November 24 2024 05:15:42
เมนู
หน้าแรก
ใบคำร้องฯ
ผลสอบ ๒๕๔๓-๖๖
ขอบข่ายธรรมศึกษา ๒๕๖๔
หนังสือหลักสูตรชั้นตรี ประถม
หนังสือหลักสูตรชั้นตรี มัธยม
หนังสือหลักสูตรชั้นตรี อุดม
รับข้อสอบ ๑
รับข้อสอบ ๒
รับข้อสอบ ๓
ทดสอบสอบความรู้จากข้อสอบธรรมศึกษา 2543-2562
eLearning ธรรมศึกษา
วีดิโอสอนธรรมศึกษา
ระเบียบการจัดสอบ ๒๕๖๐
กระดาษเขียนกระทู้ธรรม ธศ.
สมุดลงนามฯ (สมุดเยี่ยม)
คำปราศรัยฯ ธรรมศึกษา
ใบปิดหน้าซองบรรจุคำตอบ
บัญชีบรรจุใบตอบปรนัย
ทะเบียนพัสดุหลังสอบ นธ.
ทะเบียนพัสดุหลังสอบ ธศ.
ใบตอบธรรมศึกษาแบบฝน (แบบใหม่ ๒๕๖๑)
วิธีระบายเลขที่สอบ (ธรรมศึกษา)
นักธรรม (ฟอร์มแจ้งสถิติ)
นักธรรม (ฟอร์มขอแก้ไข)
ธรรมศึกษา (ฟอร์มแจ้งสถิติ)
ธรรมศึกษา (ฟอร์มขอแก้ไข)
ดาวน์โหลด
ปัญหา-เฉลย นักธรรม ๖๔
ปัญหา-เฉลย น.ธ.-ธ.ศ. ๖๕
สถิติสอบธรรม ๒๕๖๒
อันดับสำนักเรียนสอบได้มาก

ประวัตินักธรรม
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
ทำเนียบแม่กองธรรม
ทำเนียบผู้บริหารปัจจุบัน
แม่กองธรรมสนามหลวง
เจ้าหน้าที่สำนักงาน
หนังสือประกอบหลักสูตร
ปรับปรุงหลักสูตรธรรมศึกษา
ระเบียบปฏิบัติทั่วไป
กฏกระทรวง พ.ศ.๒๕๔๘

การขอใบรับรอง

ห้องแสดงภาพ
ห้องสนทนา
บทความ
เว็บลิงค์
คำถามยอดนิยม
ค้นหา

ส่งบทความ
ปฏิทินกิจกรรม

วิดีโอแกลอรี่
เพิ่มวิดีโอ
วีดีทัศน์เกี่ยวกับสอบธรรม 2553
ผู้มีสิทธิสอบ
ฝ่ายธุรการ
รายชื่อรัฐของสหรัฐอเมริกา
ติดต่อสำนักเรียน
จศป.ครูธรรม
ติดต่อสำนักเรียน
ทั่วประเทศ
ส่วนกลาง
ส่วนภูมิภาค (ม)
ส่วนภูมิภาค (ธ)

เจ้าคณะตำบล-อำเภอ-จังหวัด
วัดทั่วประเทศ
สถานศึกษาทั่วประเทศ

สนามสอบทั่วประเทศ
สนามสอบนักธรรม ส่วนกลาง
ระเบียบปฏิบัติ
MOU ธรรมศึกษา
คำปราศรัยฯ นธ.ตรี
คำปราศรัยฯ นธ.โท-เอก
คำปราศรัยฯ ธรรมศึกษา
ใบปิดหน้าซองบรรจุคำตอบ

ใบตอบธรรมศึกษาแบบฝน
คำอธิบายการฝนใบคำตอบ

ระเบียบการจัดสอบ
กำหนดวันสอบ ๒๕๖๗
ระเบียบฯ ส่วนภูมิภาค ๒๕๖๗
ระเบียบฯ ส่วนกลาง ๒๕๖๗
ระเบียบฯ ส่วนกลาง ภาคผนวก ๒๕๖๗
เล่มสนามสอบ สมัยที่ ๒

วิธีการตรวจข้อสอบนักธรรม
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
สนามหลวง แผนกบาลี
ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย
ม.มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
กระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงวัฒนธรรม
กรมการศาสนา
หัวข้อแนะนำ
พระมหาสมณเจ้าฯ

งานฉลอง ๙๗ พระชันษา

ดูสถิติการเข้าชมเว็บของคุณ
Youtube Gallery
   วิดีโอทั้งหมด (11)
   พระประวัติ และ ประวัติ (3)
   การศึกษาของสงฆ์ไทย (1)
   พิธีเปิดสอบธรรม พ.ศ. 2553 (0)
   คู่มือ-เทคนิค-วิธีการ (7)
วิดีโอล่าสุด
video

video

สนง.พระพุทธศาสนาฯ



ชวนเพื่อนมาชมเว็บนี้

อีเมล์คุณ:
ส่งถึงเพื่อน:
คัดลอกสำเนา?
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส : พระประวัติตรัสเล่า (๔)



พระประวัติตรัสเล่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(เริ่มทรงพระนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘)

๕. คราวทรงพระเจริญ

แต่เป็นบุญของเราที่กลับตัวได้เร็ว ตั้งแต่อายุได้ ๑๗ ปี ฯ ทางที่กลับตัวได้ ก็เป็นอย่างภาษิตว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” นั้นเอง ฯ เราเข้าเฝ้าในวังทุกวัน ได้รู้จักกับหมอปีเตอร์เคาวันชาวสกอตช์ เป็นแพทย์หลวง เวลานั้นอายุแกพ้นยี่สิบห้าแล้ว แต่ยังไม่ถึงสามสิบ แกเป็นฝรั่งสันโดษอย่างที่คนหนุ่มเรียกว่าฤๅษี ไม่รักสนุกในทางเป็นนักเลง เรานิยมแกว่าเป็นฝรั่ง เราก็ผูกความคุ้นเคยกับแก ได้เห็นอัธยาศัยและจรรยาของแก และได้รับคำตักเตือนของเเกเข้าด้วย เกิดนิยมตาม เห็นความละเลิงที่หมอเคาวันไม่ชอบเป็นพล่านไป น้อมใจมาเพื่อเอาอย่างหมอเคาวัน จึงหายละเลิงลงทุกที จนกลายเป็นฤๅษีไปตามหมอเคาวันที่สุด แกว่ายังเด็กและห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ แกเองไม่สูบเหมือนกัน เราก็สมัครทำตาม และไม่ได้สูบบุหรี่จนทุกวันนี้ เราเห็นอานิสงส์ เราเป็นผู้มีกายไม่แข็งแรง เป็นผลแห่งความเจ็บใหญ่เมื่อยังเล็ก ถ้าสูบบุหรี่ แม้มีอายุยืนมาถึงบัดนี้ ก็คงมีโรคภายในประจำตัว หมอเคาวันเป็นทางกลับตัวของเราเช่นนี้ เมื่อภายหลังเราจึงนับถือแกฉันอาจารย์ ในครั้งนั้นและต่อมา แกก็ได้แนะเราในภาษาอังกฤษบ้าง ในวิชาแพทย์บ้างเหมือนกัน ฯ

