หมอชีวกโกมารภัจจ์ (ตอนที่ 1)
โพสโดย webmaster เมื่อ September 18 2009 18:22:35
หมอชีวกโกมารภัจจ์ (ตอนที่ 1)
หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ทางด้านแพทย์แผนตะวันออกที่ใช้สมุนไพรรักษาโรคและดูแลสุขภาพ ตัวยาสมุนไพรต่างๆ ที่แพทย์ตะวันออกสั่งสอนและใช้รักษาโรค ส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาตั้งแต่ยุคหมอชีวกโกมารภัจจ์ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เอง เวลาแพทย์แผนตะวันออกจะปรุงยาแต่ละครั้งต้องไหว้ครูเพื่อรำลึกถึงหมอชีวกโกมารภัจจ์ ต้นตำรับยาสมุนไพรและครูอาจารย์ที่ได้อนุรักษ์ตำรับตำราตกทอดมาถึงปัจจุบัน
หลักฐานที่บันทึกชีวประวัติและผลงานของหมอชีวกโกมารภัจจ์ไว้ ค่อนข้างละเอียด คือพระไตรปิฎก เพราะหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นแพทย์ประจำองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสารผู้ปกครองแผ่นดินโดยธรรมในระบอบราชาธิปไตยในยุคพุทธกาล
ก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์ พระไตรปิฎกได้ระบุถึงเมืองที่รุ่งเรืองมาก 2 เมือง คือเมืองมคธ และเมืองเวสาลี
เมืองมคธ เป็นมหาอำนาจที่ปกครองโดยระบอบราชาธิปไตย อันมีเจ้าผู้ครองนครนามว่า พระเจ้าพิมพิสาร มีเมืองเล็กเมืองน้อยภายใต้ปกครองจำนวนมาก
ส่วนเมืองเวสาลี มีความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจ มีภูมิทัศน์สวยงาม ดังที่พรรณนาไว้ในพระไตรปิฎกว่า มีปราสาทถึง
7,000 กว่าหลัง มีสระบัวและสวนดอกไม้อีก 7,000 กว่าแห่ง ปกครองโดยระบอบรัฐสภาที่บรรดาอภิชนที่มีความรู้ดี มีทรัพย์สินมั่งคั่งหมุนเวียนเปลี่ยนกันทำหน้าที่ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
นอกจากนี้ เมืองเวสาลียังมีชื่อเสียงด้านหญิงงามเมือง หรือนครโสภิณี ที่ทรงเสน่ห์ มีความสามารถในการขับร้องเล่นดนตรีไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาจากเมืองต่างๆ หญิงงามเมืองที่โด่งดั่งที่สุด ที่ใครๆ อยากได้พบเห็นชื่อ อัมพปาลี ให้บริการผู้ที่มาเยี่ยมเยือนด้วยความประทับใจ จนชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วบ้านเมืองใกล้เคียง
คราวหนึ่ง พ่อค้าและนักลงทุนกลุ่มหนึ่งจากเมืองมคธได้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์และภูมิทัศน์ที่สวยงามของเมืองเวสาลี จึงได้พากันไปท่องเที่ยวเพื่อหาลู่ทางลงทุนและดูงานการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองเวสาลี เมื่อได้พบเห็นและท่องเที่ยวไปทั่วเมือง พร้อมทั้งได้ดูกิจการนครโสภิณี (เรียกแบบไทยๆ ว่า โสเภณี) ด้วย ก็ได้ความคิดว่า น่าจะได้นำเอาเรื่องนี้ไปจัดทำที่เมืองมคธบ้าง จะได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวเมืองมคธมากขึ้น
เมื่อกลับมาถึงเมืองมคธ พ่อค้าและนักลงทุนกลุ่มนี้ได้พากันเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร แล้วกราบทูลให้ทราบถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง และมีหญิงงามเมืองเป็นที่เลื่องลือ เป็นที่ติดตาต้องใจแก่ผู้ที่ได้เยี่ยมเยือนและพบเห็น ควรที่เมืองมคธจะได้มีหญิงงามเมืองอย่างนั้นบ้าง
พระเจ้าพิมพิสารได้ทราบถึงข้อมูลเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากพ่อค้าและนักลงทุนกลุ่มนั้นแล้วรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงคัดเลือกสาวงามที่มีลักษณะเพียบพร้อมอย่างนั้นเป็นหญิงงามเมือง (นครโสภิณี) เถิด
พ่อค้าและนักลงทุนได้รับพระบรมราชโองการให้เป็นผู้สรรหาหญิงงามเมืองแล้วจึงได้กลับไปดำเนินการสรรหาตามพระราชประสงค์ หลังจากส่งแมวมองท่องเที่ยวไปหลายเมือง ก็เดินทางถึงกรุงราชคฤห์ พบหญิงสาวคนหนึ่งชื่อว่า สาลวดี มีความชำนาญในการฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรีอย่างดีเยี่ยม
แมวมองจึงได้นำเสนอคณะกรรมการสรรหาหญิงงามเมืองเพื่อนำชื่อขึ้นทูลเกล้าแต่งตั้งเป็นหญิงงามเมืองประจำเมืองมคธต่อไป
คณะกรรมการได้คัดเลือกสาวงามชื่อ สาลวดี เป็นหญิงงามเมือง และได้ถวายรายชื่อแก่พระเจ้าพิมพิสารเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นหญิงงามเมืองประจำเมืองมคธต่อไป
เมื่อเธอได้รับการแต่งตั้งก็ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ เป็นที่ประทับอกประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นและได้รับบริการจากเธอ หากใครปรารถนาจะว่าจ้างเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วยต้องจ่ายค่าบริการคืนละ 100 กหาปนะ ราคานี้ถือว่าแพงมากทีเดียว เพราะโดยปกติแรงงานที่รับจ้างทำงานตามบ้านเศรษฐีโดยทั่วไป จะได้รับค่าจ้างวันละครึ่งกหาปนะ หรือ 1 กหาปนะ หรืออย่างมากก็ 5 กหาปนะ ต่อ 1 วัน
พิจารณาจากเรื่องราวแวดล้อมก็พอจะบ่งชี้ได้ว่า คนที่จะไปเที่ยวหาความอภิรมย์กับหญิงงามเมืองได้ในยุคนั้น ส่วนใหญ่น่าจะเป็นพ่อค้าหรือคหบดี หรือพวกหนุ่มๆ ในราชสกุลเท่านั้น เพราะราคาบริการที่ตั้งไว้สูงเป็นการจำกัดกลุ่มนักท่องเที่ยวอยู่ในที
เมื่อนางสาลวดีได้ทำหน้าที่ฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรีและร่วมอภิรมย์กับผู้รับบริการได้นานพอสมควร เธอทราบว่า เธอตั้งครรภ์แล้ว จึงพิจารณาว่า ธรรมดาหญิงมีครรภ์ย่อมไม่เป็นที่พอใจของบุรุษ ถ้าใครทราบว่าตนมีครรภ์ ลูกค้าขาประจำก็จะพากันถอนตัวหมด อย่ากระนั้นเลย เราควรแจ้งว่าเราป่วย แล้วสั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่า นายประตูจ๋า ท่านอย่าอนุญาตให้ชายใดเข้ามา ถ้ามีคนมาถามหาดิฉัน ก็จงตอบให้เขาทราบว่า ดิฉันเป็นไข้
