การทำสามีจิกรรม เพื่อความสามัคคีกัน อยู่ร่วมกันโดยสงบสุข
โพสโดย webmaster เมื่อ September 18 2009 18:21:48
การทำสามีจิกรรม
เป็นธรรมเนียมของสงฆ์อย่างหนึ่งที่ภิกษุสามเณรพึงทำความชอบต่อกัน เพื่อความสามัคคีกัน อยู่ร่วมกันโดยสงบสุข การทำความชอบนี้เรียกว่า สามีจิกรรม หมายถึง การขอขมาโทษกัน ให้อภัยกัน ทุกโอกาสไม่ว่าจะมีโทษขัดข้องหมองใจกันหรือไม่ก็ตาม โอกาสควรทำสามีจิกรรมนั้น โดยนิยมมีดังนี้
๑) ในวันเข้าพรรษา ทั้งภิกษุและสามเณรที่ร่วมอยู่วัดเดียวกันควรทำสามีจิกรรมต่อกัน เรียงตัวตั้งแต่ผู้มีอาวุโสมากที่สุด ถึงสามเณรรูปสุดท้ายในวัด ไม่ควรเว้นเพื่อความสามัคคีในวัด
สำหรับที่จะทำกันในวันเข้าพรรษา บางแห่งทำหลังจากเจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วก่อนออกจากโรงอุโบสถ แม้ทำลำดับหลังท่านก็ไม่ห้าม สำหรับวัดที่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาไม่มากนักควรทำร่วมกันทั้งวัดให้เสร็จภายในโรงอุโบสถในวันเข้าพรรษานี้ ทำเรียงตามลำดับอาวุโสจากพระสังฆเถระลงมาจนถึงสามเณรรูปสุดท้าย ถ้ามีจำนวนมาก จะแบ่งทำร่วมกันเฉพาะต่อท่านผู้มีพรรษาพ้นสิบซึ่งเป็นพระเถระท่านนั้นก่อนในโรงอุโบสถ นอกนั้นแยกกับไปทำตามกุฏิโดยอัธยาศัยก็ได้การทำร่วมกันในโรงอุโบสถเป็นการแสดงหน้าที่ผู้ใหญ่ผู้น้อย และแสดงความสามัคคีในหมู่คณะ มีระเบียบที่จะพึงปฏิบัติ ดังนี้
ก) ผู้รับขมาโทษ นั่งพับเพียบหันหน้ามาทางผู้ขอขมา เมื่อผู้ขอขมากราบเริ่มประณมมือรับ
ข) ผู้ขอขมาโทษคุกเข่ากราบพร้อมกัน ๓ ครั้ง เฉพาะรูปที่เป็นพระสังฆเถระและเจ้าอาวาส
ค) กราบแล้ว ยกพานเครื่องสักการะขึ้นประคองแต่อกน้อมกายลงเล็กน้อย กล่าวคำขอขมาตามแบบของวัดนั้นพร้อมกัน (ตามแบบที่ ๑ หรือที่ ๒ ซึ่งมีอยู่ข้างหน้า)
ฆ) เมื่อผู้รับขมากล่าวคำอภัยโทษตามแบบแล้วผู้ขอทั้งหมดรับคำให้อภัยตามแบบพร้อมกันด้วยอาการยกพานเครื่องสักการะขึ้นในท่าจบนิดหน่อย (เฉพาะที่ทำต่อพระสังฆเถระหรือเจ้าอาวาส วางพานเครื่องสักการะลงตรงหน้าแล้วกราบอีก ๓ ครั้ง ในบางแห่งท่านปฏิบัติกันอย่างนี้)
ง) เสร็จจากรูปหนึ่งแล้วทำกับอีกรูปหนึ่ง โดยวิธีดังกล่าว ต่อเนื่องกันไปจนถึงสามเณรรูปสุดท้าย เป็นอันเสร็จพิธีสามีจิกรรมในโรงอุโบสถวันนี้
๒) ในระยะเข้าพรรษา เริ่มแต่วันเข้าพรรษาและหลังวันเข้าพรรษา ระยะเวลาประมาณ ๗ วัน ควรทำสามีจิกรรมต่อท่านที่เคารพนับถือ ซึ่งอยู่ต่างวัดโดยทั่วถึงกัน