ส่วนความสุรุ่ยสุร่ายนั้น เราได้นิมิตและงดได้ตามลำพังตนเอง ฯ วันหนึ่ง เวลาบ่ายจวนเย็น ที่เคยขึ้นม้าหรือขึ้นรถเที่ยวเล่นหรือไปข้างไหน เผอิญฝนตกไปไม่ได้ ที่คนหนุ่มรู้สึกเหงาสักเพียงไร เรานอนเล่นอยู่บนเก้าอี้นอนในเรือน ตาส่ายแลดูนั่นดูนี่ สิ่งที่ตาเราจับอยู่ที่คราวแรกคือโต๊ะขนาดกลาง ตั้งอยู่ข้างเก้าอีที่เรานอน เป็นชนิดที่ตั้งกลางห้องสำหรับวางของต่างๆ โต๊ะตัวนั้นเราเห็นที่ห้างช่างงามน่ารักจริงๆ ทั้งรูปพรรณทั้งฝีมือ ในวันนั้นไม้พื้นโต๊ะที่เคยเห็นเป็นแผ่นเดียว ก็แลเห็นเป็นไม้เพลาะปากไม้ห่างออกโร่ ลวดที่ราวกับคัดขึ้นจากเนื้อไม้นั่นเอง ก็ปรากฏเป็นไม้หรือเส้นหวายฝ่าซีกติดเข้า ผิวที่เห็นขัดเป็นเงาโง้ง ก็ปรากฏว่าเป็นแต่ทาน้ำมันให้ขึ้นผิว คราวนี้นึกถึงราคาของโต๊ะนั้นแรกซื้อกับราคาในวันนั้น อันจะพึงผิดกันมาก แต่หาได้นึกถึงประโยชน์ที่ได้ใช้โต๊ะนั้นมาโดยกาลด้วยไม่ เห็นไกลกันมาก เห็นซื้อมาเสียเปล่า

คราวนี้จับปรารภถึงของอื่นบรรดามีในเรือนก็เห็นเป็นเช่นนั้น แต่นั้นนึกถึงของที่ซื้อมาแล้วไม่ชอบใจ ให้คนอื่นเสีย ยิ่งเห็นน่าเสียดายมาก ตั้งแต่นั้นสงบความเห็นอะไรอยากได้เสียได้ ไม่ค่อยไปเที่ยวห้าง ไม่ค่อยได้ซื้ออะไร ใบเสร็จของห้างที่ส่งมาเก็บเงินใบหลังที่สุดเรายังจำได้ มีราคาบาทเดียว ค่ากระดุมทองเหลืองชุบทองสำรับหนึ่ง ที่ใช้ติดเสื้อเครื่องแต่งตัวอย่างแปลกๆ ที่เรียกว่าแฟนซีเดรส ในการขึ้นปีใหม่ เขาเห็นเราเคยซื้ออะไรบ่อยๆ เขาก็รอไว้ ต่อจวนขึ้นปีใหม่ของเขา เขาจึงส่งใบเสร็จมาเก็บเงิน หลายเดือนล่วงมาจนลืมแล้ว ฯ

ตกมาถึงเวลานี้ ขี่ม้าที่เคยวิ่งหรือห้อ ก็เป็นแต่เดิน รีบก็เพียงวิ่งเหยาะ ขี่รถที่เคยแล่นปรื๋อ ก็เป็นแต่เพียงวิ่งอย่างปรกติ สวมเสื้อตัดร้านเจ๊ก ก็ไม่เห็นเป็นเร่อร่า กลับเห็นเป็นเก๋ รู้จักเปลือง รู้จักสังวรณ์ไม่เห่อ ของร้านแขกที่เขาไปซื้อมาให้ ก็ใช้ได้เหมือนของห้าง ศรีไม่ได้อยู่ที่ของ อยู่ที่ราคาถูก ฯ ในเวลานั้นเรายังไม่รู้จักหาเงิน แต่รู้จักประหยัดทรัพย์ลงได้แล้ว ลดรายจ่ายลงได้ ก็เหมือนค่อยหาเงินได้บ้าง ฯ แม้หาเงินได้คล่อง แต่ไม่รู้จักประหยัดทรัพย์ ก็ไม่เป็นการไม่พ้นขาดแคลน หาได้น้อย แต่รู้จักประหยัด ยังพอเอาตัวรอด ฯ

