๑๕๐ ปี วันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
โพสโดย webmaster เมื่อ January 06 2010 20:53:06
๑๕๐ ปี วันประสูติ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
โดย พระพจนารถ ปภาโส
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นักเรียนธรรมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน ๑,๙๐๖,๘๗๓ คน เข้าสอบธรรมสนามหลวงในสนามสอบ ๓,๗๘๕ สนาม ทำให้หวนระลึกถึงพระกรุณาธิคุณใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่โปรดประทานพระอนุญาตให้ครูที่เป็นคฤหัสถ์เข้าสอบไล่วิชานักธรรมชั้นตรีในสนามคณะสงฆ์ ในการสอบธรรมสนามหลวงประจำปีพุทธศักราช ๒๔๗๒ อันเป็นปฐมธรรมศึกษาของประเทศไทย นี่เป็นพระกรณียกิจส่วนหนึ่งที่สร้างความวัฒนาสถาพรให้แก่คณะสงฆ์สืบมาจนถึงปัจจุบัน
วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นมหามงคลสมัยครบ ๑๕๐ ปี วันประสูติใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า คณะสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้จัดกิจกรรมประกอบด้วยการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พิมพ์บทพระนิพนธ์ และจัดสร้างวัตถุมงคลอนุสรณ์ เป็นต้น
การนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงพระกรุณาโปรดรับการบำเพ็ญกุศลและการจัดงานไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเสด็จพระราชดำเนินมาวัดราชบพิธในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ในวันพุธที่ ๑๖ ธันวาคม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเสด็จพระราชดำเนินมาวัดราชบพิธในพิธีพุทธภิเษกพระพุทธอังคีรส(จำลอง) และพระรูป สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พร้อมทั้งทรงเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ในวันเสาร์ที่ ๑๒ ธันวาคม
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาโปรดพิมพ์หนังสือนิบาตชาดก จตฺตาฬีสนิบาต พระราชทานเป็นอนุสรณ์
คณะสงฆ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ขอพระราชทานถวายอนุโมทนาในพระราชกุศลและพระกุศลที่ทรงบำเพ็ญในมงคลกาลนี้ และขอพระราชทานถวายพระพรให้ทุกพระองค์ทรงเจริญพระชนมสุขสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าภุชงค์ เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์ ประสูติแต่ หม่อมปุ่น ณ วังถนนเฟื่องนคร(วังใต้) (ปัจจุบันคือที่ตั้งกระทรวงมหาดไทย) เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๒
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์ ทรงเป็นเจ้านายที่ทรงใฝ่พระทัยในการศึกษา มีความชำนาญในการช่าง รัชกาลที่ ๕ ทรงแต่งตั้งให้เป็นแม่กองสร้างวัดเทพศิรินทราวาส และทรงโปรดให้เป็นผู้ทรงจัดการรับเสด็จพระเจ้ากรุงฮาวาย คราเสด็จเยือนกรุงสยาม
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงรับสั่งถึงการศึกษาครั้งแรกของพระองค์ว่า
“เจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์ เป็นผู้สอนหนังสือไทยแก่ข้าพเจ้า ตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุได้ ๗ ขวบ จนอ่านและเขียนเรียงความง่ายๆ ได้ ”
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๔ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ เข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนแรฟฟัล เมืองสิงคโปร์ เป็นเวลา ๙ เดือน พ.ศ. ๒๔๑๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับมาศึกษา ณ โรงเรียนที่ทรงตั้งขึ้นในพระบรมมหาราชวัง พระบิดาทรงจัดให้ศึกษาภาษาขอมกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และภาษาไทยกับพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น โอวาทสาร) ณ วังที่ประทับ เมื่อพระอาจารย์ทั้งสองได้รับภาระแต่งโคลงบรรยายภาพรามเกียรติ์บนหินอ่อนติดอยู่ที่เสารอบๆ พระระเบียงในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำให้ หม่อมเจ้าภุชงค์ ได้ทรงแต่งโคลงจารึกแผ่นที่ ๖๔๙ – ๖๕๖ พรรณนาภาพรามเกียรติ์ ห้องที่ ๑๖๓ – ๑๖๔ ด้วย
ครั้นพระชันษา ๑๔ ปี ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (ขณะทรงดำรงพระยศที่ กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร (แต่ครั้งยังทรงเป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ) เป็นพระบรรพชาจารย์ เมื่อทรงผนวชแล้วประทับ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อมาจนถึงพระชันษาครบอุปสมบท จึงทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๒ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) (ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร (แต่ครั้งยังทรงเป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ) เป็นพระบรรพชาจารย์
เมื่อผนวชแล้วทรงได้รับพระนามฉายาว่า “สิริวฑฺฒโน” และประทับ ณ วัดราชบพิธตลอดมา กระทั่งได้ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธเป็นพระองค์ที่ ๒ สืบต่อจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๔
