสรุป ในรูปแบบของการเสวนาและประชุมกลุ่มย่อยออกเป็น ๒ ประเด็น คือ
๒.๑ การประชุมครั้งที่ ๑ -๔ ดำเนินการเสวนาประเด็นเรื่องแนวทางการพัฒนาการศึกษาสงฆ์
สรุปประเด็นการเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการศึกษาสงฆ์ได้ ดังนี้
(๑) ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม – บาลี ในระดับอำเภอ และขยายไปในระดับตำบลต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู นักเรียน และงบประมาณ โดยให้เป็นนโยบายของคณะสงฆ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณ
(๒) สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ควรจัดทำหลักสูตรระยะสั้น ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน เพื่อผู้บวชจะได้มีโอกาสเรียนรู้หลักพระธรรมวินัย และสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติได้เมื่อลาสิกขาแล้ว
(๓) ในการจัดอบรมครูสอนพระปริยัติธรรม ปีงบประมาณต่อไป ควรจัดอบรมเข้มอย่างน้อย ๕ วัน โดยคัดเลือกกลุ่มผู้เข้ารับการอบรม เพื่อเป็นต้นแบบและสามารถนำไปขยายผลต่อในสำนักเรียนสำนักศาสนศึกษาและโรงเรียนพระปริยัติธรรม
(๔) การจัดสอบธรรมศึกษาในสถานศึกษาต่าง ๆ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ควรมีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาที่เป็นสนามสอบ เพื่ออนุญาตให้นักเรียนเข้าสอบธรรมศึกษาโดยไม่ถือเป็นวันหยุดเรียน และอนุญาตให้ใช้สถานศึกษาเป็นสนามสอบ
(๕) ควรหาแนวทางสร้างความเข้าใจต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนในการอนุมัติงบประมาณส่งเสริมการศึกษาของสงฆ์ ให้เข้าใจระบบการศึกษาสงฆ์ ไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับการการศึกษาของสถานศึกษาทั่วไป
๖) ต้องมีการจัดทำแผนการจัดการศึกษาของสงฆ์ โดยจัดเป็นแผนระดับชาติ ระดับหน ระดับภาค และระดับจังหวัด โดยแผนทุกระดับต้องมีความเกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกัน
(๗) ควรจัดให้มีการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมอย่างน้อย ๒ ปี/ครั้ง
๒.๒ การประชุมครั้งที่ ๕ – ๑๐ ดำเนินการประชุมกลุ่มย่อยเรื่อง มาตรฐานการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษา ที่จัดโดยสถาบันพระพุทธศาสนาโดยได้กำหนดประเด็นในการประชุมกลุ่มย่อยคือการยกร่างมาตรฐานและตัวบ่งชี้การศึกษาพรปริยัติธรรม แผนกธรรม ซึ่งสรุปผลการประชุมกลุ่มย่อยได้ ดังนี้
(๑) มาตรฐานและตัวบ่งชี้ด้านผู้เรียน
(๒) มาตรฐานและตัวบ่งชี้ด้านครู
(๓) มาตรฐานและตัวบ่งชี้ด้านผู้บริหาร
(๔) มาตรฐานและตัวบ่งชี้ด้านการสร้างศาสนทายาท
เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงเห็นควรเร่งดำเนินการตามมติของที่ประชุมสัมมนาใน ๓ ประเด็นหลัก คือ
๑. ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์การเรียนระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งเป็นนโยบายของสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
๒. จัดให้มีการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรมเพิ่ม
๓. ส่งเสริมให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาในสำนักเรียน สำนักศาสนศึกษา ตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๔๘ (ข้อ ๖) โดยการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำมาตรฐานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลี
กองพุทธศาสนศึกษา พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินการใน ๓ ประเด็นดังกล่าว บรรลุผลสำเร็จ จึงได้กราบนมัสการ พระพรหมมุนี แม่กองธรรมสนามหลวง และนำเสนอมหาเถรสมาคม เพื่อโปรดทราบและให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักการดำเนินการ เพื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะได้ดำเนินการต่อไป
อ้างอิง : กองพุทธศาสนศึกษา พศ.