หมอเคาวันกล่อมเกลาเราให้เรียบเข้าได้อย่างนี้แล้ว ถ้ามีปัจจัยชักนำ เราก็คงเข้าวัดโดยง่าย ฯ ปัจจัยนั้นได้มีจริงด้วย ฯ ตั้งแต่เราสึกจากเณรแล้ว ไม่ใช่เทศกาลเช่นเข้าพรรษาหรือมีงาน เราหาได้ไปเฝ้าเสด็จพระอุปัชฌายะไม่ ยิ่งกำลังลำพองยิ่งหันหลังให้วัดทีเดียว เหตุนั้นเราจึงห่างจากท่าน แม้ในเวลานั้นก็ยังไม่ได้คิดจะเข้าวัด ฯ คืนหนึ่งนอนหลับฝันว่าได้ไปเฝ้าเสด็จพระอุปัชฌายะ ได้รับปฏิสันถารของท่านอันจับใจ โดยปรกติท่านช่างตรัสอยู่ด้วย อาจจะทรงทำปฏิสันถารเช่นนั้น ตื่นขึ้นปฏิสันถารของท่านได้จับใจยังไม่หาย ปรารถนาจะได้รับอย่างนั้นจริงๆ คิดจะไปเฝ้า แต่หายมาเสียนาน เกรงจะเข้ารอยไม่ถูก จะเก้อ เห็นทางอยู่อย่างนึ่ง จึงเอาโคมนาฬิกาใบหนึ่งตามด้วยน้ำมันมะพร้าว มีเครื่องจักรอยู่ใต้ถ้วยแก้วนำมัน มีเข็มชี้โมงลิบดาขึ้นมาจากเครื่องจักรนั้น ถึงโป๊ะครอบที่เขียนเลขบอกโมงและลิบดา เป็นของสำหรับตั้งในห้องนอน พึ่งมีเข้ามา ตามความเห็นของเรา เป็นของแปลกไปถวาย เป็นทีว่าได้พบของแปลกนึกถึงท่าน ได้รับปฏิสันถารของท่านจับใจเหมือนในฝัน ตั้งแต่นั้น หาช่องไปเฝ้าอีก ค่อยง่ายเข้า ค่อยสนิทเข้าโดยลำดับ จนไม่ต้องหาช่อง ในที่สุดท่านทรงคุ้นเคยเป็นคนโปรดของท่าน ได้รับประทานพระทนต์ตั้งแต่ครั้งกระนั้น ฯ ในเวลาไปเฝ้าได้รับพระดำรัสในทางคดีโลกบ้าง ในทางคดีธรรมบ้าง โดยที่สุดแบบแผนในทางพระ ได้รับประทานสมุดเรื่องต่างๆ ของท่านไปลอกไว้เป็นฉบับเป็นอันมาก ฯ




สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์)

การเข้าถึงเสด็จพระอุปัชฌายะ นำให้สนใจในโคลง เรียนโหราศาสตร์ อ่านหนังสือธรรม ตามเสด็จท่าน ฯ

โคลงเคยเล่นมาบ้างแล้ว ไม่ต้องหาครู เป็นแต่หมั่นอ่านเรื่องต่างๆ สนใจในพากย์ต่างๆ หัดแต่งเรื่องต่างๆ เท่านั้น ฯ เรายังไม่เคยแต่งเรื่องยาวจนบวชเป็นพระแล้ว จึงได้แต่งเรื่องทรงผนวชของล้นเกล้าฯ แต่เสียดายว่าในตอนทรงผนวชที่เราไม่ได้เห็นเอง และบางอย่างไม่ได้รับพระกระแสรับสั่งของล้นเกล้าฯ และของเสด็จพระอุปัชฌายะ ยังไม่ถูกก็มี คิดจะแก้แต่ไม่มีโอกาสเสียแล้ว ฯ

เหตุนำให้เเต่งหนังสือเรื่องนี้ เมื่อครั้งเราเข้ารับราชการแล้ว ล้นเกล้าฯ ทรงทราบว่าเราเป็นคนโปรดของเสด็จพระอุปัชฌายะ จึงตรัสใช้ให้ไปเฝ้าด้วยพระราชธุระเนืองๆ คราวหนึ่งตรัสใช้ให้เชิญพระราชหัตถเลขาคำโคลงทรงอาราธนาเพื่อทรงแต่งเรื่องทรงผนวช ในพระราชหัตถเลขานั้นทูลว่าถ้าเสด็จพระอุปัชฌายะมีพระประสงค์จะทรงทราบการนั้นๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง จงตรัสสั่งเราไปกราบทูลถาม จะทรงเล่ามาถวาย เหตุนั้นเราจึงได้รับพระกระแสของล้นเกล้าฯ ในเรื่องนี้มาก พระนิพนธ์ของเสด็จอุปัชฌายะย่อไป ไม่พอพระราชประสงค์ เราปรารภถึงเรื่องนี้ ในคราวฟื้นจากไข้ สามเดือนยังทำอะไรอันเป็นการไม่ได้ จึงได้แต่งเรื่องนั้นๆ ในครั้งนั้น ฯ

แม้ไม่ได้แต่งเรื่องเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ยังได้ออกหน้าในทางโคลงอยู่บ้าง ครั้งทรงพระราชนิพนธ์โคลงนิทราชาคริตตอนอาบูหะซัน เมื่อกำลังพิมพ์โปรดให้ส่งใบแก้หน้าแท่นไปให้ท่านจินตกวี ๗ หรือ ๑๐ ท่าน ท่านละใบ ตรวจแก้แล้วส่งถวาย ทรงพระวินิจฉัยลงในใบแก้อีกใบหนึ่งแล้วส่งไปแก้พิมพ์ พวกเราผู้เข้าในจำนวนนั้นยังมีอีก ที่จำได้ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการและกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ได้มีธุระเสมอกับท่านจินตกวีชั้นสูงเช่น เสด็จป้ากรมหลวงวรเสรฐสุดา กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ก็น่าจะรู้สึกว่ามีเกียรติยศอยู่ เราได้ชื่อในทางตาไวจับคำผิดลักษณะโคลงได้บ่อยๆ ผู้ตรวจเหล่านี้มีรายชื่อแจ้งในท้ายพระราชนิพนธ์นั้นแล้ว ฯ

เมื่อบวชพระแล้ว ทรงขอแรงแต่งโคลงพงศาวดารบ้าง โคลงยอพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์บ้าง เป็นบทๆ ใช้ในงานพระเมรุ ฯ นี้นับว่าออกหน้าในทางโคลง ตั้งแต่เป็นผู้ใหญ่และมีการทางพระศาสนาแล้ว ไม่ได้สนใจอีก ใฝ่ใจไปในทางเรียงเรื่องร้อยแก้ว เพราะได้ใช้มากในธุระ ฯ ครั้งนั้นเราแต่งฉันท์ไม่เป็นเลย ข้อขัดข้องคือรู้จักศัพท์ไม่พอ มาแต่งเป็นต่อเมื่อรู้ภาษามคธและแต่คาถาเป็นแล้ว ไม่เคยเรียงเรื่องยาว ท่อนที่ออกหน้า คือคำฉันท์แปลศราทธพรตคาถาในพระราชกุศลสตมาหสมัย ที่พระศพสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร และคำร้องถวายชัยมงคลของนักเรียนมหามงกุฎราชวิทยาลัย ฯ กลอนแปดไม่เคยทำเลย จะลองบ้าง พ้นเวลามาแล้วให้นึกกระดาก ฯ เราไม่พอใจลึกซึ้งในการแต่งคำประพันธ์ จึงไม่ตั้งใจหาดีในทางนี้ เป็นแต่สำเหนียกพอเป็นกับเขาบ้างเท่านั้น ฯ