๓) ในโอกาสจะจากกันไปอยู่วัดอื่นหรือถิ่นอื่น นิยมทำต่อผู้ท่านผู้มีอาวุโสกว่าตนในวัด และต่อท่านที่เคารพนับถือทั่วไป เป็นการลาจากกันทั้ง ๒ กรณีนี้ เป็นการทำสามีจิกรรม แบบขอขมาโทษ
นอกจากนี้ยังมีสามีจิกรรมแบบถวายสักการะเป็นการแสดงมุทิตาจิตอีกแบบหนึ่ง นิยมทำต่อท่านที่ตนเคารพนับถือในโอกาสที่ท่านผู้นั้นได้รับอิสริยศักดิ์ หรือได้รับยกย่องในฐานันดรศักดิ์เป็นการแสดงจิตใจที่พลอยยินดีให้ปรากฏเพราะความมุ่งหมายและเหตุผลของการทำสามีจิกรรมมีดังกล่าว การกระทำจึงเกิดพิธีขึ้นโดยนิยมเป็นแบบ ๆ ดังต่อไปนี้
๑. สามีจิกรรมแบบขอขมาโทษนอกโรงอุโบสถหรือนอกวัด
ก) จัดเครื่องสักการะ คือ ดอกไม้ ธูป เทียน ใส่พาน หรือภาชนะที่สมควร ธูปเทียนที่นิยมกัน ใช้ธูปเทียนที่มัดรวมกันเป็นแพผูกโบว์วางบนพาน ดอกไม้จัดใส่กระทงขนาดพอเหมาะกับธูปเทียนแพ วางกระทงดอกไม้ลงบนแพธูปเทียนนั่นหรือจะเป็นเล่มนั้น หรือเป็นดอก ๆ ก็ได้ สุดแต่จะจัดได้อย่างไร
ข) ครองผ้าเรียบร้อยตามนิยมของวัดที่สังกัด ถ้าเป็นภิกษุพาดสังฆาฏิด้วย
ค) ถือพานดอกไม้ธูปเทียน ประคองสองมือเข้าไปหาท่านที่ตนจะขอขมา คุกเข่าลงตรงหน้า ระยะห่างกันประมาณศอกเศษ วางพานทางซ้ายมือของตน กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วยกพานขึ้นประคองสองมือแค่อกกล่าวคำขอขมาตามแบบนิยม
ฆ) เมื่อท่านที่ตนขอขมากล่าวคำให้อภัยโทษแล้ว พึงรับคำตามแบบนิยมต่อนี้ ถ้าท่านที่ตนขอขมาให้พรต่อท้าย พึงสงบใจรับพรจากท่านจนจบ และรับคำด้วยคำว่า สาธุ ภนฺเต ถ้าไม่มีพรให้ต่อ หรือให้พรและรับพรเสร็จแล้ว พึงน้อมพานสักการะนั้นเข้าไปประเคน และกราบอีก ๓ ครั้ง เป็นเสร็จพิธีขอขมา
๒. สามีจิกรรมแบบถวายสักการะ
ก) จัดเตรียมเครื่องสักการะอย่างเดียวกับแบบขอขมา แต่ในกรณีนี้อาจเพิ่มเติมของใช้หรือสิ่งอื่นใดที่ควรแก่สมณบริโภคด้วยก็ได้
ข) การทำในแบบนี้ ไม่นิยมว่าผู้ที่ตนทำจะต้องแก่อาวุโสกว่าตนเหมือนในแบบขอขมา แม้ผู้นี้อ่อนอาวุโสกว่า ก็ทำได้
ค) ครองผ้าเรียบร้อยดังกล่าวในเรื่องขอขมา ถือเครื่องสักการะเข้าไปหาท่านที่ตนจะทำแล้วประเคนทันที ท่าตนอ่อนอาวุโสกว่าพึงกราบ ๓ ครั้ง ถ้าแก่กว่า ไม่ต้องกราบ เพียงแต่รับไหว้โดยนั่งพับเพียบประณมมือ ให้เมื่อผู้อ่อนกว่ากราบ เท่านี้เป็นอันเสร็จพิธี
ข้อมูลอ้างอิงประกอบบทความ : หนังสือศาสนพิธี เล่ม ๒
"นายอั๋น"