เมื่อเธอตั้งครรภ์ครบกำหนดคลอด ได้คลอดบุตรเป็นชาย เธอจึงสั่งสาวใช้ว่า จงวางทารกนี้ลงในกระด้งเก่าๆ แล้วนำไปทิ้งที่ข้างกองขยะ หญิงสาวใช้รับคำสั่งของนางสาลวดีแล้วนำทารกแรกคลอดไปทิ้งที่กองขยะใกล้ๆ ทางใหญ่ที่คนสัญจรไปมา
พอดีเช้าวันนั้น เจ้าชายอภัย กำลังเสด็จกลับพระราชวัง ทอดพระเนตรเห็นฝูงกาล้อมทารกนั้นอยู่ จึงตรัสถามผู้ติดตามว่า ฝูงกากำลังล้อมอะไรอยู่
ผู้ติดตามจึงกราบทูลว่า ฝูงกากำลังล้อมทารกอยู่พระเจ้าข้า
เจ้าชายอภัย ตรัสถามว่า ทารกยังมีชีวิตอยู่หรือ
ผู้ติดตามกราบทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่พระเจ้าข้า
เจ้าชายอภัย จึงตรัสว่า จงนำทารกนี้เข้าไปในพระราชวัง มอบให้แม่นมเลี้ยงดูเถิด
ผู้ติดตามได้นำไปมอบให้แม่นมในพระราชวังเลี้ยงดู ตามพระดำริของเจ้าชายอภัยและตั้งชื่อว่า ชีวก เพราะทารกนั้นยังมีชีวิตอยู่ และคำว่า โกมารภัจจ์ บ่งชี้ว่า พระราชกุมารเป็นผู้รับสั่งให้เลี้ยงดู
กาลเวลาผ่านไปตามลำดับ พระราชกุมารทรงรักชีวกเหมือนบุตรของตน จึงดูแลอย่างใกล้ชิด วันหนึ่ง ชีวกกราบทูลถามพระราชกุมารว่า ใครคือบิดามารดาที่แท้จริงของเกล้ากระหม่อมพระเจ้าข้า
พระราชกุมารรับสั่งว่า พ่อไม่รู้จักแม่ของลูกเลย แต่พ่อนี้แหละ เป็นพ่อของลูก เพราะพ่อเลี้ยงเจ้ามา
เมื่อชีวกหมดหนทางที่จะค้นหาชาติกำเนิดของตนเองพบ ด้วยพื้นฐานจิตใจที่ใฝ่ดีจึงดำริว่า คนที่ไม่มีศิลปวิทยาการ จะพึ่งพาอาศัยราชสกุลตลอดไปคงยาก จึงตัดสินใจหนีออกจากพระราชวังดั้นด้นหาแหล่งศิลปวิทยาการ พื่อเพิ่มพูนคุณค่าชีวิตให้แก่ตนเองต่อไป
สมัยนั้น เมืองตักกสิลา เป็นศูนย์รวมศิลปวิทยาการมากมายหลายสาขา ชีวกมีความปรารถนาจะศึกษาศิลปวิทยาการไว้ช่วยบรรเทาความทุกข์แก่เพื่อนมนุษย์ จึงเดินทางตรงไปยังคณะแพทยศาสตร์ ที่ให้การศึกษาเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการใช้พืชสมุนไพรเป็นตัวยาหลักในการดูแลรักษา
อาจารย์ผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ได้ทราบความตั้งใจของชีวกโกมารภัจจ์แล้ว จึงรับเขาไว้เป็นศิษย์ศึกษาวิชาการตามที่เขาได้มีความตั้งใจ ตั้งแต่เริ่มต้นศึกษาชีวกมีความสุภาพอ่อนโยนเชื่อฟังอาจารย์และรับใช้อาจารย์อย่างใกล้ชิด เป็นเหตุให้ชีวกได้ความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างครบถ้วน ดังข้อความในพระไตรปิฎกว่า ชีวกโกมารภัจจ์ เรียนได้มาก เรียนได้เร็ว ทรงจำได้ดี ที่เรียนแล้วก็ไม่ลืม