เราเริ่มเรียนโหราศาสตร์กับขุนเทพยากรณ์ ทัด) ตั้งต้นหัดทำปฏิทินก่อน เข้าใจยากจริงๆ เพราะเอาโหราศาสตร์กับพยากรณ์ศาสตร์รวมเข้าเป็นศาสตร์อันเดียวกัน นำให้เข้าใจว่าเรียนโหราศาสตร์ ก็เพื่อมีวิชารู้จักทำนายเหตุการณ์ต่างๆ จึงมุ่งไปเสียในทางนั้น และเพราะวิธีสอนบกพร่องด้วย ไม่ได้อธิบายให้เข้าใจรสคือกิจของโหราศาสตร์ว่าเป็นเช่นไร ปฏิทินคืออะไร ชื่อต่างๆ คือศักราช มาสเกณฑ์ อวมาน หรคุณและอื่นๆ หมายเอาอะไร เหตุไฉนจึงตั้งศักราชแล้วกระจายออกเป็นองค์เหล่านั้น ราศี องศา ลิบดา กำหนดหมายอะไร ความเดินของพระอาทิตย์พระจันทร์และดาวพระเคราะห์ ที่เรียกว่ามัธยมก็ดี สมผุสก็ดี ต่างกันอย่างไร เป็นอาทิ ในตำราบอกว่า ถ้าจะทำองค์ชื่อนั้นให้ตั้งเกณฑ์อย่างนั้น เเล้วทำเลขอย่างนั้นๆ เริ่มตั้งแต่วันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับโหราศาสตร์เลย แต่เกี่ยวกับพยากรณ์ศาสตร์ กว่าจะคลำเข้าใจได้แต่ละอย่างช่างยากเสียจริงๆ ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าโหรจะอธิบายได้ทุกคน โหรไม่รู้จักดาวฤกษ์หรือแม้ดาวพระเคราะห์ เป็นมีแน่

ขุนเทพยากรณ์ (ทัด) ถึงแก่กรรมในระหว่างเรียน ได้ไปขอเรียนกับครูเปียครั้งยังบวช และเป็นครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ ที่วัดราชประดิษฐ์ ตั้งใจจะทำปฏิทินให้จบปี ทำร่วมมาได้มากแล้วถึงสมผุสพระเคราะห์ เห็นจะกว่าครึ่งแล้ว จับเล่นธรรมะจัดเข้า เห็นเหลวไหลเลยเลิก เราจึงไม่รู้มาก พยากรณ์ศาสตร์ยิ่งรู้น้อย เป็นแต่เสด็จพระอุปัชฌายะทรงแนะประทานบ้าง ไม่ได้เรียนจริงๆ จังๆ แต่เรายังได้ใช้ความรู้โหราศาสตร์อยู่บ้าง ได้ช่วยชำระปูมเก่าถวายเสด็จพระอุปัชฌายะ ฯ

เราเรียนธรรมด้วยอ่านหนังสือเป็นพื้น ได้ฟังเสด็จพระอุปัชฌายะตรัสด้วย คราวนั้นสบเวลาที่สมเด็จพระวันรัต (พุทธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เริ่มเรียงหนังสือธรรมลงพิมพ์แจก หนังสือนั้นใช้สำนวนดาดเป็นคำสอนคนสามัญเข้าใจง่าย ช่วยเกื้อกูลความเรียนธรรมของเราให้กว้างขวางออกไป เมื่อสนใจอยู่ ความเบื่อย่อมไม่มี ธรรมที่เป็นเพียงปฏิบัติกายวาจาใจเรียบร้อย อันตรงกันข้ามต่อความลำพองที่เคยมาแล้ว ยังเห็นเป็นละเอียดพอแล้ว ครั้นได้เรียนธรรมที่เป็นปรมัตถ์แจกเบญจขันธ์ ไตรลักษณ์ อริยสัจสี่ และปฏิจจสมุปบาท ยิ่งตื่นใหญ่

แต่นิสัยของเราเป็นผู้เชื่อไม่ลงทุกอย่างไป และธรรมกถานั้นๆ มักมีข้อความอันไม่น่าเชื่อปกคลุมหุ้มห่ออยู่มากบ้างน้อยบ้าง นี้แหละเป็นเครื่องสะดุดของเราให้ชะงัก แต่เมื่อนิยมในธรรมมีแล้ว ทั้งได้ยินท่านผู้ใหญ่ค้านบางเรื่องไว้ก็มี ก็ปลงใจเลือกข้อที่เรารับรองได้ และสลัดข้อที่เรารับรองไม่ได้ออกเสีย เช่นคำเปรียบว่าร่อนทองจากทราย เรื่องที่ถูกอารมณ์ของเราคือกาลามสูตร ที่สอนไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย ให้ใช้ความดำริของตนเป็นที่ตั้ง ความรู้ความเข้าใจของเราในครั้งนั้นเป็นอย่างนักธรรมใหม่คือไม่เชื่อหัวดายไป เลือกเชื่อบางอย่าง อย่างที่ไม่เชื่อ เข้าใจว่าผู้หนึ่งซึ่งหาความละอายมิได้ แทรกเข้าไว้ ไม่คำนึงถึงที่เรียกว่า ช่างเถิด แต่ยังไม่เคยได้ความรู้ในเชิงอักษรวิทยาว่าเป็นปริศนาธรรมก็มี เช่นเรื่องมารวิชัย เหมาเสียว่าไม่จริง ไม่เคยนึกว่าเป็นเรื่องแต่งเปรียบน้ำพระหฤทัยของพระพุทธเจ้า คิดหวนกลับหลังด้วยอำนาจความอาลัย อันพระองค์หักเสียได้ด้วยเอาความมุ่งดีมาข่ม แต่เราไม่ใช่ชนิดคนอวดรู้ในทางนี้ ที่เขาตั้งชื่อว่า "ทำโมห์" ฯ