ขณะทรงเป็นสามเณรนั้น ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในหลายแห่ง เริ่มต้นที่สำนักของพระครูบัณฑรธรรมสโมธาน (สด) ที่วัดราชบพิธฯ และจากหลวงญาณภิรมย์ (โพ) และอาจารย์รอด กับทั้งได้ทรงศึกษาภาษาสันสกฤตกับพราหมณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาสอน ทั้งยังได้เสด็จไปทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักของสมเด็จพระสังฆราช (สา) ครั้นทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว ได้ทรงเข้าสอบพระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๕ ได้ทรงเป็นเปรียญ ๔ ประโยค พุทธศักราช ๒๔๒๙ ทรงเข้าสอบพระปริยัติธรรมที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกครั้งหนึ่ง ได้ทรงเป็นเปรียญ ๕ ประโยค
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงใฝ่พระทัยในทางการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ทรงอ่านและทรงแปลภาษาบาลี สันสกฤต และอังกฤษได้เป็นอย่างดี ทั้งยังทรงพระปรีชาสามารถในเชิงกวี ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวต่างๆ ทั้งภาษาไทย และด้วยอักษรเทวนาคีเป็นจำนวนมาก
พระปรีชาสามารถในทางรจนาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า นับได้ว่าทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระนิพนธ์ตำราเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก เช่น
พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ซึ่งเป็นพจนานุกรมแปลภาษาบาลีเป็นไทยเล่มแรก
ต้นบัญญัติ เป็นพระนิพนธ์แปลจากมหาวิภังค์คัมภีร์พระวินัยปิฎก แต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศที่หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต เกี่ยวกับเรื่องเค้ามูลแห่งการที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทต่างๆ
นิบาตชาดก จตฺตาฬีสนิบาต รวมชาดก ๔ เรื่อง ได้แก่ เตสกุณชาดก, สรภงฺคชาดก,อลมฺพุสชาดกและสํขปาลชาดก, มหานิบาตชาดก:ทศชาติฉบับชินวร, ศีวิชัยชาดก, ภิกษุณี, สามเณรสิกขา, อาการ ๓๑, คำแนะนำเรียงความแก้กระทู้ธรรม
นอกจากนี้ยังมีพระนิพนธ์หลายต่างเรื่องที่มีความยาวสังเขป เช่น พระธรรมเทศนากัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนพระอนุศาสนี และพระนิพนธ์ร้อยกรองอื่นๆ อีกมาก
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นผู้ตรวจชำระพระบาลีพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ด้วยอักษรสยาม เป็นรูปเล่มหนังสืออย่างสมัยปัจจุบัน ออกเผยแพร่ไปยังพระอารามทั่วประเทศ ตลอดจนสถาบันสำคัญในนานาประเทศทั่วโลก และทรงเป็นประธานกรรมการชำระพระบาลีพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทฉบับพิมพ์ที่สมบูรณ์สำรับแรก แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๓
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นพระราชกรรมวาจารย์เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๗ และเป็นพระราชกรรมวาจารย์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ทรงผนวชเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๐ ทั้งยังทรงเป็นอุปัชฌายะและอาจารย์ของพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนกุลบุตรเป็นจำนวนมาก
ในสมัย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบริหารคณะสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงสนองงานตามที่มีพระบัญชาทั้งในส่วนการศึกษาพระปริยัติธรรมและส่วนการบริหาร ทรงเป็นผู้ประสานสามัคคีในคณะสงฆ์ ทำให้การบริหารคณะสงฆ์สามารถดำเนินไปได้อย่างเป็นเอกภาพ
ทรงได้รับความเชื่อถือจากคณะสงฆ์ว่าทรงมีความยุติธรรมในการตัดสิน ดังตัวอย่างคำวินิจฉัยเรื่องครูบา ศรีวิชัย ที่ทรงเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
เมื่อ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงบริหารคณะสงฆ์ต่อจาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา-วชิรญาณวโรรส ได้เสด็จไปทรงตรวจการณ์คณะสงฆ์ทั้งในพระนครและหัวเมืองอย่างทั่วถึง ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นอยู่และการครองตนของภิกษุสามเณร ตลอดจนสภาพของอารามใน เขตหัวเมืองหลายแห่ง ทำให้พระองค์ทรงสามารถบริหารงานคณะสงฆ์ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงแต่งตั้ง พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นพระอุปัชฌาย์
อวสานกาลแห่งพระชนมชีพ เริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคหลอดโลหิตแข็งและชำรุด (Arteriosclerosis) ในต้นเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ ได้มีพระบังคนเบาเป็นพระโลหิต ซึ่งเกิดจากการแตกของหลอดโลหิตที่แข็งและชำรุดในกระเพาะปัสสาวะ และพระอาการทรุดลงตลอด,k เช้าวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๐ ทรงมีรับสั่งเรียกพระจุลคณิศร (วาสนมหาเถระ) (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๘) ให้นำใบปลงบริขารที่ได้รับสั่งให้ถือไว้มาถวาย ทรงให้อ่านและแก้ไขตามความเป็นจริง ต่อหน้าสงฆ์ที่เฝ้าอยู่ เมื่อเสร็จแล้ว ทรงเจริญสมาธิสิ้นพระชนม์ดุจคนนอนหลับเมื่อเวลา ๑๐.๐๕ น. สิริพระชันษา ๗๙ ปี
คุณูปการใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า มีมากยากจะพรรณนาให้จบสิ้นในคอลัมน์นี้ จึงขอเชิญชวนพุทธบริษัทได้เข้าชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ณ วัด ราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ตั้งแต่ วันที่ ๑๒ – ๒๐ ธันวาคมนี้ ท่านจักได้รับสรรพประโยชน์ที่ควรแก่การดำเนินชีวิตของตนสืบไป
๑ ธันวาคม ๒๕๕๒
เวลา ๐๓.๑๐ น.