เวลาที่อาจารย์สอนหรือฝึกชีวกเองหรือฝึกศิษย์อื่นๆ ชีวกก็ยังได้รับความรู้ด้านการวินิจฉัยโรคและประสบการณ์ในด้านการขุดค้นหาตัวยา การผสมยา การปรุงยา การให้ยา การติดตามผลการรักษา จนมีความชำนาญในระดับหนึ่ง
เวลาผ่านไป 7 ปี ชีวกสงสัยว่า ความรู้และความสามารถที่ตนเองเรียนมานั้น มีมากน้อยแค่ไหน เพียงพอต่อการดูและรักษาเพื่อนมนุษย์ผู้ป่วยไข้แล้วหรือยัง วันหนึ่งจึงได้นำความสงสัยนั้นไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์ที่ตนศึกษาและรับใช้อย่างใกล้ชิดว่า ความรู้ที่ตนมีอยู่เพียงพอที่จะรักษาเพื่อนมนุษย์ได้แล้วหรือยัง
อาจารย์หมอได้ตอบชีวกด้วยความเมตตาดังพ่อมีต่อลูกว่า พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้น เธอจงถือเสียมแล้วเดินไปขุดค้นต้นไม้ใบหญ้ารอบๆ กรุงตักกสิลา ระยะ 1 โยชน์ หากพบสิ่งใดที่ไม่ใช่ตัวยาก็จงนำมาด้วย
ชีวกโกมารภัจจ์ รับคำของอาจารย์หมอแล้วถือเสียมเดินไปขุดค้นพิจารณาต้นไม้ใบหญ้าทุกต้นที่ขวางหน้า โดยมิให้คลาดสายตาไปแม้แต่ต้นเดียว เมื่อขุดขึ้นมาแล้วก็พิจารณาต้นไม้ใบหญ้าทุกส่วนมิให้พลาดคลาดสายตาแม้แต่ส่วนเดียว ไม่ว่าจะเป็น ผล ดอก ใบ ใย ยาง เปลือก ลำต้น รากแก้ว รากฝอย ของต้นไม้
เมื่อพิจารณาอย่างถ้วนทั่วแทบจะทุกตารางนิ้วในพื้นที่บริเวณกว้างยาว 1 โยชน์ ตามที่อาจารย์หมอได้สั่งไป จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาหาอาจารย์หมอด้วยคำตอบจากงานวิจัยภาคสนามเชิงปฏิบัติการอย่างละเอียดว่า ไม่มีต้นไม้ใบหญ้าต้นใดหรือสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาเลย ทุกอย่างเป็นตัวยาทั้งสิ้น
อาจารย์หมอได้ฟังรายงานดังนั้น จึงกล่าวว่า พ่อชีวก เธอเรียนได้ดีเจนจบครบถ้วนดีแล้ว ความรู้ของเธอมากพอจะดูแลรักษาเพื่อนมนุษย์และได้รับรางวัลจากการรักษาพอที่จะเลี้ยงชีพได้อย่างสบาย
เป็นอันว่า ชีวกโกมารภัจจ์ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยตักกสิลา ด้วยการสำรวจ ค้นคว้าตัวยาอย่างครบถ้วนไม่มีเหลือ นับเป็นนักศึกษาแพทย์ที่จบการศึกษาด้วยคะแนนยอดเยี่ยม ความเก่งกล้าด้านตัวยาสมุนไพรที่ไร้เทียมทาน ทำให้ชื่อเสียงของหมอชีวกขจรขจายไปอย่างรวดเร็ว และยังคงอยู่ถึงปัจจุบันนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง 2,550 กว่าปีแล้วก็ตาม ดังโคลงโลกนิติที่ว่า สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา นั้นแล
อ้างอิง : ผู้เขียนดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ วัดพุทธปัญญา แคลิฟอร์เนีย พิมพ์ในนิตยสาร "เทคโนโลยีชาวบ้าน" หน้าธรรมะจากวัด หน้า 112 ฉบับวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 455