เราลงสันนิษฐานว่า จะรู้ธรรมเป็นหลักและกว้างขวาง ต้องรู้ภาษามคธ จะได้อ่านพระไตรปิฎกได้เอง ไม่เช่นนั้นจะอ่านได้แต่เรื่องแปลเรื่องแต่ง ที่มักเป็นไปตามใจของผู้แปลผู้แต่ง ในเวลานั้นพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) อาจารย์เดิมของเรา ย้ายบ้านจากหน้าวัดชนะสงครามไปอยู่บางบำหรุ คลองบางกอกน้อย เหลือจะเรียนกับแกได้ พระปริยัติธรรมธาดา (ชั่ง) อยู่บ้านหน้าวัดรังษีสุทธาวาสไม่ไกล ทั้งได้เคยเป็นครูสอนมาบ้างแล้ว จึงขอให้แกมาสอน ฯ ได้ยินเขาพูดกันว่า จะรู้ภาษามคธกว้างขวาง ต้องเรียนมูลคือกัจจายนปกรณ์ บทมาลาแคบไป ไม่พอจะให้รู้กว้างขวาง เรียนทั้งทีปรารถนาจะรู้ดีที่สุดตามจะเป็นได้ ทั้งบทมาลาก็ได้เคยเรียนมาแล้ว รู้ทางอยู่ จึงตกลงเป็นเรียนมูล ฯ ชั้นแรกมีสูตรคือ หัวข้อสำหรับท่องจำให้ได้ก่อน ผูกโตอยู่ เราเล่าพลางเรียนแปลคำอธิบายใจความของสูตรนั้น ที่เขาเรียกว่าพฤตินัยปกรณ์ไปพลาง ครูของเราดูเหมือนไม่ชำนาญมูล แต่พอสอนให้แปลไปได้ แต่ไม่ถนัดแนะให้เข้าใจความที่กล่าว ตกเป็นหน้าที่ของเราจะเข้าใจเอาเอง ลงปลายแกหาหนังสือที่แปลสำเร็จตลอดถึงคำอธิบายในภาษาไทย ซึ่งเรียกว่านิสัยมูลมาให้อ่านเอาเอง ฯ

การเรียนของเรา อาจารย์มูลเขาคงกล่าวว่าเรียนอย่างลวก ไม่ละเอียดลออ เรากล่าวเอง เรียนแต่พอจับเค้าได้ แม้อย่างนั้นกว่าจะจบถึง ๑๐ เดือน นี้เป็นอย่างเรียนเร็ว เขาเรียนกันตั้งปีสองปี ฯ เราอาจสังเกตเห็นว่า ระเบียบที่จัดในมูลยังไม่ดี มีก้าวก่ายกล่าวความยืดยาวฟั่นเฝือเหลือความสามารถของผู้แรกเรียนจะทรงไว้อยู่ ฯ ครั้นขึ้นคัมภีร์คือจับเรียนเรื่องนิทานในอรรถกถาธรรมบท เป็นเรื่องดาดของเราในเวลานี้แล้ว แต่เราเลือกเอาหนังสือที่ครูถนัดว่าเป็นดี จึงตกลงใจเรียนอรรถกถาธรรมบท ฯ ทั้งเรียนมูลมาแล้ว และแปลพฤติของมูลได้เองแล้ว เริ่มเรียนอรรถกถาธรรมบทยังงง กว่าจะเอาความรู้ในมูลมาใช้เป็นเครื่องกำหนดได้ ก็เปลืองเวลาอยู่ ฯ เรียนคราวนี้ รู้จักใช้ความสังเกต เอาความเข้าใจได้อาจแปลเองได้บ้างตามลำพัง ฯ เมื่อเรียนในทางนี้เราเลือกสร้างพระไตรปิฎกขึ้น วานกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ อธิบดีกรมราชบัณฑิตเป็นธุระ หนังสือบาลีพระวินัยไม่ยากนัก อ่านเข้าใจความได้ติดต่อกันเป็นเรื่อง ช่างสนุกจริงๆ ฯ

ตั้งแต่เข้าวัดมา และจับเรียนธรรมมา เราปลูกความพอใจในความเป็นสมณะขึ้นโดยลำดับ นึกว่าบวชก็ได้ แต่ยังไม่ได้น้อมในไปส่วนเดียว เคยเข็ดเมื่อครั้งยังรุ่น เรามักจืดจางเร็ว ที่สุดห้องเรือนที่แต่งไว้อย่างหนึ่ง ครั้นชินตาจืดไป ต้องยักย้ายแต่งใหม่ มาถึงเวลานี้จึงยังไม่ไว้ใจตัวเองเกรงจะไม่ตลอดไปได้ บวชอยู่นานแล้วสึก ไม่ได้การเสียเวลาในทางฆราวาส ฯ

เมื่ออายุเราได้ ๑๗ ปี กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ทรงผนวชพระ ในเวลานั้นหม่อมเจ้าหญิงจรัสโฉม พระบุตรีใหญ่ของท่านยังอยู่ในครรภ์ ท่านทรงฝากเราให้เป็นธุระ เธอคลอดในเวลาท่านยังทรงผนวช เราได้เอาเป็นธุระขวนขวายตลอดการเป็นผู้รับเธอเป็นลูก ในเวลาที่เขาทำพิธีมอบให้เป็นผู้รับ เราพึ่งได้เห็นเป็นครั้งแรก ทั้งเป็นครั้งแรกที่ทำการเกี่ยวกับผู้อื่นในหน้าที่ของผู้ใหญ่ เราเอาธุระมาโดยเรียบร้อยจนถึงท่านลาผนวช ฯ




พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์

อนึ่ง กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ทรงรับราชการว่าช่างสนะ คือช่างเย็บผู้ชาย ในเวลานั้น กำลังท่านยังทรงผนวช เตรียมการเฉลิมพระที่นั่งวโรภาสพิมานที่พระราชวังบางปะอิน ล้นเกล้าฯ รับสั่งให้เราดูการแทนกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ มีหน้าที่ในการเย็บเสี้ยวอันเป็นของผู้ชาย มีทำธงต่างๆ มีธงช้างเป็นต้น สำหรับใช้ตกแต่งในงาน ครั้งนั้นธงยังไม่มีที่ซื้อ ต้องทำเอาเองทั้งนั้น เรายังไม่เคยงานออกวิตกว่าจะไม่แล้วทันราชการ แต่ก็ทำจนทัน รับสั่งว่าจ่ายสิ้นเท่าไรให้ตั้งเบิก เราไม่รู้ว่าผ้าต่างๆ ที่จัดซื้อมาใช้นั้นราคาอย่างไร ฉวยว่าซื้อแพงไปจะเป็นที่ระแวงผิดว่าหาเศษ ไม่กล้าเบิก แต่ราชการสำเร็จเป็นที่พอใจแล้ว ฯ

ต่อมาถึงงานฉัตรมงคล เราได้รับพระราชทานพานทอง คือ พานหมากใหญ่มีเครื่องในพร้อม ๑ เต้าน้ำ ๑ กระโถนเล็ก ๑ เป็นเครื่องยศ กับดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า พร้อมกับกรมพระสมมตอมรพันธุ์ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีชวดอัฐศก จุลศักราช ๑๒๓๘ ตรงกับวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๙ ที่ยังทำตามจันทรคติกาลที่พระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิม และได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำลงยาราชาวดี มีตราพระมหามงกุฎหมายรัชกาลอยู่บนหลัง เมื่อคราวงานพระราชพิธีตรุษ วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๘ มีนาคม ปีเดียวกัน ฯ

การได้รับพระราชทานพานทองนี้ ไม่ดีใจเท่าไรนัก ถ้าทูลกระหม่อมยังทรงพระชนม์อยู่ ก็คงได้รับพระราชทานมาแต่ครั้งยังเป็นเด็ก ตามอย่างพระเจ้าลูกยาเธออื่น และได้ยินเขาพูดว่า เราอยู่ในจำนวนแห่งพระเจ้าลูกเธอ ผู้จะได้รับพระราชทานในคราวอันจะมาถึง ครั้นตกมาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พานทองจึงเลื่อนออกไปตามภาวะตามอายุ ทั้งในเวลานั้นเราเข้าวัดอยู่แล้วด้วย ความรู้สึกมีหน้ามีตาก็พอทุเลา เป็นแต่เห็นว่าได้ดีกว่าไม่ได้ ไม่ได้ออกจะเสีย ดูเป็นคนเหลวไหลหรือไม่ได้ราชการ ส่วนตราทุติยจุลจอมเกล้าเล่า เป็นตราสกุลเห็นจืด ครั้งนั้นเขานิยมตราความชอบมากกว่า เพราะในประกาศนียบัตรระบุความชอบลงไว้ด้วย คล้ายประกาศตั้งกรมอย่างเตี้ยๆ ส่วนตราสกุลในประกาศนียบัตรแสดงแต่เพียงว่าทรงเห็นสมควรจะได้รับ เรายังไม่มีราชการเป็นหลักฐาน สิ้นหวังตราความชอบ ในพวกเราที่ได้เป็นอย่างสูง ก็กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เพียงมัณฑนาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ เท่านั้น แม้ตราสกุลถ้าได้รับพระราชทานในเวลาชอบแต่งตัวก็คงไม่จืดทีเดียว ได้รับพระราชทานแล้ว ไม่ได้เคยแต่งถ่ายรูปสักคราวหนึ่ง ต่อเมื่อเป็นผู้ใหญ่ในฝ่ายพระแล้ว จึงรู้ว่า เวลาที่ไม่อยากได้นั้นแหละเป็นเวลาที่สมควรแท้ที่ตะได้รับพระราชทาน เราเองจักยกย่องใครๆ ก็เลือกผู้ที่เขาไม่อยาก และจักไม่ตื่นเต้น ฯ

แม้เราเป็นคนเข้าวัดแล้ว ก็ยังต้องออกหน้าเป็นคราวๆ เพราะเป็นคนเคยคบฝรั่ง รู้จักวัตรของฝรั่ง เช่นมีเจ้าฝรั่งเข้ามาเป็นครั้งแรก ก็ได้ออกแขกได้รับเชิญในงานเลี้ยงเวลาค่ำและในการสโมสร ล้นเกล้าฯ ยังไม่ทรงทราบว่าเราเข้าวัด ฯ

เมื่ออายุเราได้ ๑๘ ปี ล้นเกล้าฯ โปรดเกล้าฯให้เข้ารับราชการประจำในกรมราชเลขา มีหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานสารบบฎีกา หรือกล่าวอีกโวหารหนึ่ง เป็นราชเลขานุการในทางอรรถคดี ฯ ในครั้งนั้นศาลที่พิจารณาอรรถคดียังแยกกันอยู่ตามกรมนั้นๆ (ยังไม่ได้จัดกระทรวง) ต่างทูลเกล้าฯถวายสารบบประจำเดือน มารวมอยู่ในพระองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน และความฏีกาในครั้งนั้น ศาลฏีกาเรียงพระราชวินิจฉัยในท้ายฎีกาทูลเกล้าฯถวาย ทรงลงพระบรมนามาภิไธยแล้ว จึงจะบังคับได้ตามนั้น ถ้าไม่โปรดตามที่เรียงมาก็ทรงแก้ใหม่ ฯ มีพระราชประสงค์จะรวมราชการทางนี้เป็นแผนกหนึ่ง มีเจ้าพนักงานรักษาการ จึงโปรดเกล้าฯให้เรารับราชการในหน้าที่นี้ เราได้รับราชการตั้งแต่วันพฤหัสบดี เดือน ๘ อุตราษาฒ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ตรงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๒๐ ฯ ราชการที่เราทำนั้น เมื่อกรมนั้นๆ อันมีหน้าที่พิจารณาอรรถคดี ทูลเกล้าฯถวายสารบบประจำเดือนแล้ว พระราชทานแก่เรา เรารวบรวมยอดฎีกาถวายอีกใบหนึ่ง เพื่อทรงทราบว่าในเดือนหนึ่งๆคดีทุกกรมเกิดใหม่เท่านั้นๆ ตัดสินเสร็จไปแล้วเท่านั้นๆ ยังคงค้างพิจารณาเท่านั้นๆ ฯ

ดูเพียงสารบบก็พอรู้ได้ว่า การพิจารณาคดียังหละหลวมมาก กรมหนึ่งพิจารณาเดือนหนึ่งไม่ได้กี่เรื่อง กรมนครบาลมีหน้าที่พิจารณาความอาชญาเดือนหนึ่งแล้วเพียง ๒ เรื่องก็มี ที่สุดจนรวมยอดคดีก็ไม่ถูกกับรายคดี จะฟังเอาว่ารายคดีเป็นถูก จำนวนเดือนต่อมา อาจยกรายเก่ามาผิดอีก บางทีตุลาการเองจะรู้ไม่ได้ทีเดียวว่าคดีมีเท่าไรแน่ เป็นความยากแก่เราผู้จะรวมยอด ถึงต้องต่อว่าต่อขานกันไม่รู้จบ ผลที่ได้ก็เพียงให้จำนวนในสารบบหลังกับหน้าตรงกันเท่านั้น ฯ อีกอย่างหนึ่งเราเป็นผู้รับฎีกาที่เรียงพระราชวินิจฉัยแล้ว จากกรมหลวงพิชิตปรีชากร อธิบดีศาลฎีกา ไว้แล้วอ่านถวายในเวลาทรงพระราชธุระในทางนี้ โปรดตามนั้น ทรงลงพระนามาภิไธยข้างท้าย ไม่โปรดทรงแก้ใหม่บอกให้เราเขียน แล้วทรงลงพระนาม คัดสำเนาไว้แล้วส่งต้นถวายกรมหลวงพิชิตไป ฯ

กรมพระนเรศวรฤทธิ์อธิบดีกรมราชหัตถเลขาในครั้งนั้น ทรงจ่ายเสมียนประทานเราสองคน คือพระยาศรีสุนทรโวหาร ครั้งยังเป็นนายกลม ๑ นายเจิมน้องเขา ๑ ยังเป็นเสมียนฝึกหัดทั้งสองคน เขียนหนังสือช้าทั้งตกมากด้วย ตกได้ตั้งบรรทัด เราได้ความหนักใจมาก ควรใช้ต้นสารบบเองก็ต้องใช้ ฯ น่าประหลาดว่าภายหลังพระยาศรีสุนทรโวหารมีความรู้ทางหนังสือเจริญขึ้นโดยลำดับ เขียนได้เร็วไม่ตก ฟังความที่พูดในที่ประชุมแล้วจำไว้ได้แม่น จนได้เป็นเลขานุการในเสนาบดีสภา ยังมีข้อน่าประหลาดอีก เขามีลูกชายคนหนึ่งชื่อนายผัน เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๕๘) เป็นหลวงประเสริฐ เมื่อยังเด็กเขียนหนังสือตกตั้งบรรทัดเหมือนพ่อ เขาเอามาฝากเราบวชเป็นสามเณร เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ในฝ่ายพระแล้ว หัดเขียนหนังสือไปหายตก จนถึงได้เป็นเลขานุการของเรา ในเวลานี้ได้ชื่อว่าเป็นจินตกวี ฯ อันคนมีนิสัยดี ได้รับคำแนะนำเข้าบ้าง อาจขยายออกได้ตามลำพังของตน พระยาศรีสุนทรโวหารเป็นคนปูนเดียวกับเรา ดูเหมือนเขาได้ความรู้ความเข้าใจจากเราไม่เท่าไรนัก แต่เขานับถือเราเป็นฉันอาจารย์ จนเอาลูกมาฝากอีกต่อหนึ่ง ส่วนหลวงประเสริฐเราจักถือว่าเป็นเจ้าบุญนายคุณของเขา แม้ตัวเองก็ต้องยอมรับ ฯ

เราได้เรียนทางอรรถคดีเมื่อครั้งเข้ารับราชการในทางนี้ รู้เพียงฟังคำพยานแล้วสันนิษฐานเอาความจริง และตามยุติธรรมควรจะเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจถึงวางบท เพราะในครั้งนั้นกรมต่างๆพิจารณาแล้วส่งสำนวนให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงชี้ขาด คือชี้ว่าใครผิดใครถูก แล้วจึงเป็นหน้าที่ของขุนหลวงพระไกรศรีราชสุภาบดี เป็นผู้ปรับสัตย์คือวางบทลงโทษผู้ผิดหรือยกฟ้อง ครั้นมาถึงฎีกาทรงตัดสินเองไม่ได้อ้างบท ยืนตามคำชี้ขาดและปรับสัตย์ก็เป็นแล้วไป ทรงแก้ก็ไปตามยุติธรรมเป็นเค้าเงื่อน และการรู้กฎหมายก็ยังไม่เป็นที่น่าปรารถนา เพราะหนังสือกฎหมายเก่าก็อ่านเข้าใจยาก และมีพระราชบัญญัติและประกาศออกซับซ้อนกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ กระจัดกระจายกันอยู่ยากที่จะรวบรวมไว้ได้ ทั้งอาการของผู้ทรงกฎหมายในครั้งนั้น ไม่นำให้เกิดความเลื่อมใส ชั้นใหม่มีแต่กรมหลวงพิชิตปรีชากรพระองค์เดียวไม่พอจะแก้ผู้อื่นเป็นอันมาก ให้เป็นผู้น่าเลื่อมใสไปทั้งนั้น ถ้าเราสนใจก็คงรู้ดีขึ้นกว่านี้อีก ฯ ตำแหน่งเราทำนี้แล ครั้งเมื่อตั้งศาลสถิตยุติธรรม ยกคดีในกรมทั้งหลายมารวมพิจารณาในใต้บัญชาของเจ้ากระทรวงเดียวกันแล้ว ก็ยังคงมีสืบมา เจ้าพนักงานในตำแหน่งนี้ ได้ไปเป็นกรรมการศาลฎีกาก็มี กรรมการศาลฎีกาได้เข้ามารับตำแหน่งนี้ก็มี ในบัดนี้เป็นอธิบดีกรมพระสมุหนิติศาสตร์ ในกระทรวงวังด้วย ฯ




พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์

ครั้งนั้นเริ่มพระราชทานเงินเดือนแก่ผู้ทำราชการประจำวันแล้ว ข้าราชการในกรมราชเลขาได้รับพระราชทานทั่วกัน กรมพระนเรศวรฤทธิ์เป็นอธิบดี กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เข้ามาก่อนเรา เมื่อเราเข้าไปเป็นที่ ๔ ไม่มีเจ้านายอื่นเข้าอีกจนเราออกมาบวช นอกจากนี้ ข้าราชการในกรมอาลักษณ์ชั้นหลวง ชั้นขุน และเสมียน เรารับราชการอยู่ ๒ ขวบเต็ม หาได้รับพระราชทานเงินเดือนไม่ จะเป็นเพราะไม่ได้ทรงนึกถึงหรืออย่างไรหาทราบไม่ เสด็จอธิบดีของเราก็หาได้ทรงขวนขวายไม่ เป็นแต่ได้รับพระราชทานเงินปีขึ้นกว่าเดิมอีก ๕ ชั่ง เป็นปีละ ๓๕ ชั่ง ตามตัวอย่างเจ้านายรับราชการ ท่านผู้ใดรับพระราชทานเงินเดือน ก็ได้รับพระราชทานเงินปีเพิ่มเหมือนกัน เราหาได้กระสับกระสายเพราะเหตุนี้ไม่ เหตุว่าเคยทำราชการมาด้วยความภักดี ยังไม่เคยได้รับพระราชทานเงินเดือน ทำไปด้วยน้ำใจเช่นนั้น มีราชการไม่อยู่เปล่า และทรงสนิทสนมด้วยเป็นพอแล้ว ทั้งในเวลานั้นเราไม่ได้จับจ่ายเลี้ยงตัวเอง ยายยังเป็นธุระอยู่ ไม่รู้จักสิ้นยัง และเหตุต้องการเงินใช้ กล่าวคือสุรุ่ยสุร่ายเราก็งดได้แล้ว เสียแต่มามีราชการในเวลาที่เราเข้าวัดอยู่แล้ว ฯ




พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์

ตั้งแต่เข้ารับราชการแล้ว เราปลงใจว่าจักหาได้บวชเลยไปไม่ ถ้าทำอย่างนั้น ดูเป็นทิ้งราชการ เห็นแก่ประโยชน์ตัวมากเกินไป ในเวลานั้น เสียงพวกสยามหนุ่มค่อนว่าพระสงฆ์ว่า บวชอยู่ไม่ได้ทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่แผ่นดิน ขี้เกียจ กินแล้วก็นอน รับบำรุงของแผ่นดินเสียเปล่า ฝ่ายเราไม่เห็นถึงอย่างนั้น เห็นว่าพระสงฆ์ยังตั้งใจจะทำดีแต่เป็นเฉพาะตัว เพราะไม่มีการอย่างอื่นเช่นตัวเรา เท่านั้นก็จัดว่าเป็นดี จึงไม่อาจปฏิเสธคำที่ว่าไม่ได้ทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่แผ่นดิน ยังไม่มีญาณพอจะเห็นกว้างขวางไปว่า พระสงฆ์ได้ทำประโยชน์แก่แผ่นดินมากเหมือนกัน มีสั่งสอนคนให้ประพฤติดี เอาธุระในการเล่าเรียนของเด็กบุตรหลานราษฎรเป็นอาทิ ข้อสำคัญคือเป็นทางเชื่อมให้สนิทในระหว่างรัฐบาลกับราษฎร ในครั้งก่อน พระสงฆ์ยิ่งเป็นกำลังของแผ่นดินมากกว่าเดี๋ยวนี้ ญาณเช่นนี้ยังไม่ผุด จึงกระดากเพื่อจะละราชการไปบวชเสีย ฯ แต่ยังคงเฝ้าเสด็จพระอุปัชฌายะและเรียนภาษามคธอยู่ตามเดิม ฯ

แต่ชาตาของเราเป็นคนบวชกระมัง วันหนึ่งเผอิญกรมพระเทวะวงศ์วโรปการทรงล้อเราว่า เป็นผู้เข้าวัดต่อหน้าพระที่นั่ง แต่ล้นเกล้าฯ หาได้ทรงพระสำรวลตามไม่ ทรงถือเอาเป็นการ ทรงเกลี้ยกล่อมจะให้เราสมัครบวช เรากราบทูลตามความเห็นเกรงจะเป็นทิ้งราชการ พระราชทานกระแสพระราชดำรัสอธิบายว่า ถ้าเราบวชจักได้ราชการเพียงไร ไม่เป็นอันทิ้ง จนเราหายกระดากใจเพื่อจะบวช ตรัสปลอบอย่าให้เราห่วงถึงยาย เพราะท่ายชราแล้วก็คงตายมื้อหนึ่ง ตรัสขอปฏิญญาของเราว่าจะบวช เราเกรงจะไปไม่ตลอด เพราะยังไม่ไว้ใจของตัวอันเปลี่ยนเร็วเมื่อครั้งยังรุ่นหนุ่ม จึงไม่กล้าถวายปฏิญญา เป็นแต่กราบทูลว่า ถ้าจะสึกจะสึกเมื่อพ้นพรรษาแรก พ้นจากนั้นเป็นอันจะไม่สึก พระราชทานปฏิญญาไว้ว่า บวชได้ ๓ พรรษาแล้ว จักทรงตั้งเป็นต่างกรม ทรงอ้างสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ครั้งเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็นตัวอย่าง ครั้งนั้นเจ้านายพวกเราได้เป็นต่างกรมแล้วเพียง ๔ พระองค์ เป็นชั้นเจ้าพี่ชั้นใหญ่ทั้งนั้น และเราจะมาเป็นที่ ๕ เหลือที่จะเอื้อมคิดไปถึง จึงไม่ได้เอามาเป็นอารมณ์เสียเลย จนวันพระราชดำรัสสั่งให้เตรียมรับกรม ดังจะกล่าวข้างหน้า ฯ




สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

ตั้งแต่ทรงทราบว่าเราเป็นผู้เข้าวัด ดูทรงพระกรุณามากขึ้น และมีราชการในทางวัดเพิ่มขึ้น เมื่อมีพระราชธุระถึงเสด็จพระอุปัชฌายะ รับสั่งใช้เราเชิญพระกระแสรับสั่งมากราบทูลบ้าง เชิญพระราชหัตถเลขามาถวายบ้าง เมื่อคราวจะฉลองวัดนิเวศธรรมประวัติเกาะบางปะอินที่ทรงสร้างใหม่ โปรดเกล้าฯให้เรามีหน้าที่เป็นผู้ดูการจารึกอักษรต่างๆในแผ่นศิลา และติดศิลาจารึกนั้นตามที่ เรียกช่างเขียนหนังสือขอมมาจากกรมราชบัณฑิต ช่างเขียนหนังสือไทยจากกรมพระอาลักษณ์ ช่างแกะจากก
คะแนน
สามารถให้คะแนนได้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น.

โปรดเข้าสู่ระบบก่อนการให้คะแนน.

ยังไม่มีการให้คะแนน.
แสดงผลในเวลา: 0.01 วินาที 141,674,917 ผู้เยี่ยมชม